อะไรคือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือความรู้ของชาวบ้านซึ่งได้มาจากประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาดของชาวบ้าน รวมทั้งความรู้ที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษ สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ระหว่างการสืบทอดมีการปรับ ประยุกต์และเปลี่ยนแปลง จนอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ตามสภาพการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

ภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในวิถีดั้งเดิมนั้น ชีวิตของชาวบ้านไม่ได้แบ่งแยกเป็นส่วนๆ หากแต่ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันการทำมาหากิน การอยู่ร่วมกันในชุมชน การปฏิบัติศาสนา พิธีกรรมและประเพณี (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 19, 2540)

นอกจากนั้น ภูมิปัญญาพื้นบ้านยังกล่าวถึง การเอาทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งอาจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน หรือเป็นลักษณะสากลที่หลายๆ ท้องถิ่นมีคล้ายกันก็ได้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นเกิดจากการที่ชาวบ้านแสวงหาความรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติ ทางสังคมที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและวิถีชีวิตชาวบ้าน (มนตรี โคตรคันทา, 2550)

ภูมิปัญญาชาวบ้านอาจเกิดจากการได้มาขององค์ความรู้ของชนพื้นเมืองจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติใช้ชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากความมากมายและความหลากหลายของระบบนิเวศที่ซับซ้อน และมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของพืชและสัตว์ หรือแม้แต่หน้าที่ต่างๆ ของระบบนิเวศ เทคนิคในการใช้และการจัดการ โดยมีการใช้ประโยชน์ในรูปของ อาหาร ยา เชื้อเพลิง หรือเป็นวัสดุสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ (AlaskaNative Science Commission, มปป.)

ภูมิปัญญาชาวบ้านแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

1.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทำมาหากินวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตเรียบง่ายกว่าทุกวันนี้ อาศัย

2.ภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากสภาวะธรรมชาติธรรมชาติและแรงงานเป็นหลักในการทำมาหากิน และใช้สติปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้เพื่อจะได้อยู่รอด เช่น การขยายที่ทำกิน ต้องหักร้างถางพง บุกเบิก พื้นที่ทำกินใหม่ การปรับพื้นที่ปั้นคันนาเพื่อทำนา การทำไร่ทำนา ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และดูแลรักษาให้เติบโตและได้ผล การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรก็เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาชาบ้านในอดีตเช่นกัน

3.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการรักษาโรคและแก้ปัญหาสุขภาพเช่น การใช้สมุนไพรเป็นยาและอาหาร พืชสมุนไพร หมอพื้นบ้าน และการแพทย์แผนโบราณ

4.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการกินอยู่เช่นการถนอมอาหาร การปรุงอาหาร การกินอาหาร

5.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศิลปกรรมปรากฏในผลงานสร้างสรรค์ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และนาฏกรรม

6.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านภาษาและวรรณกรรมปรากฏในผลงานสร้างสรรค์ด้านภาษาและสำนวนไทย เช่น คำผญา คำสอน ความเชื่อ ปริศนาคำทาย และ บทเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงแหล่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงฉ่อย กลอนลำ เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ

7.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีใช้ในการปรับประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความมั่นคงของชุมชน ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ประเพณีการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ฯลฯ

8.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใช้ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เช่น การสร้างเขื่อน เหมือง ฝาย การควบคุมคุณภาพน้ำ การป้องกัน น้ำท่วม การจัดการป่าไม้ เช่น การปลูกสวนป่า และการอนุรักษ์ป่า

9.ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการอยู่ร่วมกันในสังคมการอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นผู้นำหน้าที่ของผู้นำไม่ใช่ การสั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฎระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ปัญหาในชุมชนก็มีไม่น้อย ปัญหาการทำมาหากิน ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด โจรลักวัวควาย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในชุมชนหรือระหว่างชุมชน การละเมิดกฎหมายประเพณี ส่วนใหญ่จะเป็นการ”ผิดผี“คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิดการผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมีคนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจรขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงานที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือ เอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่นๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการคนมากๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง (คลังปัญญาไทย, 2550)

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดแบ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภทองค์ความรู้ของกลุ่มบุคคลท้องถิ่นเช่น การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การผลิตผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ หิน โลหะ แก้ว เซรามิค ดินเผา เครื่องหนัง และอื่นๆ

2.ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภทงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเช่น เรื่องเล่าพื้นบ้าน กวีนิพนธ์พื้นบ้าน ปริศนาพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน การฟ้อนรำพื้นบ้าน ละครพื้นบ้าน จิตกรรมพื้นบ้าน ประติมากรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องแต่งกายพื้นบ้าน และสิ่งทอพื้นบ้าน(กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2551)

ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีบริบทสำคัญของสังคมเป็นแหล่งเพาะภูมิปัญญาอย่างน้อย 4 ประการคือ

1.ภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากสภาวะธรรมชาติ

ลักษณะทางภูมิประเทศอันหลากหลาย ทั้งทิวเขา สันทราย ที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองผ่านหลายสาย ภูมิอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุกตลอดปี สภาพทางธรณีวิทยาอุดมไปด้วยแร่ธาตุและชั้นหินต่าง ๆ มีเขตแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และตั้งอยู่บนคาบสมุทรอันเป็นเส้นทางทางการค้า

สภาพทางภูมิประเทศอันหลากหลายล้วนก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการเลือกถิ่นฐานบ้านเรือน ว่าจะต้อง“แค่บ่อท่านาวัด”คือ ต้องให้ใกล้กับแหล่งน้ำ สะดวกแก่การสัญจร ใกล้กับแหล่งทำกิน (ทำนา) และใกล้วัดเพื่ออยู่ใกล้ศาสนา อันเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

ความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ก่อให้เกิดภูมิปัญญาและคติทางสถาปัตยกรรม เช่น การปลูกบ้านโดยมีตีนเสา เพื่อรองรับเสาแทนการขุดหลุมฝังเสา เพื่อสะดวกในการโยกย้าย และกันความชื้น มีการวางเสาแบบเอนสอบขึ้นด้านบนเล็กน้อย ช่วยให้ต้านลมได้ดียิ่งขึ้น

จากสภาพความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการตั้งชื่อที่อยู่อาศัยละแวกหรือเขตนั้น ๆ ตามสภาพและทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นหรือลักษณะการทำมาหากินมาเป็นนาม เช่น บ้านโคกเสม็ดชุน, บ้านคูเต่า, บ้านคอหงส์, บ้านควนลัง, บ้านคลองแห เป็นต้น

บางครั้งการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางภูมิศาสตร์ ก็ก่อให้เกิดภูมิปัญญาชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง เช่น ภูมิปัญญาในการถนอมอาหารเพื่อกินและใช้ในช่วงที่ขาดแคลน

2.ภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากภาวะสร้างสรรค์ของบรรพชน

ภูมิปัญญาในการจัดการ การสร้างสรรค์ของคนรุ่นก่อนๆ ย่อมกลายเป็นแหล่งให้ความรู้และประสบการณ์แก่คนรุ่นต่อ ๆ มา จนเกิดแตกก่อ แต่งเติม ตกทอด สืบเนื่องเรื่อยมา เช่น ภูมิปัญญาในการทำอาชีพ บรรพชนที่มีอาชีพช่างเหล็กรู้ว่าการนำถ่านไม้เคี่ยมมาเผาเหล็กจะดีกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ เพราะไม้ชนิดนี้ให้ความร้อนสูง ไม่เกิดดอกไฟ และมีภูมิปัญญาในการเลือกเหล็กและโลหะอื่นมาประสาน เพื่อให้เนื้อโลหะเหนียวและแข็งต่างกัน

ภูมิปัญญาอันเป็นกุศโลบายในการนำคติความเชื่อมาปฏิบัติเพื่อบำรุงขวัญและไม่ให้เกิดความประมาท อันเป็นภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เช่น คติความเชื่อเรื่องแม่ย่านาง เป็นต้น

ภูมิปัญญาสร้างขยายและพิทักษ์ฐานอำนาจแต่รุ่นบรรพชนมาสู่รุ่นลูกหลาน เช่น การผูกเกลอ อันเป็นเครื่องมือเพื่อตกทอดความสามัคคีดุจญาติมิตรมาสู่รุ่นลูกหลาน

  1. ภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาล

คติความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณมีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลก นับตั้งแต่เล็กสุดจนมองไม่เห็นไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เช่น โลกและจักรวาล ทั้งที่เป็นสสารที่เป็นรูปทรงสัณฐานและที่เป็นพลังงาน ล้วนปรุงแต่งขึ้นจากธาตุสี่ คือ ดิน(ปฐวีธาตุ) น้ำ(อาโปธาตุ) ลม(วาโยธาตุ) และไฟ (เตโชธาตุ) เชื่อกันว่าความสมดุลของธาตุสี่ในร่างกาย ช่วยให้แต่ละคนมีพลานามัยสมบูรณ์ แต่ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งก็หมายถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยสภาพภูมิอากาศแปรปรวน มีลมแรง อากาศร้อนจัด และมีความชื้นเย็น จึงก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการจัดการด้านโภชนาการและการป้องกันโรคภัย จึงมักนิยมกินอาหารที่มีรสจัดและพืชผักที่มีธาตุไฟมาก ด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ก็มีภูมิปัญญาในการพิจารณาคุณสมบัติของสมุนไพรที่มีธาตุสี่ เด่น-ชัด และเลือกเพื่อนำมาใช้แก้โรคต่าง ๆ แล้วแต่ว่าโรคใด เนื่องมาจากสาเหตุจากธาตุใดกำเริบ เช่น คนที่ไข้ขึ้นสูงร้อนจัด ก็ต้องใช้ตัวยาที่มีธาตุน้ำผสมภูมิปัญญาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็มาจากความเชื่อจากตำนานการสร้างโลกโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งแฝงเร้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง คือ ถือว่าสรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งคน สัตว์ พืช หรืออากาศธาตุทั้งมวลมีผู้สร้างและผู้คุ้มกันที่มองไม่เห็น สร้างเป็นคติให้ตระหนักถึงคุณค่าธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาที่เป็นกุศโลบายให้เกิดการสงวนทรัพยากรโดยทางอ้อม เช่น เรื่องพระภูมิเจ้าที่ เทพารักษ์ นางไม้ นางธรณี นางมณีเมขลา แม่โพสพ พระพาย เหล่านี้ ล้วนมุ่งให้กตัญญูรู้คุณของแผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ และทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้นแต่แตกต่อเป็นแขนงภูมิปัญญาย่อย ๆ นานาประการ เช่น ห้ามกินข้าวเหลือแล้วเททิ้งเพราะจะขวัญข้าว (ลบหลู่) ห้ามพูดหยาบคายขณะกินข้าวจะขวัญข้าว จะทำให้ข้าว น้ำ น้อยใจ จะทำมาหากินยาก ตกอับ ฝืดเคือง เป็นต้น ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องอบรมสะสม ก่อให้เกิดจริยธรรม ความเชื่อ ประเพณี และคติทางโลกนานัปการ

4.ภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากความศรัทธาทางศาสนา

ศาสนาที่มีผลต่อการบ่มเพาะภูมิปัญญาได้แก่ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ศาสนิกชนศาสนาใดก็มักจะถูกบ่มเพาะด้วยศาสนานั้น ๆ เป็นพิเศษ แต่บางคนอาจถูกบ่มเพาะด้วยลัทธิศาสนาทั้ง 3 ศาสนาผสมผสานกัน เช่น ชาวไทยพุทธอาจมีรอยบ่มเพาะของศาสนาพราหมณ์ปนแทรกอยู่อย่างซับซ้อน

ภูมิปัญญาในการครองตนของทุกศาสนิกชน มักมีหลักให้ละเว้นสิ่งที่ถือว่าเป็นบาปที่คนดีพึงรักษาตัวให้ห่าง และมุ่งบำเพ็ญกุศลเพื่อเป็นเนื้อนาบุญ(พรรษมน พิทักษ์ธรรม, มปป)

*** ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Traditional Knowledge) คือ ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ผ่านรุ่นสู่รุ่น โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับปรุง ไปตามยุคสมัย มีความเป็นเอกลักษณ์ มีประโยชน์ในการดำรงชีวิต ในหลายๆ ด้าน ทั้งการประกอบอาชีพ และเกี่ยวกับปัจจัยจำเป็นในการอยู่รอด (อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย)

ภูมิปัญญามีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งในแง่ของการทำมาหากิน ความบันเทิง ศิลปวัฒนธรรม โดยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของมนุษย์ให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เกิดจากการเรียนรู้ธรรมชาติ พืช สัตว์ สภาพภูมิอากาศความสัมพันธ์ข้างต้นของมนุษย์กับธรรมชาติ ก็คือการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biopersity) โดยอยู่บนพื้นฐานของการเรียนรู้และมีการถ่ายทอด ซึ่งก็คือภูมิปัญญาชาวบ้านนั่นเอง***

 ขอบคุณ แหล่งข้อมูล http://www.scimath.org/

Leave a Reply