ส่อง! ใครเป็นใคร..ในสภาม.สงฆ์

 

คำประกาศของสำนักงานป.ป.ช.ที่ให้พระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเว้นสมเด็จพระสังฆราช ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินส่งผลกระทบจิตใจชาวพุทธและวงการคณะสงฆ์มิใช่น้อย เพราะปรากฎการณ์แบบนี้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมิเคยเกิดขึ้นมาก่อน พระสงฆ์ในฐานะเป็นตัวแทนของ “ความพอเพียง ความสันโดษ” ถูกกลไกรัฐเข้ามาแซกแซงอันเนื่องมาจาก มีการปั่นกระแสก่อนหน้านี้ว่า “พระเถระผู้ใหญ่ไทย รวย ใช้ชีวิตติดหรูมีรถคันงามราคาแพง”  ซึ่งหากเป็นไปตามคำข้อครหาปั่นกระแสแบบนี้ถือว่า “ผิดหลักการแห่งวิถีแห่งสมณะ” โดยแท้

            คำครหาแบบนี้ส่วนหนึ่งเราก็ “ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง” เพราะทราบกันอยู่ว่าพระเถระผู้ใหญ่ของคณะสงฆ์ใหญ่ บางรูปเป็นดังข้อครหาจริงเฉพาะนิตยภัตปีหนึ่งรัฐต้องถวายประมาณ 1 พันล้านบาทขึ้นไป อย่างสมเด็จพระราชาคณะได้รับนิตยภัตเดือนหนึ่ง 27,400 บาท รองสมเด็จพระราชาคณะ 20,500 บาท กรรมการมหาเถรสมาคม 23,900 บาท เจ้าคณะหนใหญ่ 23,900 บาท และสมมติ สมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย เป็นเจ้าคณะหนใหญ่ด้วยเดือนหนึ่งตกเกือบ 100,000 บาท อันนี้ไม่นับรวมเงินที่สาธุชนถวายนำมาถวายอีก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ล้วนอยู่ในสายตา “พุทธบริษัท” หากปล่อยให้ไหลลง “เหวลึก” กว่านี้”   พุทธศาสนาสายเถรวาทที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่ารัฐต้องอุปถัมภ์และส่งเสริม กู่ไม่ขึ้นแน่

สิ่งที่ตามมาหลังคำประกาศ ป.ป.ช.ต้องยื่นทรัพย์สินนี้ นิยามของคำว่า พระผู้ใหญ่ ไม่มั่นใจว่าระดับไหนหรือให้ยื่นเฉพาะกรรมการมหาเถรสมาคมหรือเฉพาะพระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งเท่านั่น และหรือสมมติเงินที่รับมาจากกิจนิมนต์ รับจากผู้มีจิตศรัทธามาถวายวัดหรือถวายส่วนตัว และหรือเงินที่ได้จากกิจการอื่น ๆ จะต้องแยกบัญชีอย่างไรระหว่างเงินวัดกับเงินส่วนตัวของท่าน หรืออนาคตเงินวัดขอให้เป็นไปตามบางฝ่ายต้องการคือ ให้เป็นเรื่องของฆราวาส ที่จะเข้ามาควบคุมดูแล เจ้าอาวาสจะทำอะไรต้องขอหรือต้องเสนอโครงการ และเกิดไม่แจ้งหรือลืมจด จะถูกถอนจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะปกครองหรือไม่ หรือดีไม่ดี เจอข้อหาฟอกเงิน แบบนี้ก็น่าเห็นใจพระคุณเจ้า  ยุ่งตายห่า!! นะโยม

หากฟังจากคำแถลงของประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า พระผู้ใหญ่เว้นสมเด็จพระสังฆราช ต้องยื่นทรัพย์สินก็ เฉพาะพระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่านั่น เหตุผลเพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมาก ชี้เป็นชี้ตายต่อทิศทางมหาวิทยาลัย มีงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องมาก” หากเป็นไปดั่งคำแถลงนี้พระผู้ใหญ่ก็พอสบายฤทัยได้ ไม่ต้องยุ่งยากมากความให้ปวดหัวบนทุกขลาภ

สำนักข่าวอิศราเปิดเผยข้อมูล สำหรับอำนาจหน้าที่ของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. มีอย่างน้อย 3 ประการสำคัญ ได้แก่

1.ด้านงบประมาณ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยมีอำนาจ

1.1 อนุมัติการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงิน การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วนและการลงทุนหรือการร่วมลงทุน

1.2 อนุมัติการตั้งงบประมาณรายรับและรายจ่ายของมหาวิทยาลัย

1.3 การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป กรณีวงเงินเกิน 200 ล้านบาท

1.4 การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีคัดเลือก กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท

1.5 การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท

1.6 การสั่งจ้างงานจ้างที่ปรึกษา กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท

1.7 การสั่งจ้างงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง กรณีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท

2.อำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัย

2.1 พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ

2.2  แต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น

2.3แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น

2.4ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของอธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานต่าง ๆ

2.5 แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งมอบอำนาจให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลดังกล่าวทำการแทนแล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ

3. อำนาจอื่น ๆ ในการจัดการมหาวิทยาลัยตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งของแต่ละมหาวิทยาลัย

3.1 ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และอาจมอบหมายให้ส่วนงานใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศสำหรับส่วนงานนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้

3.2 ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย

3.3 ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

3.4 อนุมัติการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิกส่วนงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการแบ่งหน่วยงานภายในของส่วนงานดังกล่าว

3.5 อนุมัติการรับเข้าสมทบ การจัดการศึกษาร่วม หรือการยกเลิกการสมทบ การยกเลิกการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่น การอนุมัติหลักสูตรการศึกษาและการเปิดสอน รวมทั้งการปรับปรุง การยุบรวม หรือการยกเลิกหลักสูตรการศึกษา

ทั้งหมดคืออำนาจหน้าที่สำคัญที่อยู่ในมือของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ต้องถูกกำหนดอยู่ในประเภท ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 และต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.

“รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้มีข่าว กรรมการมหาวิทยาลัยบางคนเป็นผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัย เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับเหมา มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอาบริษัทของตนเองมาเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยนับสิบสัญญามูลค่านับพันล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีข่าวบริษัทของผู้บริหารบางแห่งเป็นคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยด้วย..”

เรื่องนี้จะต้องจับตาดูว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งจะไขก๊อกเหมือนสภามหาวิทยาลัยอื่น ๆหรือไม่ โปรดจับตาดู!!

สำหรับกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มีรายชื่อดังนี้

 

                                            กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                                                                   จำนวน    20   ท่าน

ลำดับ  รายนามบอร์ด มจร หมายเหตุ
1. พระธรรมปัญญาบดี นายกสภา -วัดมหาธาตุฯ
2. อธิการบดี                  (พระราชปริยัติกวี) กรรมการ -วัดปากน้ำ
3. สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการ – วัดไตรมิตรฯ
4. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการ –  วัดพิชัยญาติฯ
5. พระมหาโพธิวงศาจารย์ กรรมการ –  วัดราชโอรสฯ
6. พระพรหมโมลี กรรมการ –  วัดปากน้ำ
7. พระราชวรเมธี กรรมการ -วัดประยูรฯ
8. พระเทพสิงหวราจารย์ กรรมการ – วัดพระสิงห์ ฯ จ.เชียงใหม่
9. พระสุวรรณเมธาภรณ์ กรรมการ –  วัดสามพระยา
10. พระโสภณพัฒนบัณฑิต กรรมการ –  วัดธาตุ จ.ขอนแก่น
11. พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ กรรมการ – วัดปทุมคงคาฯ
12. ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ กรรมการ
13. รศ.ดร.ไทย  ทิพย์สุวรรณกุล กรรมการ
14. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กรรมการ
15. ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ
16. เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการ
17. ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการ
18. ผอ.สำนักงานงบประมาณ กรรมการ
19. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรรมการ
20. เลขาธิการสภาการศึกษา กรรมการ

 

กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย

   มีจำนวน   17   ท่าน

ลำดับ รายนามบอร์ด มมร. หมายเหตุ
1. สมเด็จพระสังฆราช ฯ นายกสภา
2. พระพรหมมุนี กรรมการ-วัดราชบพิธฯ
3. พระพรหมวิสุทธาจารย์ กรรมการ -วัดเครือวัลย์ ฯ
4. พระธรรมบัณฑิต กรรมการ-วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
5. ศ.ธงทอง จันทรางศุ กรรมการ
6. ดร.สุชาติ  เมืองแก้ว กรรมการ
7. นายสด แดงเอียด กรรมการ
8. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการ
9. อธิการบดี (พระเทพบัณฑิต) กรรมการ-วัดเฉลิมกาญจนา จ.อ่างทอง
10 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ
11. เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการ
12. ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการ
13. ผอ.สำนักงบประมาณ กรรมการ
14. เลขาธิการสภาการศึกษา กรรมการ
15. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรรมการ
16. พระเมธาวินัยรส เลขานุการ -วัดราชประดิษฐ์ฯ
17. พระราชปฎิภาณโกศล ผู้ช่วยเลขานุการ-วัดราชพบิตรฯ

 

หมายเหตุ.. กรรมการท่านใดจะลาออกหรือมหาวิทยาลัยจะสรรหาใหม่ ป.ป.ช.ให้เวลา 60 วัน

ขอบคุณแหล่งภาพ ..เวปไซร์ : มจร- มมร. /ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา

 

Leave a Reply