วัฒนธรรม:ความหมาย วิธีการศึกษา และคุณค่าของการศึกษา

 

ดร.วิฑูรย์ คุ้มหอม

อาจารย์ประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

 

วัฒนธรรมเป็นที่ใช้กันกว้างขวางทั่วไปในในสังคมของเรา แต่แท้จริงแล้วคำนี้มีความหมายอย่างไร มีวิธีการศึกษาอย่างไร และมีผู้รู้กล่าวถึงคุณค่าทั้งในแง่ของความหมายและวิธีการศึกษา นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยว “วัฒนธรรม” มากที่สุด ในทุกมิติของความเป็นมนุษย์ ต้องกล่าวถึงนักมานุษยวิทยา ซึ่งได้มุ่งศึกษาวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตที่พัฒนาเป็นศาสตร์ในยุโรปและอเมริกา สำหรับสังคมไทยนับว่ามีความตื่นตัวและเริ่มต้นศึกษากันเมื่อไม่นานมานี้

ความหมายของวัฒนธรรม

  “วัฒนธรรม” มีผู้ให้ความหมายไว้เป็นหลากหลาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุด ซึ่งความหมายที่นำมาเสนอนี้ เป็นความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุม ดังนี้

เซอร์ เอดเวิร์ด บี. ไทเลอร์ (Sir Edward B. Tylor) เป็นนักมานุษยวิทยาท่านแรกที่ใช้คำว่าวัฒนธรรม ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “วัฒนธรรม คือ ผลรวมของระบบความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ จริยธรรม กฎหมาย ประเพณี ตลอดจนความสามารถและอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นสมาชิกของสังคม”

ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ได้กล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรมว่าแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มที่ให้ความหมายว่าวัฒนธรรมคือรูปแบบของปรากฏการณ์และเหตุการณ์ที่ได้สังเกตเห็น วัฒนธรรมคือบุคลิกภาพ  วัฒนธรรมคือการรับรู้ วัฒนธรรมคือโครงสร้างพื้นฐานทางจิตของมนุษย์ และวัฒนธรรมคือความหมาย..”

เกียร์ซ กล่าวว่า “วัฒนธรรมบ่งชี้รูปแบบของความหมายที่ได้รับสืบต่อกันมาในรูปของสัญลักษณ์ เป็นระบบความคิดที่ได้รับสืบทอดกันมาและแสดงออกในรูปของสัญลักษณ์ซึ่งผู้คนใช้ในการติดต่อสื่อสาร เก็บรักษาไว้ และพัฒนา เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับชีวิตและทัศนะที่มีต่อชีวิต”

เห็นได้ว่า วัฒนธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารกันในสังคมเพื่อให้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต

หนังสือรวบรวมและแปลงานเขียนของเกียร์ซที่ให้ความหมายของวัฒนธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง

เขียนโดย ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์

วิธีการศึกษา

การทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มหรือแต่ละสังคม นักมานุษยวิทยามีวิธีการศึกษาที่ได้พัฒนาขึ้นจนเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ในหลากหลายวงการ คือ การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม  ซึ่งวิธีการนี้คือการลงไปอาศัยอยู่ร่วมกับชาวบ้านหรือคนที่เราต้องการจะศึกษาวัฒนธรรมของเขา โดยผู้ที่ศึกษาจะได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมอย่างแท้จริง เพราะจะได้เห็น ได้ร่วมทำกิจกรรม จนทำให้เข้าใจการเกี่ยวข้องกันของชีวิต จิตใจ และความใฝ่ผันของผู้คนที่มีวามสลับซับซ้อน  อันจะทำให้เข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เกิดเป็นวัฒนธรรมนั้นๆ โดยวัฒนธรรมหนึ่งๆจะเกี่ยวข้องโยงใยกับบริบทของสังคมนั้นๆ อย่างแยกไม่ออก วิธีการศึกษานี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “การทำงานภาคสนาม” ซึ่งการศึกษาแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ในการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมจะทำให้ผู้ศึกษาได้สัมภาษณ์พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ อันจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งสิ่งสำคัญผู้ศึกษาต้องได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านหรือกลุ่มคนนั้นๆ เป็นอย่างดีเสียก่อน

งานเขียนที่สะท้อนวิธีการศึกษาและคุณค่าของการศึกษาวัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยาไทย

คุณค่าของการศึกษาวัฒนธรรม

การทำให้ความเข้าใจถึงความหมายของวัฒนธรรม การศึกษาวัฒนธรรม มีคุณค่าที่เป็นประโยชน์ทั้งตัวผู้ศึกษาเองและสังคมส่วนรวม ดังนี้

  ยศ สันตสมบัติ ได้กล่าวว่าการศึกษาวัฒนธรรมมิได้เพื่อให้เข้าใจแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษย์ต่างกลุ่มต่างเผ่าพันธุ์ และเป็นกระจำเงาสะท้อนให้มนุษย์หันมาสำรวจและวิพากษ์วิจารณ์ตนเองจากการศึกษาวิถีชีวิตของผู้อื่น

ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวว่าการศึกษาวัฒนธรรมด้วยการศึกษาภาคสนามทำให้เกิดความเข้าใจและผ่อนปรนในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ลดอัตตา ความมีตัวตน มองคนในลักษณะที่มีทั้งดีและบกพร่องว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งไม่มีใครดีหรือเลวแบบขาวดำในอุดมคติ หากแต่อยู่ในลักษณะประนีประนอมกันแบบเทาๆ เท่านั้น

ท้ายนี้จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์ มีลักษณะเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ บางอย่างสะท้อนออกมาเป็นสิ่งก่อสร้าง งานศิลปะต่างๆ มากมาย ซึ่งการจะเข้าใจวัฒนธรรมให้ลึกซึ้ง เข้าใจถึงความหมายได้การใช้ระยะเวลาศึกษา ให้ความสำคัญกับผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเราเข้าใจวัฒนธรรมไม่ดีอาจทำให้เกิดการผิดพลาดในการจะพัฒนาสังคม หรืออาจทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดรูปผิดร่างจากความหมายเดิมได้ แต่ทั้งนี้ “หัวใจ” ของผู้ศึกษาและ “ใจ” ของเจ้าของวัฒนธรรม หากเป็นหนึ่งเดียวกัน ความหมายที่แท้จริงและคุณค่าที่จะเกิดภายหน้าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

………………………………….

Leave a Reply