ถอดรหัส!หลักธรรมในพระไตรปิฎก ‘บิ๊กตู่’นำมาใช้ปกครองประเทศ

หลังจากวันขึ้นใหม่ 2562 มาเพียงวันเดียว คนไทยได้รับบุญอันประเสริฐจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศไทยที่ได้ระบุว่า “ขณะนี้ก็ใช้หลักธรรมปกครองประเทศ” พร้อมกันนี้ได้พูดถึงพระไตรปิฎกเกี่ยวกับองคุลีมาลยังกลับใจ ถือว่าได้บุญข้อ “ทัศนานุตริยะ” และ “ธัมมัสสวนมัย”

สาเหตุที่พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงหลักธรรมในพระไตรปิฎกเช่นนี้ ก็เนื่องจากบริเวณโถงกลางตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารมูลนิธิครอบครัวพอเพียง จัดนิทรรศการและพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ จึงได้แนะนำให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เยี่ยมชม เฉกเช่นการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกค รั้งจะมีกิจกรรมลักษณะเช่นนี้เสมอ

หลังจากนั้นสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ก็ได้พาดหัวข่าวในลักษณะว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ยึดพระไตรปิฎกในการปกครองประเทศ

จากการพูดของพล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุว่า “ขณะนี้ก็ใช้หลักธรรมปกครองประเทศ” และที่สื่อมวลชนพาดหัวข่าวดังกล่าวนั้น ก็มีประเด็นหรือโจทย์ที่น่าพิจารณาว่า หลักธรรมใดที่พล.อ.ประยุทธ์ได้นำมาใช้ในการปกครองประเทศ และพล.อ.ประยุทธ์ได้ยึดพระไตรปิฎกในการปกครองประเทศจริงหรือไม่

ประเด็นหรือโจทย์ที่น่าพิจารณาว่า หลักธรรมใดที่พล.อ.ประยุทธ์ได้นำมาใช้ในการปกครองประเทศนั้น เพราะหลักธรรรที่นำมากล่าวถึงในครั้งนี้ที่กล่าวถึงตามที่ระบุว่า “ข้าราชการก็ต้องทำงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจะได้กุศล” และการพูดถึงองคุลีมาลนั้น ได้ระบุถึงหลักธรรมคือ ซื่อสัตย์คือสัจจธรรม และสุจริตก็สุจริตธรรม 3 ปนะการคือ คิดดี พูดดี ทำดี ที่พล.อ.ประยุทธ์ได้นำมากล่าวถึงอยู่เสมอ

และหลักธรรมที่เชื่อมโยงกับองคุลีมาลคืออหิงสธรรม คือความไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น เป็นหลักธรรมที่มหาตมะ คานธี อดีตผู้นำประเทศอินเดียใช้อย่างปรากฏชัดและถือว่าเป็นสันติวิธี

หากพิจารณาหลักธรรมที่ยกขึ้นมานั้นถือว่าเป็นหลักธรรมเกี่ยวกับปกครองในพระไตรปิฎกหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเป็นหลักธรรมทางอ้อม ส่วนหลักหลักธรรมเกี่ยวกับปกครองในพระไตรปิฎกที่ชัดเจนนั้นก็คือ ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมเป็นประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมได้แก่

ทาน (ทานํ) คือ การให้
ศีล (สีลํ) คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ
บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม
ความซื่อตรง (อาชฺชวํ) คือ การสุจริตต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กร
ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน
ความเพียร (ตปํ) คือ ความเพียรพยายามในการทำความสุขเพื่อส่วนรวม
ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ การไม่แสดงอาการโกรธ
ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลาง การผลิต การบริโภคที่สมดุลโดยไม่เน้นประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงจนเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและทำลายสิ่งแวดล้อม
ความอดทน (ขนฺติ) คือการรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นไม่หวั่นไหว
ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก

จากทศพิธราชธรรม 10 ประการนั้นศาสตราจารย์ ดร. พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เจ้าคณะภาค 2 และกรรมการมหาเถรสมาคม อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสันติศึกษา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 5 สมัยประธานผู้ก่อตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและประธานผู้ก่อตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกได้สรุปเป็นศาสตร์พระราชาให้เข้าใจง่ายๆ คือ

“ขาดเติมให้เต็ม เต็มให้รู้จักพอ พอให้รู้จักแบ่ง แบ่งต้องเป็นธรรม”

หากเกรงว่า หลักธรรมในพระไตรปิฎกมีอย่างมากมายไม่รู้ว่าจะเอาหลักธรรมในมาใช้ในสถานการณ์อย่างไรเหมือนกับมียาหรือรู้ยาแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอามาใช้รักษาโรคอย่างไรก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าหลักธรรมที่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ครอบคลุมหลักธรรมทั้งมวลคือ “สติ” ที่เป็นธรรมคุ้มครองโลกรักษาโลก หรือความไม่ประมาทที่พระพุทธองค์ยกเป็นปัจฉิมโอวาท เท่านี้สันติสุขก็เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจะเข้ามามีอิทธิพลทุกภาคส่วนของสังคมไทย ยิ่งจำเป็นจริงจำเป็นจะต้องมีสติเข้ามากำกับปัญญาประดิษฐ์เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว มนุษย์จะตกอยู่ในความจริงอย่างแน่นอน

หากพิจารณานโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ นั้นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านวัตถุเทคโนโลยีระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ แต่มีเพียงพรรคแผ่นดินธรรมเท่านั้นที่ให้ความสำคัญโดยชู “ศีลธรรม นำชาติ” โดยจะนำหลัก “สติ” มากำกับ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือกำหนดเป็นจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ และถือเป็นไปตามหลักธรรมที่ซ่อนอยู่ในรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะให้สมาชิกที่ใช้งานได้เห็นธรรม

ดังนั้น ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า “ขณะนี้ก็ใช้หลักธรรมปกครองประเทศ” นั้น เป็นจริงมากน้อยเพียงใด วิญญูชนพิจารณาเอาเองเถิด

Leave a Reply