สันติวิธี…มักเกิดขึ้นหลังจากสงครามจบลงแล้วเสมอ ?

@ ผมเคยดูหนังไทยหลายเรื่อง โดยมากตำรวจจะมาตอนพระเอกกับผู้ร้ายสู้กันจบลงแล้ว แบบว่าดูหนังไทยนี่จำพ๊อตเรื่องได้แทบจะกำกับเองได้ และเรื่องราวของหนังไทยก็จะเป็นไปเสียแบบนี้คือ “ตีกันเสร็จตำรวจก็จะมาภายหลังจากรู้ผลแล้วว่า พระเอกหรือผู้ร้ายตาย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความสงบโดยมากจะเกิดจากความสูญเสียแล้วเท่านั้น

@ บทบาทนักสันติทั้งหลาย ผมก็เห็นเป็นแบบนั้น หลายเหตุการณ์ในบ้านเรา คู่ขัดแย้งสองฝ่ายกำลัง ฮึ่มๆจะชนกันแหล่ไม่แหล่อยู่รอมร่อ ผมไม่เห็นนักสิทธิหรือนักสันติคนไหนออกมา แสดงบทบาท เป็นตัวกลางเชื่อม หรือ ห้ามไม่ให้คนสองฝ่ายยกพวกเข้าห้ำหั่นกันเลย มีแต่ออกแถลงการณ์ เดินสันติภาพ เรียกร้องอยู่ข้างนอกเชิงสัญลักษณ์ ออกทีวีโปรยคำหวาน หยอดวาทกรรมหรูๆ ตีวงนอกอยู่แบบนั้น รอโน่นแหละ รอคนสองฝ่ายตีกันจนตายไปข้าง ทีนี้ก็เป็นทีของบรรดานักสิทธิ นักสันติภาพทั้งหลายดาหน้ากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นคุ้งเป็นแคว…จัดสัมมนาอธิบายบรรยายกันจนฟังแล้วมันเป็นบทซ้ำๆแต่คนพูด พูดได้ค่อนข้างรื่นหู ส่วนคนฟังบางกลุ่มฟังเอามันส์ บางกลุ่มฟังแบบเอียนๆ

คำถามคือ หน้าที่ของคนเหล่านี้คืออะไรกัน คือเป็นคนที่ให้ความรู้พูดหลังความตายหรือบาดเจ็บเท่านั้นหรือ ? หรือเป็นคนที่ออกมาแสดงบทบาทตอนที่เหตุการณ์มันสงบเท่านั้นหรือ ? แต่ตอนที่จะตะลุมบอนกันนี่พวกนี้ทำอะไรได้บ้าง ผมไม่เห็นใครเลยที่ทำหน้าที่เป็นนักสันติแบบอย่างที่เนลสัน เมลเดอล่าทำ คือลงพื้นที่พบคนที่เป็นคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย เจรจาตกลงแล้วจับมือกันยุติสงครามได้ทันท่วงที อันนี้คือ บทบาทที่แท้จริงของนักสันติวิธี แต่บ้านเราผมเห็นแต่นักพูด นักแสดงเสียส่วนมากที่ออกมาทำหน้าที่เป็นนักสันติ คือ ช่วยอะไรได้ไม่มาก ช่วยพูดอย่างเดียวถ่ายรูปสร้างภาพแล้วก็กลับ

@ คำถามแล้วบทบาทที่แท้จริงของนักสันติ คืออะไร ?

ผมว่าบทบาทของนักสันติที่ควรจะเป็นก็คือ เมื่อจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น (๑) ต้องเข้าไปเป็นตัวกลางในการระงับเหตุนั้นก่อน คือ มีเหตุต้องไปถึงสถานที่เกิดเหตุทันที เจรจาได้เจรจา ห้ามได้ห้ามในทุกมิติ เช่น กรณีโรงไฟฟ้า ชาวบ้านประท้วงและกำลังจะปะทะกับจนท.บ้านเมือง เหตุการณ์แบบนี้จะต้องมีนักสันติเข้าไปทำความเข้าใจกับทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้ตีกันจนหัวร้างข้างแตกสูญเสียกันอย่างหนักแล้ว นักสิทธิหรือนักสันติค่อยออกมาพูดพอเป็นน้ำจิ้ม พอสร้างภาพได้ก็พอ (๒)นักสันติต้องมีอิทธิพลต่อคนทั้งสองฝ่ายพอสมควร คือ เป็นคนที่มีบารมีพอที่คู่ขัดแย้งจะรับฟัง ไม่ใช่แบบโนๆเนมๆเข้าไปอาจจะโดนถีบออกมาแบบง่ายๆได้ (๓)นักสันติต้องไม่มีผลประโยชน์หรือเป็นคนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข้อนี้สำคัญว่าคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นนักสันติหรือนักสิทธิ ต้องไม่เป็นคนที่ถือหางข้างใดข้างหนึ่ง ต้องเป็นกลางจริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นที่อยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้หมดเครดิตในการทำหน้าที่ได้ (๔) นักสันติ ต้องมีวิชาการพูด การเจรจาต่อรอง มีอารมณ์ที่นิ่งๆไม่ใช้ความรุนแรงในการเจรจามุ่งหวังประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าสิ่งอื่นใด

เอาแค่ ๔ ข้อนี้ผมว่าก็พอจะเป็นคนที่เข้าถึงความสำเร็จในการเป็นคนที่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้บ้าง ในประเทศเรามีนักสันติอยู่มาก แต่โดยมากเป็นนักพูดมากกว่านักปฏิบัติเป็นเจ้าหลักการ เป็นคนที่มีภาพลักษณ์ดี สร้างภาพเก่ง แต่โดยมากคนพวกนี้ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เวลามีวิกฤตการณ์โดยมากคนพวกนี้จะทำคือ (๑) ออกทีวี หรือ(๒)หลบรอจังหวะ เป็นปกติของคนกลุ่มนี้ที่จะทำ และโดยมากไม่ใช่นักสันติโดยวิถีทางที่เกิดมาเพื่อสร้างสันติ แต่เป็นนักพูดนักเจรจา และนักสร้างภาพเพื่ออนาคตของตนเองมากกว่า ดังนั้นเมื่อเวลาเกิดวิกฤตการณ์เราจึงจะเห็นคนพวกนี้ออกมาพูดๆหมดหน้าที่พูดก็เงียบไป รอเวลาที่มีเหตุการณ์ทีก็จึขยับออกมาพูดอีกครั้ง

@ นักสันติเชิงการเมือง ?

สิ่งที่พบเห็นบรรยากาศของระบบและวิถีทางการเมืองในระดับภูมิภาคบ้านเราโดยมากทุกประเทศจะมีการวางตำแหน่งทางการเมือง โดยจัดเป็นกลุ่มๆไว้ว่ามีกลุ่มนักการเมือง กลุ่มข้าราชการ และมีกลุ่มที่เป็นกลุ่มรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศจะตั้ง “นักสันติ ในชื่องนักสิทธิฯ”ไว้เพื่อให้ประชาชาติเห็นว่าประเทศตนเองมีนักสิทธิฯอยู่เมื่อเกิดเหตุก็ให้คนกลุ่มนี้ออกมาพูด บางทีเป็นการพูดนำตามจังหวะของการเมืองเพื่อให้สถานการณ์มันสงบลง แต่หากไม่สงบก็หมดหน้าที่นักสันติเชิงการเมืองนี้ เป็นหน้าที่ของทหารที่จะลงมาจัดการปัญหานั้นๆเอง นี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งของนักสันติที่แอบอยู่กับการเมืองที่ทุกประเทศก็มี

@ สำหรับบทบาทของการเป็นนักสันติที่แท้จริงนั้น ผมว่าน่าจะเป็นตัวนักการเมืองนั่นแหละที่จะต้องทำหน้าที่นี้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ผมยกตัวอย่างในกัมพูชา ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาที่การเมืองเขากำลังร้อนๆของนักการเมืองสองฝ่ายคือฝ่ายค้านกับรัฐบาลเป็นเหตุให้ผู้สนับสนุนสองฝ่ายเตรียมยกพวกเข้าตะลุมบอนกัน พอฮุนเซน รู้ก็ยกหูหา หน.ฝ่ายค้านเพื่อชี้แจงเหตุและขอให้ฝ่ายค้านไประงับเหตุทางมวลชนตัวเอง ส่วนรัฐบาลก็ไประงับมวลชนของฝ่ายตนในที่สุดเหตุการณ์ร้ายๆก็ไม่เกิด เพราะฮุนเซ็นเองบอกว่าประเทศเราบอบช้ำมามากแล้วอย่าให้มันมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งของนักการเมืองเพียงไม่กี่คนเลย

ผมว่าหากนักการเมืองมีจิตสำนึกและมุ่งประโยชน์สุขให้เกิดกับสังคมจริงๆตัวนักการเมืองควร ลดละเลิกความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาชนะคะคานกัน เลิกมีทิฏฐิทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แล้ว “ยอมลดตัวลงมาคุยกันในบรรยากาศที่เป็นมิตร” เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนร่วมชาติ เลิก”อยากได้เกินจำเป็นและให้มีความเสียสละบ้าง” เช่น อยากแบ่งแยกดินแดนอะไรแบบนี้ ยุคนี้เป็นยุคของการรวมกันเป็นหนึ่งแล้ว ไปด้วยกันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขไม่ดีกว่าหรือ เพราะอย่างที่บอก เราได้บ้าง เสียบ้างก็ได้หากสามารถทำความพึงพอใจให้เกิดกับคนทุกคนได้ เดินไปพร้อมๆกันได้ ความเป็นพหุวัฒนธรรมมันก็จะเกิดการรู้จักปรับนิด ผ่อนปรนหน่อย หยวนๆกันไปในบรรยากาศของพี่ๆน้องๆผมว่ามันไปกันได้นะสังคมบ้านเรานี่ มันคงไม่ต้องถึงกับฆ่าพระฆ่าสงฆ์ให้เดือดร้อนแบบนี้ดอกกระมัง และอีกอย่างความต้องการแบ่งแยกดินแดนนี่มันเป็นความคิดล้าสมัยแล้วล่ะหากเราจะไปสู่ความเป็น AEC คืออยากไปไหนก็ไปได้ใช้เงินสกุลเดียวกัน เคารพความเชื่อของกันและกัน ผมว่าพี่น้องใน AEC ล้วนคิดถูกที่พยายามคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่ถ้าเราคิดจะมาแยกนั่นแยกนี่อยู่แบบนี้เราจะไปถึงไหนกัน อันนี้ขอฝากทุกๆท่านนำไปคิดต่อเผื่อจะได้ประโยชน์กันบ้าง

@ นักสันติหรือนักสิทธิฯในยุคไร้พรมแดน?

ผมว่าอย่าสร้างภาพกันมาก และอย่าเห็นแก่พรรคพวกกันมากต้องมีใจเป็นกลางกันหน่อย มองให้เห็นประโยชน์ของคนหมู่มากอย่าเห็นเฉพาะพรรคพวก คนของกูกูจึงดิ้นรนขวนขวายถ้าไม่ใช่คนของกู กูจะเงียบแบบนี้ไม่ได้หากไม่มีใจเป็นกลางแล้วยากที่จะช่วยคนอื่นได้

การเป็นนักสันติหรือนักสิทธิฯที่ดีจะต้องมีหัวใจเป็นพระโพธิสัตว์ คือมุ่งประโยชน์ผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ของตนเอง และจะต้องจำยอมสละประโยชน์ตนเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับผู้อื่น ถ้าคิดได้ทำได้แบบนี้ ก็ โอเคเลยเมืองไทยเรา ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้จริงๆ

Cr.FB-Naga King

Leave a Reply