สังคมไทยมองการบวชอย่างไร?

“การบวช” เป็นเรื่องของประเพณีที่ต้องเกิดขึ้นในช่วยชีวิตของลูกผู้ชาย นั่นจึงจะถือได้ว่าเป็นชายเต็มตัว ได้นามว่า “ฑิต” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “บัณฑิต” อันหมายถึงผู้ใช้ชีวิตด้วยปัญญา ซึ่งเรื่องการบวชนั้นได้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนได้มีการศึกษาถึงขนาดมีงานวิจัยให้เห็นมาบ้างแล้ว โดยคำว่า “บวช” นั้นถูกใช้จนกลายเป็นการสื่อสารความหมายที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม จนปัจจุบันอาจเป็นแค่แฟชั่นชั่วครั้งคราวที่ถูกหยิบมาใช้มากกว่าจะมองที่ความชัดเจนและการถือปฎิบัติอย่างถูกต้องและจริงจัง

เริ่มต้นนั้นถ้าเรามองการบวชตามความหมายว่า การบวช ตรงกับคำว่า  ปพฺพชา แปลว่า หลีก เว้นจากความชั่ว  ซึ่งเดิมนั้นมุ่งหมายเอาผู้ที่เบื่อหน่ายและต้องการหลีกหนีจากโลก “การเบื่อหน่าย” จึงถือเป็นจุดเบื้องต้นของนักบวช โดยเบื้องต้นของการหลีกออกก็เพียงเพื่อขจัดความวุ่นวาย เพราะเห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบฆราวาสมีบางอย่างที่ตนเองไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ การหลีกออกจึงเป็นเพียงกิริยาที่แสดงออก ไม่ใช่ว่านั่นคือบวชเป็นพระทันทีทันใด ต่อเมื่อเริ่มมีเป้าหมายที่ตนเองต้องการแสวงหาจึงเกิดการบวชขึ้นอย่างจริงจัง  ซึ่งการบวชลักษณะนี้ก็คือการออกบวชตามหลักพระพุทธศาสนาที่มีเป้าหมายให้คนพ้นทุกข์ ปัจจุบันนั้นใช้กับการบวชสามเณร

ขณะที่คำว่า อุปสมบท แปลว่า การเข้าไปร่วมกลุ่ม ซึ่งหมายถึงการบวชเป็นพระภิกษุ เป็นการชักเข้ากลุ่มสงฆ์โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธานท่ามกลางกลุ่มนั้นแต่คำว่า “พระภิกษุ” นั้นเกิดขึ้นในช่วงแรกมุ่งเอาพระอริยบุคคลที่บรรลุธรรมแล้วเป็นหลัก แต่พอพระพุทธศาสนาขยายออกไปมากขึ้นซึ่งเป็นไปตามพุทธประสงค์จึงเกิดการบวชโดยมีหมู่ภิกษุร่วมพิจารณาการบวชเพื่อชักบุคคลที่ต้องการบวชเข้ามาสู่หมู่ (สงฆ์) ฉะนั้น สังคมแบบภิกษุจึงเป็นรูปแบบของการบวชด้วยการยึดตามข้อปฎิบัติที่มีพระอุปัชฌาย์และอาจารย์เป็นผู้คอยตรวจสอบและดูแล ทำให้การบวชแบบอุปสมบทกลายเป็นรูปแบบของผู้ต้องการหลีกหนีทางโลกแล้วเข้ามาอยู่ในทางธรรม แต่ด้วยความที่บุคคลเหล่านี้ยังเป็นแค่ปุถุชนจึงมีการทำผิดบ้างจนเป็นที่มาของการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมและวางกฎระเบียอีกส่วนหนึ่งสำหรับปฎิบัติ เรียกว่า วินัย

การเข้าใจความหมายในลักษณะนี้ทำให้เห็นวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตว่าการบวชแบบอดีตเป็นแนวทางการหลีกออกจากความวุ่นวาย แต่ขณะที่การบวชในยุคต่อมาคือการเข้ามาร่วมกับหมู่สงฆ์ทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ออกบวชต้องการหลีกจากความวุ่นวายจริงๆ และอีกส่วนก็เพื่อรวมเข้ากับกลุ่มพระเพื่อให้ตนเองมีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสงบ ถ้าสังเกตกลุ่มหลังนี้จะพบว่า ความคิดของการบวช ไม่ใช่เบื่อหน่าย แต่ถือว่าเป็นช่องทางให้ตนเองได้อยู่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ถึงขนาดมีคนมองว่า การบวชของภิกษุณีสมัยนั้น ทำให้หญิงออกจากเรือนมาบวชเป็นจำนวนมาก เพราะจะได้หนีความกดขี่ของสังคมฮินดูที่แสดงต่อผู้หญิง เป็นต้น แม้แต่การบวชในสมัยนี้ เช่น เด็กจากต่างจังหวัดมาบวชเพื่อมีโอกาสในการเรียน เป็นต้น และการบวชจะช่วยทำให้โอกาสในสังคมของคนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับนักโทษที่ต้องการบวชเพื่อให้สังคมยอมรับว่าตนเองเปลี่ยนแปลงแล้ว หรือนักการเมืองที่บวชเพื่อให้คนเห็นความบริสุทธิ์ของตนเองมากขึ้น

การบวชจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา และเป็นความหลากหลายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เหมือนดอกไม้ที่หลากหลายพันธุ์แต่หากมาจัดวางอย่างเหมาะสมก็จะดูงดงามขึ้นได้ และการจัดวางอย่างเหมาะสมนั้นคือ “ธรรมและวินัย”  บนฐานคิดที่ฝังรากว่า พระพุทธศาสนาจะพัฒนาคนให้ได้รับโอกาสเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างแท้จริง

แต่ปัจจุบันดูเหมือน การบวชจะถูกมองผ่านการสื่อสารเท่านั้น เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่เราเพียงแค่สื่อสาร ให้คนรับรู้ว่า “เราบวชแล้ว” แม้จะอาศัยเวลาสั้นๆ ไม่ได้ฝึกปฎิบัติหรืออยู่ภายใต้กรอบการประพฤติวัตรปฎิบัติอะไร เพียงได้บวช มีรูปถ่าย บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกเหมือนหนึ่งตนเองได้เป็นคนใหม่ สงบนิ่งมากกว่าที่เคยเป็น เสร็จแล้วก็ลาสิกขา (สึก) ไป ก็เข้าใจว่าตนเองเป็นคนใหม่เรียบร้อยแล้ว  การเชื่อหรือมองแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการบวชคือการชำระบาป เหมือนความเชื่อแบบฮินดูที่เราสามารถล้างบาปได้เมื่อเดินไปแม่น้ำคงคาแล้วลงอาบน้ำแล้วบาปหายไปหมดสิ้น แม้การอาบน้ำคงคานั้นทำให้ร่างกายเราสะอาดได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะล้างบาปให้หายไปได้จริงตามหลักพระพุทธศาสนา

อย่าหลอกตัวเองเลยว่า การที่เรานำผ้ามาห่มหุ้มตนเองแล้วกลายเป็นคนใหม่ได้ แต่อยู่ที่ความจริงใจ จริงจังกับการปฎิบัติตนต่างหาก แม้ไม่ได้บวชแต่ปฎิบัติจริงๆ ดูก่อน อย่าจริงจังกับการสื่อสารกับสังคมจนลืมการสื่อสารกับตัวเองบ้างว่า เราพร้อมหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตจริงๆ

คมลัมน์          ตื่นข่าว

ผู้เขียน           กิตติเมธี

Leave a Reply