เสรีภาพที่มิอาจกักกัน! ระฆังเสรีภาพสู่เทพีเสรีภาพ 

เสรีภาพที่มิอาจกักกัน! ระฆังเสรีภาพสู่เทพีเสรีภาพ : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร รายงาน

“#มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ” (Man is condemned to be free.) นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศสนาม #ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ ได้ย้ำเตือน และกระตุ้นให้มนุษย์ได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของเสรีภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะเลือกใช้หรือไม่ก็ตาม ภายในก้นบึ้งของจิตใจ มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดตามวิถีธรรมชาติ

ตัวอย่างของกลุ่มชนที่ตระหนักรู้คุณค่าและความสำคัญได้อย่างถึงแก่น คือ “ประเทศสหรัฐอเมริกา” เพราะต้องต่อสู้และแลกชีวิต และเลือดเนื้อกับชาวบริเตน หรืออังกฤษ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ จนเป็นที่มาของการตอกย้ำคุณค่าของเสรีภาพในคำประกาศอิสรภาพว่า “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ คือ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข”

ชาวฝรั่งเศสที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของคำนี้ดีไม่ต่างจากชาติอื่นๆ ที่เคยถูกกดขี่และกดทับเสรีภาพมาก่อน จึงเข้าใจความรู้สึกชาวอเมริกัน และสามารถมอบของขวัญที่ตอบโจทย์หัวใจคนอเมริกาทั้งประเทศด้วยสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ในวันฉลองวันชาติอเมริกาครบรอบ 100 ปี นั่นคือ “เทพีเสรีภาพ” หรือ “Statue of Liberty”

คนที่ไม่เคยถูกกดทับและย่ำยีจนขาดอิสรภาพมาก่อน และรวมถึงกลุ่มคนที่ชอบใช้อำนาจเข้าไปกดทับคนอื่น จึงมิอาจรู้ซึ้งถึงคุณค่าของคำว่า “เสรีภาพ” และไม่รู้สึกรู้สาถ้ามีใครสักคนกล่าวอ้างถึงคำว่า “เสรีภาพ” แต่สำหรับคนที่เคยถูกกดทับ และย่ำยีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จะเข้าใจ โหยหา และทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ จะขนลุกขนพอง พร้อมกับเฝ้าทะนุถนอม และรดน้ำพรวนดินให้คำนี้เจริญเติบโตในทุกโอกาส

#ระฆังแตก!!! หรือระฆังเสรีภาพ (Liberty Bell) ที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างๆ อาคารประกาศอิสรภาพ (Independence Hall) จึงเป็นตัวอย่างและเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งชี้ว่า เพราะเหตุใด? เสรีภาพ จึงจำเป็นและสำคัญต่อการหล่อเลี้ยงชีวิตและลมหายใจของมนุษยชาติทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ หรือภาษาใด

จะเห็นว่า หลังจากเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างอังกฤษกับอเมริกาจนนำไปสู่ลงนามสนธิสัญญาให้อเมริกาปกครองตนเองได้ จนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพ ในปี ค.ศ.1776 ในอาคารที่เรียกเรียนขานตามเหตุการณ์จริงว่า “Indepence Hall”

ในเวลาพร้อมๆ กันกับการอ่านคำประกาศอิสรภาพนั่นเอง ทีมงานที่รับผิดชอบพากันกระหน่ำตีระฆังจนแตก เป็นรอยแยกอย่างเห็นได้ชัดเจน จนทำให้ระฆังใบนี้มีชื่อว่า “ระฆังเสรีภาพ” อันเกิดจากพลังแห่งเสรีภาพที่คนอเมริกาเฝ้าโหยหาจนเป็นแรงชนวนระเบิดกระตุ้นเอาความอัดอั้นตันใจจากภายในออกมาสู่การกระหน่ำตีระฆังอย่างสุดกำลังจนแตกในที่สุด

หากต้องการจะรู้ว่า เสรีภาพมีคุณค่ามากเพียงใดต่อกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ ตัวอย่างหนึ่งคือการชี้ให้ไปดู และให้สังเกตระฆังเสรีภาพ ที่ชาวอเมริกาพารื่นเริงบันเทิงใจ และอิ่มเอมเปรมใจอย่างหาประมาณมิได้

นอกจากนี้ ความภาคภูมิใจต่อการได้มาของเสรีภาพ เราจึงได้มีโอกาสเห็นธงชาติผืนแรกของสหรัฐอเมริกา โดยผู้หญิงคนหนึ่งนาม “Betsy Ross” ที่มุมานะบากบั่นเพียรพยายามเย็บปักถักร้อยธงชาติผืนแรกของสหรัฐอเมริกาออกมาด้วยความภาคภูมิใจ นั่นจึงเป็นแหล่งจุดกำหนดของมลรัฐทั้ง 13 เริ่มแรกของการประกาศอิสรภาพในการปกครองตนเอง ก่อนที่จะขยายออกมาเป็น 50 รัฐในยุคปัจจุบัน เพื่อตอบแทนความดีของเธอ ทางการสหรัฐจึงได้รักษาบ้านของเธอ พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้ที่เพนซิวาเนีย

เสรีภาพของหลายๆ คน อาจจะทำหน้าที่ได้เพียงแค่เป็นตัวสะท้อนนามธรรม และอุดมคติ แต่สำหรับบางคนนั้น กลับไม่ยินยอมให้คำนี้เป็นเพียงถ้อยคำหรูๆ และดูดีในห้องสัมมนาวิชาการ หรือบนโต๊ะกาแฟของนักการทูต หากแต่หลายคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้แปลงคำนี้ไปสู่การต่อสู้และเรียกร้อง ดังเช่นที่ชาวอเมริกันได้อุทิศ พลีกายใจ และเลือดเนื้อต่อสู้กับชาวอังกฤษที่บุกเบิกและวางรากฐานอเมริกาแต่เริ่มแรก

มาบัดนี้ เสรีภาพกำลังคุกรุ่น และสยายปีกขึ้นอีกครั้ง ณ ฮ่องกง (Hong Kong) เกาะเล็กๆ ที่เคยตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ และปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของจีน กลุ่มคนร่วมล้านที่ไม่ยินยอมให้ทางการจีนกักขังเสรีภาพในบางประการ จึงได้ออกมาเรียกร้องตามถนนหนทางมากมายดังปรากฏมาร่วมสัปดาห์

ชัดเจนที่สุดว่า ความตายมิอาจหยุดยั้งการใช้เสรีภาพของคนเหล่านี้ ที่ออกมาประท้วงเพื่อแสดงพลังของตัวเอง หากมีผู้ใดพยายามจะกักขังเสรีภาพมิให้ทำหน้าที่ได้ตามครรลองคลองธรรม ดังคำกล่าวของ #โทมัส_เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คนที่ 3 ที่ว่า “#เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฏหมาย #การลุกขึ้นต่อต้านก็เป็นหน้าที่”

Leave a Reply