รูปแบบการจัดค่ายคุณธรรมที่เหมาะสมกับเยาวชนไทย

รูปแบบการจัดค่ายคุณธรรมที่เหมาะสมกับเยาวชนไทย : พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. พระวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี พระวิทยากรต้นแบบสันติภาพ ผู้วิจัยรูปแบบการพัฒนาวิทยากรสันติภาพปริญญาเอก มหาจุฬาฯ รายงาน

กระแสที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันในสื่อออนไลน์ขณะนี้ คือ #การจัดค่ายคุณธรรมสำหรับเยาวชนไทยว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในกระแสส่วนหนึ่งมองว่าการจัดค่ายคุณธรรมเป็นการทำให้เยาวชนได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจในเชิงลบ ด้วยกิจกรรมต่างๆ ตามกระแสที่เป็นข่าวนั้น จากการเรียนรู้ของค่ายคุณธรรม ส่วนตัวแล้วมีประสบการณ์การเป็นพระวิทยากรทำงานค่ายคุณธรรมมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เพราะความชอบความรักในงานการเผยแผ่ธรรมและเกิดแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ในการเป็นพระวิทยากร ซึ่งเวลาผ่านมา ๑๙ ปี เห็นวิวัฒนาการเห็นพัฒนาการของการจัดงานค่ายคุณธรรมมาตามลำดับ มีกระบวนการวิธีการทุกรูปแบบในการจัดค่ายคุณธรรม ซึ่งรูปแบบการจัดค่ายคุณธรรมในช่วงนั้นและรวมถึงในปัจจุบันนี้ จากการสังเคราะห์แล้วเราสามารถแบ่งเป็น ๓ รูปแบบหลักๆ ประกอบด้วย

๑) #รูปแบบค่ายวิปัสสนากรรมฐาน เน้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเน้นความสงบ รักษาศีล ๘ หรือ ศีล ๕ เน้นห่มขาว ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้า เหมาะกับเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มอันมีพฤติกรรมดีแต่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปและเข้าใจในวิถีปฏิบัติแบบเชิงพุทธ เน้นการฟังธรรมบรรยาย เรียนรู้ธรรมะตามฐานเรียนรู้ต่างๆ ศึกษาธรรมะจากธรรมชาติ ศึกษาธรรมะจากปริศนาธรรม ธรรมาธิษฐานและบุคลาธิษฐาน เช่น วัดปัญญานันทาราม มีการจองค่ายคุณธรรมแบบข้ามปี ส่วนตัวเคยไปเรียนรู้ที่นี่สมัยยังเป็นสามเณร ถือว่าเป็นวัดต้นแบบของการจัดค่ายคุณธรรมที่ดีมากๆ ยังรักษาคุณภาพมายาวนาน เน้นการเรียนรู้แบบคิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดีๆ การเข้าถึงพระรัตนตรัย #ถือว่าเป็นค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา เพราะเยาวชนเกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตใจตามแนวทางของภาวนา ๔ คือ พัฒนากาย พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา และมีวัดอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้รูปแบบลักษณะนี้

๒) #รูปแบบค่ายแบบกดดันค่ายยาเสพติด เน้นการลดละเลิกยาเสพติด ในกลุ่มเด็กที่มีการทะเลาะวิวาทมีการติดยาเสพติด มุ่งเน้นการกตัญญูต่อชาติต่อสถาบันการศึกษา ค่ายลักษณะนี้เกิดขึ้นจากในสภาพตอนนั้นมีการระบาดของยาเสพติดอย่างรุนแรงถึงขั้นค้ายาและเสพในกลุ่มเยาวชน และมีการทะเลาะวิวาทของกลุ่มเยาวชนทั้งโรงเรียนทั่วไปและระดับอาชีวศึกษา จึงเกิดค่ายรูปแบบกดดันโดยอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งบวชเป็นพระสงฆ์ในตอนนั้น ปัจจุบันลาสิกขาไปแล้วได้นำรูปแบบนี้มาใช้ รูปแบบนี้ยังมีการนำมาใช้อยู่

โดยส่วนตัวเคยไปศึกษาและติดตามดูงานหลายสถาบัน รูปแบบนี้มองว่าอาจจะสุดโต่งเกินไปและมีความเสี่ยงอันตรายในกิจกรรมที่สร้างขึ้นมา วิทยากรจะต้องมีความเชี่ยวชาญจริงๆ เก่งจริงๆ มีประสบการณ์จริงๆ จะต้องสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอด และใช้หลักจิตวิทยาสูงมาก คุณครู พี่เลี้ยงกับวิทยากรต้องทำงานร่วมกัน เยาวชนที่ผ่านค่ายนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเลิกยาเสพติดไปเลยแต่บางกลุ่มอาจจะกลัวไปเลย เพราะกระบวนการค่อยข้างตื่นเต้น ท้าทาย ต่อรอง รูปแบบนี้อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มทะเลาะวิวาท กลุ่มติดยาค้ายาเสพติด กลุ่มรักในวัยเรียน เป็นต้น ค่ายรูปแบบนี้จึงไม่เหมาะสมกับเยาวชนที่มีพฤติกรรมดีอยู่แล้วเพราะอาจจะทำให้เกิดความกลัวจากการเข้าค่าย ซึ่ง #ค่ายลักษณะนี้มองว่าไม่ใช่ค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา แต่เป็นค่ายยาเสพติดค่ายสำนึกรักสถาบันการศึกษา แต่บุคคลบางกลุ่มพยายามเหมารวมว่าเป็นค่ายคุณธรรมเพราะเห็นวิทยากรเป็นพระสงฆ์ผู้นำค่าย ค่ายคุณธรรมจะต้องให้เยาวชนเกิดศรัทธาในคำสอนพระพุทธศาสนา กล้าที่จะทำความดีมิใช่กลัวคำสอนทางพระพุทธศาสนา

๓) #รูปแบบค่ายแบบพุทธบูรณาพัฒนาทักษะชีวิต เหมาะสำหรับเยาวชนในยุคดิจิทัล เน้นการประยุกต์คำสอนทางพระพุทธศาสนานำไปใช้ในชีวิตและการเรียนให้เกิดความสำเร็จ เป็นการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิต เน้นการนำธรรมะไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน เน้นความสนุก สาระ สงบ สำนึก สร้างสรรค์ ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มุ่งเน้นทางสายกลางสร้างความศรัทธาให้เกิดในคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติ มีการบูรณาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในการแก้ปัญหา เช่น กิจกรรมความอ่อนน้อม กิจกรรมทางเสื่อมวัยรุ่น กิจกรรมกตัญญู กิจกรรมเป้าหมายชีวิต กิจกรรมทักษะชีวิต มีการผสมผสานการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม รูปแบบนี้โรงเรียนส่วนมากจะชอบสามารถตอบโจทย์ เพราะมุ่งทางสายกลางไม่เครียดไม่กดดันแต่มีความเพลิดเพลินรู้ตื่นและเบิกบานในการเรียนรู้ เช่น ค่ายใต้ร่มพุทธธรรมวัดสระเกศ ค่ายคุณธรรมธรรมะอารมณ์ดีวัดยานนาวา ค่ายคุณธรรมการเรียนรู้ในพุทธมณฑลนครปฐม เป็นต้น เป็นการปรับศาสตร์เข้าหาพระพุทธศาสนา โดยนำคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้งแล้วนำศาสตร์สมัยใหม่มาสนับสนุน จึงเป็นการเรียนรู้ผ่านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และลงมือปฏิบัติ ถือว่าเป็นค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนาด้วยการใช้สติและสมาธิเป็นฐาน จึงใช้คำว่า #พุทธบูรณาการผ่านการเรียนรู้ เป็นการบูรณาการธรรมะเข้าสู่วิถีชีวิต ทำให้เยาวชนมองว่าธรรมะไม่ใช่ของน่าเบื่อแต่มองว่าธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตและการเรียนเพื่อไปสู่เป้าหมายนำไปสู่ความฝันของชีวิต วิทยากรจะต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายๆ

จึงไม่ควรโทษใครว่าผิด แต่จงกลับมาทบทวนให้ดีว่า #รูปแบบการจัดค่ายคุณธรรมแบบใดจะเหมาะสมกับสถาบันการศึกษาและเยาวชนไทย โดยส่วนตัวมองว่า #ทุกรูปแบบของค่ายมีดีแต่จะใช้กับกลุ่มเป้าหมายใดเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า #วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย รูปแบบค่ายกดดันคงไม่เหมาะกับเด็กทั่วไป จึงต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย หรือรูปแบบค่ายวิปัสสนากรรมฐานอาจจะไม่เหมาะกับเด็กกลุ่มเสี่ยงก็ได้ จึงต้องหาความจำเป็นในการเข้าค่ายคุณธรรม ภาษาฝึกอบรมเรียกว่า TN ค้นหาความจำเป็นในการฝึกอบรมหรือการเข้าค่ายคุณธรรม ผู้บริหาร ครูวิทยากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องเลือกรูปแบบค่ายให้เหมาะสมกับเยาวชน ซึ่งความจริงแล้วค่ายคุณธรรมเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เป็นการฝึกทักษะชีวิต เช่น ฝึกทักษะการฟัง ฝึกทักษะทางสังคม ฝึกทักษะการอยู่ร่วมกัน ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันผู้อื่น ฝึกทักษะการใช้ชีวิต และฝึกทักษะการใช้สติ ขันติ โดยมีฐานของพระพุทธศาสนาเป็นกรอบใหญ่ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ครูผู้ประสานงาน และพระวิทยากรจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าจะใช้รูปแบบการจัดค่ายลักษณะใดให้ตอบโจทย์เพื่อแก้ปัญหาเยาวชนในสถาบันและเป็นการส่งเสริมด้านคุณธรรม มิใช่ปล่อยให้พระวิทยากรเป็นผู้ออกแบบอยู่ฝ่ายเดียว ผู้บริหาร ครู บุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกัน ความจริงค่ายคุณธรรมเป็นการสังเคราะห์ธรรมะออกมาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ในระยะเวลา ๒ คืน ๓ คืน เยาวชนควรจะเรียนรู้อะไร ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการเรียนเพื่อเดินไปถึงเป้าหมายของชีวิต #ค่ายคุณธรรมต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเป็นคนดีของสังคม

ช่วงหนึ่งเคยเป็นผู้ประสานงานค่ายคุณธรรมของฝ่ายบริการฝึกอบรม มหาจุฬา ซึ่งได้รับความเมตตาความไว้วางใจจากครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตรจากรุ่นพี่ โดยมี พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต เป็นชักชวนเข้าสู่วงการเป็นวิทยากร ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะ #พระวิทยากรฝึกอบรมด้านจิตอาสา ซึ่งแต่ละเดือนมีค่ายคุณธรรมที่ติดต่อมาเพื่อไปฝึกอบรมมากที่สุด ๙๐ ค่ายคุณธรรมต่อเดือน อย่างน้อย ๓๐ ค่ายต่อเดือน ส่วนมากเป็นค่ายคุณธรรมออกนอกพื้นที่ไปต่างจังหวัดทั่วประเทศ และมีพื้นที่ประจำ คือ ค่ายพุทธมณฑล ค่ายวัดไร่ขิง ค่ายอารยาภิวัฒน์ เป็นต้น มีพระวิทยากรในสังกัดของฝ่ายฝึกอบรมที่ผ่านการพัฒนาซึ่งมีคุณภาพมากกกว่า ๑๐๐ รูปในช่วงนั้น มีพระวิทยากรที่เป็นหัวหน้าทีมถึง ๑๒ ทีมงาน ซึ่งได้รับความเมตตาจาก พระศรีธรรมภาณี ดร. ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมในขณะนั้น และพระมหาวิชาญ สุวิชาโน ซึ่งเป็นหัวหน้าวิทยากรในช่วงนั้น แต่สิ่งที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลาในฐานะผู้ประสานงานค่ายคุณธรรมในตอนนั้น คือ การพัฒนาพระวิทยากรให้มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ มีประสิทธิภาพ และมีสุขภาพ จึงมีการฝึกอบรมพระวิทยากรอย่างต่อเนื่องให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยในช่วงนั้นใช้รูปแบบค่ายวิปัสสนากรรมฐานและค่ายแบบพุทธบูรณาพัฒนาทักษะชีวิต เพราะมองว่าเป็นทางสายกลางที่สุดในการจัดค่ายคุณธรรมซึ่งเป็นมีคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นฐานของการเรียนรู้

ล่าสุดได้มีผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของหลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬา นำไปสู่การปฏิบัติและพัฒนาอย่างแท้จริง ชื่องานวิจัยเรื่อง #รูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพโดยพุทธสันติวิธี วิจัยโดยอาตมาเป็นเจ้าของงานวิจัยเชิงพัฒนา R and D เป็นการพัฒนาเครือข่ายวิทยากรต้นแบบสันติภาพในการออกไปทำงานโดยเน้นตัววิทยากรจะต้องเป็นบุคคลแห่งสันติภาพ มีความสงบเย็นมีขันติธรรมต่อความแตกต่าง ใช้ความนุ่มนวลมากกว่าความรุนแรง ซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน ๑๒๐ รูป/คน แบ่งการฝึกอบรมจำนวน ๓ รุ่น มีการสร้างเครือข่ายวิทยากรสันติภาพโดยยึดหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่ง #เน้นคุณสมบัติของวิทยากรจะต้องเป็นผู้มีสันติภาพสื่อสารสันติภาพกิจกรรมสันติภาพผู้เรียนเกิดสันติภาพ งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานวิจัยรับใช้สังคม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ห้องสมุดของมหาจุฬาและหลักสูตรสันติศึกษา วิทยากรควรอ่านวิจัยชิ้นนี้เพื่อเป็นแนวทางการทำงานให้เกิดสันติภาพ ถือว่าเป็นทางรอดของพระวิทยากรในยุคปัจจุบัน

เพราะในปัจจุบันเรามีค่ายคุณธรรมหลายหลากสำนัก มีทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีพระวิทยากรรุ่นใหม่รุ่นเก่าที่มีความรักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกมาทำงานขับเคลื่อนคำสอนของพระพุทธศาสนาให้กับเยาวชนเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม งานวิทยากรจึงเป็นงานที่เสียสละและรักการเผยแผ่จริงๆ แต่เราขาดความเป็นเอกภาพในรูปแบบการจัดค่ายคุณธรรมที่มีความเป็นมาตรฐาน ซึ่งสภาพคือต่างคนต่างทำต่างคนต่างจัดในรูปแบบของตนเองที่ถนัดและคิดว่าดีที่สุด ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ในปัจจุบัน

#วิธีการแก้ปัญหาระยะยาว คือ จะต้องมีหน่วยงานองค์กรที่ชัดเจนในการพัฒนาวิทยากรจัดค่ายคุณธรรมทั้งประเทศ เช่น จัดตั้งสมาคมพระวิทยากรหรือสถาบันการพัฒนาวิทยากรค่ายคุณธรรม เป็นองค์กรสำหรับการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากร ดูแลมาตรฐานการจัดค่ายคุณธรรมพร้อมกำกับให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีการร่วมมือกับ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ว่าทีมวิทยากรใดผ่านการพัฒนาแล้วให้ขึ้นทะเบียนไว้ในสังกัด สพฐ. โรงเรียนจะจัดค่ายคุณธรรมสามารถตรวจสอบได้ว่าทีมวิทยากรที่นิมนต์ผ่านการพัฒนามาแล้ว มีการใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กเยาวชน ถ้าต่างคนต่างทำปัญหาจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป จึงมีความหวังว่าจะมีใครลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจัง เช่น มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นต้น

ดังนั้น การสื่อสารธรรมในค่ายคุณธรรมที่เหมาะสมในสังคมไทย จะต้องใช้กรอบของทฤษฏีตะวันตกเป็นการสื่อสารของเบอร์โล ประกอบด้วย S คือ ผู้ส่งสาร หมายถึง พระวิทยากรจะต้องเป็นผู้สงบเย็นมีสันติภายใน สื่อสารออกไปเพื่อให้เกิดสันติสุข M คือ ข้อมูล หมายถึง สารที่ส่งออกไปจะต้องเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนาตามแนวทางพระไตรปิฎก เป็นข้อมูลที่จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา C คือ ช่องทาง หมายถึง กิจกรรมมีความเหมาะสมกับช่วงวัยมีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การเรียนรู้ค่ายคุณธรรมจะต้องรู้เรียนผ่านกิจกรรม ให้เยาวชนมีส่วนร่วมให้การเรียนรู้ กิจกรรมต้องมีความง่ายอย่าสร้างกิจกรรมที่ยากหรือซับซ้อนรุนแรง กิจกรรมต้องนำไปสู่การตระหนักรู้ R คือ ผู้รับสาร หมายถึง เยาวชนมีความพึงพอใจ เกิดความสุขจากการเรียนรู้ในค่ายคุณธรรม มีศรัทธา ด้วยการสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม การประเมินผลจากครูและเยาวชนผู้เข้าอบรม

Cr.ภาพประกอบบางส่วนจาก https://www.sanook.com/

Leave a Reply