สมเด็จพระวันรัตลงพื้นที่เยี่ยมหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบอำเภอแม่ริม

สมเด็จพระวันรัตลงพื้นที่เยี่ยมหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบอำเภอแม่ริม พระวิจัยพบมีดี 5 ด้าน 3 มิติ งดเหล้า ยาเสพติดลด สุดยอดส่งเสริมประชาชนยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง
เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในฐานะประธานคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อปต.) พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ส่วนกลาง และคณะกรรมการโครงการฯหนเหนือ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ที่วัดกุมภประดิษฐ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

สมเด็จพระวันรัต กล่าวให้โอวาทว่า อปต. และโครงการหมู่บ้านศีล 5 เป็นโครงการที่ดี และมีเป้าหมายในการทำงานเหมือนกัน คือ นำหลักพระพุทธศาสนามาให้ประชาชนได้ทราบ และนำไปปฏิบัติ เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ตนเองและชุมชน และขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้สึกด้วยว่า การทำให้โครงการประสบความสำเร็จคือตรงไหน ไม่ใช่เพียงแต่อยู่ในกระดาษ ความรู้ที่นำไปบอกประชาชน ผลรูปธรรมคือมีการนำไปปฏิบัติ ดังนั้นจะทำอย่างไรจะให้ประชาชนนำความรู้จากทั้งสองโครงการไปปฏิบัติให้เกิดผล คือ คุณความดี

สมเด็จพระวันรัต กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานโครงการไม่ใช่ทำเป็นธรรมเนียม ประเพณี เราต้องคิด จะเอาแค่พิธีกับปริมาณเท่านั้น หรือจะเอาคุณภาพ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงด้วย เพราะหากทำให้เกิดผลเชิงคุณภาพ โครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก และที่สำคัญจะเกิดประโยชน์ต่อพุทธศาสนาด้วย ซึ่งการทำให้เกิดผล เราต้องทำให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเท่าที่สามารถปฏิบัติได้และต้องทำให้เห็นผลด้วยว่าเมื่อทำแล้วจะได้อะไร ต้องชี้ให้เห็นว่าเมื่อรักษาศีล 5 แล้วจะได้อะไร

พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการฯ ส่วนกลาง กล่าวว่า อปต.เป็นโครงการที่เริ่มต้นโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และอดีตกรรมการมส. เมื่อปี2518 เพื่อให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในด้านต่าง ๆ 8 ด้าน คือ ศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ สันติสุข ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์ กตัญญูกตเวทิตาธรรม และสามัคคีธรรม ซึ่งคณะสงฆ์ดำเนินการโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาประมาณปี 2557 ประเทศไทยต้องตกอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทำให้ประเทศต้องการความสมานฉันท์ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมส. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จึงริเริ่มโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเป็นการต่อยอดมาจากอปต. เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ และเพื่อให้ทั้งสองโครงการเกิดความยั่งยืน ทางคณะสงฆ์จึงเห็นว่าควรจะนำทั้งสองโครงการมาบูรณาการร่วมกัน โดยบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ด้วย

ขณะเดียวกันพระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ,รศ.ดร., รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี (วัดไร่ขิง จ.นครปฐม) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า อาตมาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 แต่เห็นข่าวจากเว็ปไซต์หนึ่งกล่าวถึงโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในเชิงตำหนิ ซึ่งอาตมาคิดว่า ผู้ขับเคลื่อนโครงการเขาพร้อมรับคำติและคำชมทุกฝ่ายอยู่แล้ว จึงอาสาเข้ามาทำงานขับเคลื่อนโครงการ

อาตมาได้เข้าไปสัมผัสโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในฐานะนักวิจัยที่รับทุนจาก สกว. ไปทำวิจัยเรื่องนี้ ก่อนวิจัยก็คิดคล้ายๆ หลายคนที่มองโครงการนี้แบบ Bird Eye View มองว่าโครงการทำไมไปเน้นสำรวจเชิงปริมาณว่ามีชาวพุทธนับถือศีล 5 เท่าใด จะเป็นประโยชน์ทำให้คนปฏิบัติตามศีล 5 ได้อย่างไร แต่เมื่อได้ลงไปคลุกคลีในพื้นที่วิจัย กลับพบว่า ก่อนและหลังการมีโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป (แม้จะเป็นพื้นที่เดียวที่เป็นเลือกเป็นพื้นที่วิจัย)

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างจากเสี้ยวเล็กๆที่ผมพบและนำเสนอในงานวิจัย 1. เพื่อจะสมาทานศีลข้อที่ 1 ชาวบ้านคนนึงที่เคยขายปืนยิงนกที่มากินพืชผลทางการเกษตร กลับเปลี่ยนอาชีพถอดไกปืนที่ฆ่านกแล้วทำเป็นสินค้า OTOP 2. ศีลข้อที่ 3 ทำให้ข้อมูลวัยรุ่นท้องแบบไม่พร้อมมีสถิติเป็นศูนย์ จากที่เคยมีสถิติไม่น้อยกว่า 5 คนต่อปี ข้อมูลจาก รพสต. 3. เพื่อสมาทานศีลข้อที่ 5 ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพค้าขายทำ MOU กับวัดและ อบต.จะไม่ขายเหล้าในวันโกนกับวันพระ

เหล่านี้คือผลพวงจากการมีโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 อาตมาจึงคิดว่า ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่การที่คณะกรรมการศีล 5 โดยการนำของพระเดชพระคุณพระพรหมเสนาบดี และพระเดชพระคุณพระเทพศาสนาภิบาล รวมทั้งคณะ ได้เสียสละความสุขในอาวาสที่สัปปายะของตนเองออกเดินทางไปทุกทิศทั่วประเทศทุกจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ตามนโยบายของพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก ไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน ได้ผลิดอกออกผลเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนดำรงตนอยู่ในศีล 5 อย่างมากมาย ดังกรณีที่ผมนำเสนอไปแล้ว

สำหรับในงานวิจัยของอาตมาพบว่า ความสำเร็จของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 มี 3 มิติที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่แท้จริงของโครงการกล่าวคือ มิติที่ 1 ความสำเร็จในเชิงเป้าหมาย โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนในบางชุมชนอย่างเห็นได้ชัดในการก่อให้เกิดการทำงานเชิงเครือข่าย ก่อเกิดพลังความสามัคคี เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกันขององค์กรภายในชุมชน กิจกรรมภายใต้ศีล 5 แต่ละข้อก็ยังส่งผลให้เกิดชุมชนเล็กๆที่ซ้อนอยู่ในชุมชนใหญ่ภายใต้กิจกรรมร่วมกัน เช่น การสวดมนต์เย็น การเข้าวัดวันอาทิตย์ กลุ่มผู้สูงอายุรักษาศีล 5 ลงไปถึงครอบครัวศีล 5 โรงเรียนศีล 5 เหล่านี้เป็นการจุดปะทุแรงระเบิดให้เกิดคลื่นพลังความสมานฉันท์เป็นโครงข่ายใยแมลงมุมภายในชุมชน

มิติที่ 2 ความสำเร็จในเชิงกระบวนการ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 มีกระบวนการบริหารโครงการ แม้จะมีลักษณะจากบนลงล่าง แต่ก็ปรากฏความชัดเจนในการก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการบริหารโครงการ กระบวนการบริหารโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายพระสงฆ์ได้เกิดการเรียนรู้ในหลักการบริหารโครงการและไม่เพียงได้เรียนรู้เท่านั้น ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานไปพร้อมๆกับการดำเนินการโครงการ ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่เฉื่อยเนือย ขาดการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ถูกกลไกของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้บีบคั้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการบริหาร เกิดการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองไปพร้อมๆกับการก่อเกิดผลผลิตจากโครงการ โครงการจึงไม่ใช่ได้เพียงการบรรลุผลผลิตของโครงการเท่านั้น แต่ยังได้ผลลัพธ์ที่เป็นมูลค่าเพิ่มจากโครงการคือการทำให้เกิดพระสงฆ์นักบริหารโครงการพันธุ์ใหม่ขึ้นมาด้วย

มิติที่ 3 ความสำเร็จในเชิงอุดมการณ์ โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ก่อให้เกิดพลังความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมในการสร้างความหมายของความเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ปลุกจิตสำนึกของประชาชนด้วยการใช้ธรรมะในพระพุทธศาสนา แนะนำให้ประชาชนใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง และส่งเสริมให้หมู่บ้านดำเนินการปกครองตนเอง ด้วยระบอบธรรมาภิบาล โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ส่งผลให้ประชาชนบางชุมชนเริ่มค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชน นำไปสู่การระดมสรรพกำลังมุ่งหมายยกระดับชุมชนตนเองให้โดดเด่นแตกต่างไปจากชุมชนอื่นๆ

พระมหาบุญเลิศ กล่าวด้วยว่า ในงานวิจัยอาตมาได้เสนอการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ให้เกิดความยั่งยืนไว้หลายประเด็น แต่ที่ผมคิดว่าควรมีได้แล้ว คือ ตั้งเป็นกองงาน คล้ายๆกองธรรมสนามหลวง และอีกอย่างคือควรสร้างทายาทการขับเคลื่อนศีล 5 อาตมาคิดว่าพระเณรมีความรู้ความสามารถว่างงานอยู่มาก คณะสงฆ์ไม่ควรปล่อยให้พระเณรที่มีวุฒินักธรรมเอกว่างงาน มอบบทบาทให้ทุกรูปได้ทำงานให้หมด พระเณรสามแสนกว่ารูปช่วยกันทำงานช่วยศาสนา ช่วยสังคม ผมเชื่อว่าสังคมจะน่าอยู่กว่านี้มาก

Cr.https://www.thairnews.com

Leave a Reply