‘ครุศาสตร์ มจร’เร่งปรับหลักสูตร สอนพุทธยุคดิจิทัลป้องดิสรัปชั่น

วันที่ 18 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสิริอักษณ์ ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร.หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนวและผู้อำนวยการหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มจร เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการพัฒนาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา (ปริญญาโททางการศึกษาหรือวิชาชีพครู) โดยมีพระมหาสมบูรณ์ สุธมฺโม,รศ.ดร., พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล, ผศ.ดร.พระครูพิมลธรรมภาณ, พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร.วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี วิทยากรต้นแบบสันติภาพ, ดร.ดร.พิธพิบูรณ์ กาญจนพิพิธ, ผศ.ดร.พรทิพย์ วรรณวิโรจน์ และอาจารย์สายหยุด มีฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฯ เข้าร่วมประชุม

พระปราโมทย์ ได้เสนอมุมมองว่า หลักสูตรต่างๆ ถ้าไม่ปรับตัวให้เหมาะกับยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของดิจิทัลก็จะถูกดิสรัปชั่น (Disruption) ซึ่งจะมีหลักสูตรอื่นเข้ามาแทนที่ ดังนั้น หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เนื่องจากเนื้อหาคำสอนของพระพุทธศาสนามีความดีความงามความจริงอยู่แล้ว แต่ต้องปรับวิธีการนำเสนอให้เหมาะสมตามทฤษฎีการสื่อสาร S-M-C-R

จากการเสวนาล่าสุดมีการพูดถึงเพจเด็กอยากทำกิจกรรม ซึ่งมีการตั้งคำถามว่า สิ่งใดที่โรงเรียนจัดให้แล้วแต่เด็กไม่อยากได้ คำตอบคือ วิชาพระพุทธศาสนาหรือวิชาศีลธรรม ซึ่งเป็นคำตอบที่ต้องกลับมาทบทวนว่า เพราะเหตุใดวิชาพระพุทธศาสนาหรือวิชาศีลธรรมจึงเป็นคำตอบของเด็กนักเรียนที่ไม่อยากเรียน จึงเป็นที่มาว่า ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มจร จึงต้องกลับมาทบทวนประเด็นทางสังคมว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร วิธีการแก้ไขควรจะเป็นอย่างไร เรียกว่า ถ้าปรับคือรอดถ้าเงียบคือร่วง

จึงเสนอมุมมองต่อที่ประชุมว่า ควรมีการโฟกัสกรุ๊ปครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้คำว่า จัดหลักสูตรการสอนพระพุทธศาสนาอย่างไรให้โดนใจคนยุคดิจิทัล โดยการระดมมุมมองจากผู้มีความเชี่ยวชาญเชิงทฤษฏีและเชิงการปฏิบัติในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านพระไตรปิฏก ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านจิตวิทยา ด้านการโค้ช ด้านวิทยากรฝึกอบรม ด้านการออกแบบกิจกรรม ด้านพุทธสันติวิธี ด้าน FA-AL(facilitator-Active Learning) และด้านพระพุทธศาสนา เป็นต้น รวมถึงนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา พระธรรมทูต พระสอนศีลธรรม พระวิทยากรฝึกอบรม พระธรรมวิทยากร วิทยากรกระบวนการ ผู้แทน สพฐ. กระทรวงศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา ผู้ปกครอง นักเรียน เพื่อมาช่วยสะท้อนมุมมองในการมองว่าการสอนพระพุทธศาสนาอย่างไรให้โดนใจคนยุคดิจิทัล จะต้องฟังบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บุคคลที่จะได้รับผลกระทบจากการสอนวิชาพระพุทธศาสนา และมีความเชี่ยวชาญ โดยล่าสุดนั้น สพฐ.ได้มีการปฏิรูปการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนซึ่งมีการตอบโจทย์มาก ภายใต้คำว่า การเรียนการสอนที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน ในโรงเรียนของ สพฐ. ทั่วประเทศ

การปรับหลักสูตรในระดับปริญญาโทจะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์บุคคลทุกช่วงวัย สอดรับกับกระทรวงใหม่ โดยคำสำคัญในยุคปัจจุบันในหลักสูตรระยะสั้น มีคำว่า ดิจิทัล นวัตกรรม การโค้ช ดิสรัปชั่น กระบวนการ Fa การสอนแบบ AL การออกแบบกิจกรรม พุทธบูรณาการ ศตวรรษที่ 21 เจเนอเรชั่น ถือว่าเป็นค่ายคุณธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนา พุทธสันติวิธี สติสมาธิเป็นฐาน

คำถามคืออะไรเป็น Nanodegree วิชาพระพุทธศาสนา วิชาพระพุทธศาสนาจะถูกดิสรัปชั่น หรือไม่ถ้าไม่ปรับตัว ทำให้นึกถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับความรู้พบว่า ความรู้มีอายุเพียง 2-7 ปี เท่านั้นเอง แสดงว่า ความรู้ที่เราเรียนมามีวันหมดอายุ แปลว่าสิ่งที่เราเรียนมาเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว ความรู้ของเราเก่าแล้ว เราจึงต้องอัพเกรดความรู้ของตนเอง จึงมีการตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะปัจจุบันเทรนด์ที่มาแรงมากเราเรียกว่า Nanodegree หมายถึงการเรียนเพียงแค่สิ่งที่เราต้องใช้ในการทำงานหรือจำเป็นต่อชีวิต ต่อไปจึงไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปีเหมือนในปัจจุบัน เพราะเป็นการเรียนที่เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยเราใช้ความรู้เพียงแค่นิดเดียวจากที่เราเรียนมา จึงเกิดคำว่า Nanodegree ขึ้นมาด้วยการเรียนเฉพาะสิ่งที่จะใช้งานและมีความจำเป็นต่อชีวิตเท่า เพราะเป็นความรู้ที่มีความสดใหม่อยู่เสมอ เช่น

ความรู้ด้านของปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) ความรู้ที่สามารถประกอบอาชีพให้ดีขึ้น ทำให้เราต้องตระหนักว่า การเรียนรู้จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้ทักษะมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบันก่อนจะพูดถึง ReSkill จึงจำเป็นต้องพูดถึง UpSkill ก่อนเพราะ UpSkill เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับทักษะเดิมของเราที่มีอยู่ ส่วน ReSkillเป็นการเปลี่ยนทักษะใหม่ สาเหตุทำไม ReSkill จึงมีความสำคัญในยุคปัจจุบันเพราะเกิดคำว่า Disruption ขึ้นมา โดยดิสรัปชั่นจะทำต่างๆ ไม่แน่นอน ซึ่งแปลว่า ทุกอาชีพมีความเสี่ยง ทุกชีวิตมีความเสี่ยง การที่เราอยู่กับทักษะเดิมๆ จะทำให้เรามีความเสี่ยงมาก เราจึงต้อง ReSkillตามเทรนที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตาม Disruption ที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ แต่เราจะมีแค่ ReSkill อย่างเดียวไม่ได้ จึงจะต้องเพิ่มคุณค่าในเชิงลึกของทักษะเข้าไปด้วย

วิธีในการเลือกเรียนในยุคที่คอร์สออนไลน์เกิดขึ้นจำนวนมาก เราจะต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าเราจะเรียนรู้อะไร เอาไปใช้ทำอะไร ผู้สอนเป็นใคร มีผลงานจริงหรือไม่ เป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญน่าเชื่อถือ ในยุคปัจจุบันจึงต้องเรียนรู้ 3 ทักษะคือ ทักษะทางเทคโนโลยี สามารถทำให้เราทำงานในยุคปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงทักษะทางด้าน Creativity จะทำให้เราเอาชนะระบบ สามารถคิดในสิ่งที่คนอื่นและหุ่นยนต์คิดไม่ได้ และทักษะทางด้าน Soft-Skill เป็นทักษะที่เพิ่มมูลค่าให้กับตัวเรามากที่สุด เพราะทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนอื่น สร้างคุณค่าให้กับทีม คุณค่าภายในจิตใจ จึงถึงเวลาที่เราจะต้องเรียนรู้ เพราะความรู้เพิ่มรวดเร็วมาก ถ้าเราไม่ปรับตัวเราจะถูก Disruption อย่างแน่นอน

ตั้งคำถามอะไรเป็น Nanodegree ในสาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ควรมีการปรับและพัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อตอบโจทย์พระสอนศีลธรรมและครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา เมื่อถึงนึกการสอนวิชาพระพุทธศาสนา นึกถึงครุศาสตร์ มหาจุฬา ถือว่าเป็นจุดแข็งจุดเด่นที่ควรได้รับการพัฒนาต่อไป ถามว่าในปัจจุบันนี้ “ถ้านึกถึงการสอนพระพุทธศาสนาเรานึกถึงใครสถาบันใดองค์กรใด

พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น การสอนพระพุทธศาสนาจะถูก Disruption ถ้าไม่ปรับตัวในตอนนี้และไม่ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กยุคดิจิทัล จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรในฐานะศิษย์เก่าครุศาสตร์และกัลยาณมิตรท่านหัวหน้าภาคจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว

พระปลัดสรวิชญ์ สรุปผลจากการประชุมว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักการพัฒนาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนาว่า ต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 ประกอบด้วย มาตรฐาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผลลัพธ์ผู้เรียน ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ด้านการบริการวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย และด้านการบริหารจัดการ การออกแบบหลักสูตรต้องให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2558 หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา นี้จะช่วยเติมเต็มมุมมองของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นพลเมืองของประเทศและพลโลกที่มีคุณภาพ เป็นการเตรียมความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Readiness) ในการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีสมรรถนะ (Competency)

สอดรับกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 -2564) และเป็นไปตามนโยบายและทิศทางของกรอบแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งหลักสูตรนี้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถรอบรู้ทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาและวิชาชีพครู การเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาได้อย่างมีคุณภาพ มีความรอบรู้เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร รู้และเข้าใจเกี่ยวกับ ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับความเป็นครู สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาเพื่อพัฒนาหรือเอื้อต่อการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการวัดและประเมินผลการเรียนรู โดยเฉพาะความรอบรู้เกี่ยวกับระบบและกลไกการประคุณคุณภาพการศึกษาและหลักการทางจิตวิทยา คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณสำหรับครู มีคุณลักษณะตามมาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ได้แก่ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลขการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านทักษะการจัดการเรียนรู้

“จากผลการวิเคราะห์ความต้องการและความจำเป็นของหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา โดยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษาทั่วประเทศและการสอบถาม การระดมความคิดเห็นกับผู้บริหารสถานศึกษา ครูพระสอนศีลธรรม ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และพุทธศาสตร์ พบว่า มีความต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาโทจนกระทั่งถึงปริญญาเอก โดยเฉพาะเป็นหลักสูตรที่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ เนื่องจากว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาทางครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวศาสตร์การสอน

การเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ความรอบรู้เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับความเป็นครู ไม่สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาเพื่อพัฒนาหรือเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความสามารถในการวัดและประเมินผลการเรียนรู โดยเฉพาะขาดความรอบรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับระบบและกลไกการประกันคุณคุณภาพการศึกษาและหลักการทางจิตวิทยา คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณสำหรับครู ที่สำคัญครูส่วนใหญ่ที่สอนอยู่ในสถานศึกษาที่บริหารจัดการโดยคณะสงฆ์ ไม่สามารถขอรับใบประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามตามกฏหมายที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สอนเรื่องการมีใบประกอบวิชาชีพ” พระปลัดสรวิชญ์ กล่าวและว่า

คณะครุศาสตร์ มจร เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และมีความเชื่อว่าการพัฒนาครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ครูพระสอนศีลธรรมทั่วประเทศ ครูสอนในโรงเรียนการกุศลของ ครูสอนในโรงเรียนวิถีพุทธ ครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญทั่วประเทศ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความรอบรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครูและการสอนพระพุทธศาสนาและยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถบูรณาการความรู้และทักษะด้านวิชาชีพครูกับการสอนพระพุทธศาสนาได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้นำในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู และใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาและวิชาชีพครูได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเรียนการสอนและวิชาชีพครูได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นพลเมืองที่เข้มแข้ง มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมีศรัทธาในความเป็นครูและอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา สามารถวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากหลักธรรมในพระไตรปิฏกเป็นฐานในกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้สติและสมาธิเป็นฐานในการพัฒนาการเรียนรู้และให้คำแนะนำแนวทางการเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ว่า จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม หลักสูตรนี้คาดว่าจะสามารถเปิดรับนิสิตได้ในต้นปีการศึกษา 2563

Leave a Reply