เรื่องเล่า..กว่าจะมีวันนี้คณะสงฆ์รามัญกับ “มหาจุฬาฯ” (ตอน1)

       เมื่อวานนี้เป็นวันหนึ่งที่ผู้เขียนมีความสุขและปลื้มใจกับสิ่งที่ตนเองมีส่วนร่วมให้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ประธานคณะสงฆ์มอญหรือรามัญ เดินทางมารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2564 นี้ หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เขียนจึงพยายามทำเรื่อง “ชาติพันธุ์มอญ” มาต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่คณะสงฆ์มอญและรวมทั้งการจัดตั้ง “มูลนิธิรามัญรักษ์”  และมีภาพการสานต่อระหว่างคณะสงฆ์รามัญนิกาย กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อจากนี้ไป มันเป็นเรื่องเล่า แต่จะเล่าเท่าที่จำได้ เพราะบางเหตุการณ์มันนาน ความทรงจำเลือนลางไปบ้างแล้ว  

         ข้าพเจ้าหลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   บวชเป็นสามเณรแล้ว พ่อแม่มีความประสงค์จะให้เรียนภาษามอญ  ในปีพุทธศักราช 2531  จึงถูกส่งตัวกลับไปเรียนภาษามอญ ณ วัดกุ้นหมิบสิบ เป็นหมู่บ้านใกล้ ๆ กับภูมิลำเนาของบรรพบุรุษ  ท่านเจ้าอาวาสเป็นญาติทางฝ่ายแม่ ปีที่ข้าพเจ้าไปอยู่จำพรรษาที่เมืองมอญนั่น เกิดมีการเรียกร้องประชาธิปไตย  ข้าวยากหมากแพง (1888)  ผู้คนไม่มีจะกินต้องไปขุดกลอยในป่ากินแทนข้าว บางบ้านโชคมีข้าวตากแห้งเก็บเอาไว้นำมาต้มเป็นข้าวต้มกินได้  ตอนนั้น นักศึกษาประชาชนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย บ้านเมืองความวุ่นวายทั่วประเทศเมียนมา  หลังออกพรรษาจึงกลับประเทศไทย

       หลังจากกลับประเทศไทยแล้วได้ศึกษาต่อจนจบเปรียญธรรม 7 ประโยค จากวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,ปริญญาตรีคณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (MCU) และจบปริญญาโท สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกริก ชีวิตช่วงที่เรียนหนังสือไม่เคยสัมผัสกับคนมอญและพูดภาษามอญเลย จนพูดมอญได้บ้างไม่ได้บ้าง เพียงแต่ฟังออก หนังสือมอญที่เรียนมาก็ลืมไปจนหมดสิ้น

        มาสัมผัสกับคนมอญและพระสงฆ์มอญอีกครั้งเมื่อปีพุทธศักราช  2545 นั่นก็คือ ช่วงที่ไปดำรงตำแหน่งรักการแทนเจ้าอาวาสวัดใหม่คลองเจ็ด อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และมีพระรูปหนึ่งชื่อ พระมหาบุญมี ธมฺโม (พระอาจารย์ธัมมะ) ปัจจุบันคือเจ้าอาวาสวัดปรกยานนาวา เป็นคนเล่าความเป็นมาของชาติพันธุ์มอญ  สถานการณ์คณะสงฆ์และประชาชนในเมืองมอญให้ฟังประเภทปลูกฝั่งความรักชาติ”  จนเราสองคนร่วมกันตั้ง “ชมรมส่งเสริมพัฒนาการศึกษาพระสงฆ์มอญ”  ปัจจุบันก็คือ มูลนิธิรามัญรักษ์  หลังจากก่อตั้งชมรมส่งเสริมพัฒนาการศึกษาพระสงฆ์มอญแล้ว เป็น ครั้งแรกของคณะสงฆ์มอญเมืองไทยที่ริ่เริ่มเชิญชวนพระภิกษุ – สามเณรมอญ จากประเทศเมียนมา ที่สนใจการศึกษามาเรียนที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พร้อมกับมอบทุนการศึกษาให้ ในขณะเดียวกันเด็กมอญในประเทศไทย ที่ต้องการบวชเรียน ไม่มีทุนการศึกษา ไม่มีที่อยู่ หน้าที่ของข้าพเจ้าในการจัดหาวัดให้อยู่ ซึ่งยุคสมัยนั่นเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะสามเณรมอญ พระภิกษุมอญส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติไทยเหมือนดังปัจจุบัน การที่เจ้าอาวาสหรือวัดใดก็ตาม ให้พระภิกษุสามเณรมอญที่ไม่มีสัญชาติไทย กฎหมายไทยถือว่าให้ที่พักพิงแก่ต่างด้าวมีความผิดทางอาญาต้องติดคุก แต่ด้วยความที่ข้าพเจ้ามีเพื่อนและเจ้าอาวาสหลายรูปที่สนิทสนมกันจึงอ้างว่า “กำลังดำเนินเรื่องขอสัญชาติอยู่” ท่านเหล่านี้ก็เมตตาไม่ถามต่อ ทำนองเดียวกันที่ไปเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บางรูป “กำลังขอสัญชาติ” หลักฐานไม่เรียบร้อย ก็ได้สหายธรรมบางรูปอาศัยเป็นใบเบิกทางเข้าไปเรียนได้

ครั้งแรก : คณะสงฆ์รามัญนิกายเยือนมหาวิทยาสงฆ์ไทยทั้ง 2 นิกาย

          ในปีพุทธศักราช 2557 หลังจากพระครูวิมลชยธรรม (อาจารย์วิชาญ ชยธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดปรกยานนาวา กรุงเทพ ฯ มรณภาพและมีการทำบุญหลังมรณภาพ 100 วัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ข้าพเจ้าได้รู้จักกับผู้บริหารคณะสงฆ์รามัญนิกาย จากประเทศเมียนมา โดยการแนะนำของพระอาจารย์บรรเจิด สุริยโชโต (พระอาจารย์สุริยะ) เจ้าอาวาสวัดสระบัวทอง จ.สุพรรณบุรี กับพระมหาบุญมี ธมฺโมหรือ พระอาจารย์ธัมมะ เจ้าอาวาสวัดสุธรรมวดีในขณะนั้น และเนื่องจากเราทั้งสามปรึกษาหารือกันอยู่เสมอ ๆ เรื่อง แนวทางการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์รามัญนิกาย ประเทศเมียนมา เพราะเชื่อว่า หากจะให้คณะสงฆ์มอญพัฒนามีความรู้ ความเจริญก้าวหน้าและมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เรื่องการพัฒนาคน เรื่องการศึกษาแบบโลกสมัยใหม่เป็นเรื่องสำคัญ เท่าที่ทราบคณะสงฆ์รามัญนิกายศึกษาอยู่ 2 รูปแบบ คือ แบบปริยัติธรรมแผนกบาลีที่ดำเนินการสอนและสอบเองเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  และกำลังสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่พระนักเทศน์ชื่อ Ven.Silacara (ตะละกุ้นแหมะ)  เป็นคนดำเนินการก่อสร้างและจะทำการเปิดสอนรูปแบบเหมือนกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั่วไป ซึ่งต่อมาทราบว่าท่านได้มอบมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ให้กับคณะสงฆ์รามัญนิกายเป็นผู้บริหาร ลักษณะเหมือนกับประเทศไทยคือ ทั้ง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับของ มหาเถรสมาคม

           ข้าพเจ้าในฐานะศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและมีเพื่อนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายด้วย สามารถประสานงานให้ได้ จึงปรึกษากับพระอาจารย์สุริยะกับพระอาจาย์ธัมมะว่า การเดินทางมาประเทศไทยของพระมหาเถระระดับผู้บริหารคณะสงฆ์รามัญนิกายแบบนี้หาได้ยาก หากเราจะนิมนต์ผู้บริหารคณะสงฆ์รามัญนิกายไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยทั้ง 2 แห่ง ทั้ง 2 นิกาย พร้อมพบกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย คณะสงฆ์รามัญนิกายยินดีไปหรือไม่ เมื่อทราบจากพระอาจารย์สุริยะว่า ท่านมีความยินดี ข้าพเจ้าจึงประสานไปที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งแบบฉุกเฉิน เมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งตอบรับ คณะสงฆ์รามัญนิกายจึงได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกิจการพระศาสนา ด้านการศึกษาซึ่งกันและกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองนิกายของคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์รามัญนิกาย ประเทศเมียนมา อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์

      สำหรับหัวข้อปรึกษาหารือกับ  พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  คณะสงฆ์รามัญนิกายมีความประสงค์ต้องการขอความร่วมมือจาก  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2 เรื่องด้วยกัน คือ 1.

      1. ต้องการให้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพระภิกษุสามเณรของคณะสงฆ์รามัญนิกายที่ผ่านการสอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมอญ สามารถมาเรียนต่อที่มหาจุฬาฯได้เลย โดยผ่านการรับรองของคณะสงฆ์รามัญนิกา

    2. ต้องการให้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมพัฒนา มหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ (R.B.U.) ของคณะสงฆ์รามัญนิกาย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สมบูรณ์แบบ

     หลังจากพูดคุย พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ  ตอบรับปากแต่มีเงื่อนไขขอให้คณะสงฆ์รามัญนิกายทำหนังสือมาอย่างเป็นทางการเมื่อให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ลงนามอนุมัติแล้วเข้าสู่ขบวนการตามขั้นตอนต่อไป

      ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปีพุทธศักราช 2557  หลังจากนี้ไปเกิดอะไรขึ้น ตอนหน้ามาเล่าต่อ…

*********************

Leave a Reply