ยกนิ้วพระพุทธเจ้าน้อยนักยุทธศาสตร์จิ๋ว วิสัยทัศน์ชัดแจ้ง แปลงแผนสู่การปฏิบัติจึงมีประสิทธิผล

ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ม.สงฆ์ มจร ยกนิ้วพระพุทธเจ้าน้อยนักยุทธศาสตร์จิ๋ว วิสัยทัศน์ชัดแจ้ง แปลงแผนสู่การปฏิบัติจึงมีประสิทธิผล

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยระหว่างนำนิสิตปริญญาโทและเอก หลักสูตรสันติศึกษา ทัศนศึกษาแดนแห่งพุทธภูมิ ประเทศอินเดียเนปาล ถึงสวนลุมพินีประเทศเนปาลว่า “#เราจะผู้เลิศที่สุดของโลก #เราจะเป็นผู้เจริญที่สุดของโลก #เราจะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก” ประโยคดังกล่าวนี้ ถือเป็นการประกาศวิสัยทัศน์ของสิทธัตถะโพธิสัตว์ในช่วงนาทีแรกของการประสูติออกจากครรภ์พระมารดา อันเป็นการปักหมุดจุดมุ่งหมายที่จะไปให้ถึง หรือบรรลุความสำเร็จ

#Thomas_Bata นักยุทธศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า “วิสัยทัศน์ที่ปราศจากการลงมือทำเป็นเพียงแค่ความฝัน การลงมือทำโดยปราศจากวิสัยทัศน์เป็นเเค่การกระทำให้ผ่านไปเพียงเท่านั้น แต่วิสัยทัศน์ที่มาพร้อมกับการลงมือทำสามารถเปลี่ยนโลกได้”

หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ การจัดวางวิสัยทัศน์ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะน้อย เป็นการวางกรอบ และกำหนดทิศที่มีความ #คม #ชัด #ลึก มาก วิสัยทัศน์ที่ดีคือการบอกได้ว่าตัวเองกำลังจะไปไหน? หลังจากนั้น จึงเป็นการจัดวางกลยุทธ์โดยการตอบคำถามว่า ทำอย่างไร? จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้

จุดเด่นของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะจึงไม่ใช่แค่คิดยุทธศาสตร์ แล้วประกาศวิสัยทัศน์ เพื่อที่จะได้ตอบคนอื่นว่ามีวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์การทำงาน หากแต่เป็นนักปฏิบัติการ หรือเป็นผู้ที่เก่งในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ

มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเน้นสอนคนที่จะเป็นอาจารย์ว่า “จงถามคำถามที่ถูก เพื่อจะได้รับคำตอบที่ถูก” หรือภาษาอังกฤษว่า “Good Quesion Good Answer” เมื่อพระโพธิสัตว์สิทธัตถะวางวิสัยทัศน์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การตอบโจทย์ดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่สามารถหวังผลในการปฏิบัติ

หลังจากประกาศวิสัยทัศน์แล้ว พระโพธิสัตว์สิทธัตถะกลับมิได้หยุดนิ่ง ที่เรียกว่า #แผนแล้วนิ่ง หรือประกาศทิ้ง หากหนีบแผนไว้กับตัว แล้วเพียรพยายามแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ตัวอย่างหนึ่งในยามวัยเยาว์ ขณะที่มีพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทรงปลีกพระองค์ออกไปบำเพ็ญภาวนาใต้ต้นหว้าจนสามารถบรรลุปฐมฌานในขณะมีพระชนมายุได้เพียง 7 ปี

จะเห็นว่า เมื่อพระองค์วางแผนและกำหนดวิสัยทัศน์แล้ว พระองค์ไม่เคยทิ้งแผนที่ได้ออกแบบไว้ แม้พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดา เพียรพยายามจะวางกับดักเอาไว้ ทั้งปราสาทสามฤดู ตำแหน่งจักรพรรดิ์ รวมถึงกามคุณต่างๆ แต่ก็มิอาจทำให้ปล่อยวางสายตาไปจากวิสัยทัศน์ที่ได้วางเอาไว้แต่แรกเริ่ม

เมื่อถึงจุดหนึ่ง จุดที่จะทำให้การบรรลุวิสัยทัศน์ทรงพลังมากยิ่งขึ้น จึงทำให้พระองค์ต้องตอบตัวเองว่า สุดท้ายแล้ว พระองค์เกิดมาเพื่อที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ของพระราชบิดา หรือเลือกที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ของตัวเอง เพราะวิสัยทัศน์ที่วางไว้แต่แรกชัดแจ้งมาก คำตอบที่ได้ คือ การทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยออกจากพระราชวังเพื่อตอบวิสัยทัศน์ที่ตัวเองได้วางเอาไว้

เมื่อเสด็จออกจากพระราชวัง พระองค์จึงต้องปรับแผน หรือ Rolling Plan ครั้งใหม่ เพราะตัวแปรและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว หลังจากที่ใช้เครื่องมือภายใต้วิถีแบบฆราวาสตามแนวทางกามสุขัลลิกานุโยคเพื่อเข้าถึงความสุข วิสัยทัศน์ยังคงเดิม แต่แผนกลยุทธ์ต้องปรับใหม่ พระองค์เลือกใช้เครื่องมือแบบใหม่โดยการบำเพ็ญทุกรกิริยาตามแนวอัตตกิลมถานุโยค

ท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่ได้ปรับและวางเป็นแนวปฏิบัติ พระองค์ก็ตัดสินใจปรับแผนอีกรอบ แม้ว่าการปรับครั้งนี้ จะทำให้พระองค์เสียแนวร่วม จนทำให้ปัญจวัคคีย์ซึ่งเป็นทีมสนับสนุนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพระองค์จนตัดสินใจทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในที่สุด

จะเห็นว่า พระองค์ไม่ดื้อดึงที่จะบุ่มบ่ามเดินหน้าต่อไป ทั้งๆ ที่ส่วนลึกในใจตัวเองทราบว่า การเดินทางตามแผนกลยุทธ์เดิมรังแต่จะเข้าป่าเข้าดง และไม่สามารถตอบวิสัยทัศน์ตั้งแต่เริ่มแรก ฉะนั้น เมื่อแผนนั้นไม่เหมาะสมกับเหตุปัจจัยและสถานการณ์ จึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์อีกรอบ

#โทมัส_เอดิสัน กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ล้มเหลว ข้าพเจ้าค้นพบ 10,000 วิธี ที่มันไม่ได้ผล” การเดินตามแผนขอพระโพธิสัตว์สิทธัตถะก็เช่นกัน การใช้เครื่องมือทั้งกามสุขัลลิกานุโยค และบำเพ็ญทุกรกิริยาตามแนวอัตตกิลมถานุโยค แม้จะเป็นมิจฉาวิธี และพบกับความล้มเหลว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พระองค์มองว่าทั้งหมดที่ทำมานั้นล้มเหลว

พระองค์จึงเริ่มปรับแผนอีกรอบ การปรับแผนครั้งนี้ เป็นการปรับแผนโดยการ SWOT คือการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการที่เคยใช้มาทั้งหมด จนในที่สุดจึงทำให้พระองค์ได้กำหนดตัวชี้วัดเฉพาะ (Specific Indicators) ซึ่งสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

#มัชฌิมาปฏิปทา อันได้แก่ “มรรค 8” จึงเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้พระองค์ได้ออกแบบมาใช้เป็นเครื่องมือในการใช้เป็นแนวปฏิบัติจนนำไปสู่การดับสาเหตุของทุกข์อันได้แก่ตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

เมื่อสาเหตุแห่งทุกข์ดับ ตัวทุกข์ก็ถูกดับไปด้วย และเมื่อทุกข์ดับลง ความสุขอันเป็นผลจากการดับลงแห่งราคะ โทสะ และโมหะ ที่พระองค์เรียกว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” จึงบังเกิดตามมาในที่สุด

พระโพธิสัตว์สิทธัตถะต้องใช้ระยะเวลา 35 ปี ในชาติสุดท้ายนี้ จึงบรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้ประกาศเอาไว้ว่า “เราจะเป็นผู้เลิศของโลก เราจะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก และเราจะเป็นผู้เจริญที่สุดของโลก ชาตินี้ จะเป็นชาติสุดท้ายของเรา”

วิสัยทัศน์ดังกล่าวทำให้บรรลุถึงการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้อธิษฐานตนในขณะที่ทอดร่างกายให้พระพุทธเจ้าทีปังกรและเหล่าสาวก 500 รูปได้เดินเหยียบข้ามคลองน้ำเล็กๆ เมื่อที่เป็นสุเมธดาบส

จะเห็นว่า Vision, Action, Mission และ Passion จะต้องทำงานประกอบร่างไปในทิศทางเดียวกัน วิสัยทัศน์ดี แม้จะตั้งใจทำดีเพียงใด หากขาดกลยุทธ์ที่ดี และขาดความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะนำพาเจ้าของไปบรรลุ Vision ได้

ด้วยเหตุนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่ดีจึงต้องมีทั้งวิสัยทัศน์เป็นตัวนำทาง การแปลงแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติและการทุ่มเทกายใจทำงาน ดังที่มหาตมะ คานธีได้กล่าวไว้ว่า “ใช้ชีวิตราวกับว่าคุณจะตายพรุ่งนี้ เรียนรู้ราวกับว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”

Leave a Reply