ศูนย์พิทักษ์ฯออกโรงร่วมยกร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมศาสนาพุทธ”

        เมื่อวานนี้  (13 ธ.ค. 62 ) พระธรรมกิตติเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธ) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้เปิดการประชุมพร้อมให้ข้อคิดในการประชุมคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. …. และคณะทำงานพิจารณาศึกษาการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาศีลธรรมและจริยธรรม โดยมี พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ สภาผู้แทนราษฎร และ พระครูปลัดกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร หัวหน้าสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

        ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนฯ เป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ณ ห้องประชุมอาคาร 90 ปี พระราชภัทราจาร วัดราชาธิวาสวิหาร (คณะบน)

       การยกร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ..เป็นความพยายามของคณะสงฆ์และศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนามาอันยาวนาน มาคราวร่างไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้วตีตกไป บางคราวถึงสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็มีเหตุจำเป็นต้องยุบสภาหรือไม่ก็ “ปล่อยค้าง” เอาไว้

       ความพยายามของพระสงฆ์และชาวพุทธที่มีส่วนสำคัญในการยกร่างส่วนใหญ่ให้เหตุผลต่อความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า “โดยที่ศาสนาพุทธเป็นสถาบันหลักในสามสถาบันของราชอาณาจักรไทย คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้ใช้หลักธรรมในการสร้างศีลธรรมปัญญาและความเข้มแข็งของคนในชาติ อันเป็นหลักในการค้ำจุนมาตลอด สมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมมือร่วมใจกันในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงดำรงอยู่สืบไป รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

     ความพยายามของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยและคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ในคราวนี้จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์หรือไม่ หรือจะทะลุทะลวงจนประสบความสำเร็จดังความต้องการของคณะสงฆ์และชาวพุทธหรือไม่ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด..

*************

Leave a Reply