คณะสงฆ์ประชุมบอร์ดใหญ่นัดแรก..หลังพ.ร.บ.การศึกษาผ่านสภา

            วันนี้ (17 ธ.ค.62) เมื่อเวลา 13.00 น.  ณ วัดบวรนิเวศวิหาร คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้ประชุมนัดแรกหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ประชุมได้กำหนดนโยบายการศึกษาพระปริยัติธรรมเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562

           พระเทพเวที เจ้าคณะะภาค 6 ในฐานะพระเทพเวที เจ้าคณะะภาค 6 ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนร่วมในพ.ร.บ.นี้ตั้งแต่ต้น กล่าวว่า   “สาระสำคัญที่ประชุมได้กำหนดนโยบาย 2 เรื่องใหญ่ ๆ  คือ  หนึ่ง การเร่งรัดเพื่อออกอนุบัญัติหรือกฎหมายลูก เพื่อขับเคลื่อนกฎหมายที่ผ่านสภามาเรียบร้อยแล้ว  สอง การขับเคลื่อนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ ซึ่งต่อจากนี้ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องทำ

           หนึ่ง การจัดทำแผนการศึกษาพระปริยัติธรรม

           สอง การจัดทำมาตรฐานสถานศึกษาพระปริยัติธรรม

           สาม การจัดทำแผนงบประมาณพระปริยัติธรรม และ

           สี่ การเร่งรัดเพื่อออกอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกแบบเร่งด่วน 7 ฉบับ

          ซึ่งกรอบการทำงานทั้งหมดตั้งเป้าไว้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมและพร้อมประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563..” พระเทพเวทีกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

            ทั้งนี้พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2562  โดยมีทั้งหมดจำนวน 31 มาตรา มีสาระสำคัญ อาทิ

มาตรา 5 การศึกษาพระปริยัติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการทางพระพุทธศาสนาให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับโบราณราชประเพณีและมาตรฐานการจัดการศึกษาของชาติ

            เพื่อการสืบทอดความรู้ทางพระพุทธศาสนา สร้างบุคลากร ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ของคนในชาติให้มีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต

มาตรา 6 การศึกษาพระปริยัติธรรมมีสามแผนก ดังต่อไปนี้

         (1) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวง เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคภาษาบาลี

         (2) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคภาษาไทย

         (3) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งแผนกบาลีสนามหลวงและแผนกธรรมสนามหลวง ควบคู่กับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

         (1) ประธานกรรมการรูปหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

         (2) รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

         (3) กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสิบเอ็ดรูปหรือคน ได้แก่ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

         (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกรูปหรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการ กองพุทธศาสนศึกษา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา 22 การศึกษาพระปริยัติธรรมที่ได้จัดให้แก่สามเณรซึ่งเป็นเด็ก ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่หกหรือเทียบเท่า ซึ่งได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคมเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

        (1) แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

        (2) แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

        (3) แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

มาตรา 23 ให้ผู้เรียนที่พ้นการศึกษาภาคบังคับแล้วซึ่งได้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง และแผนกบาลีสนามหลวง มีวิทยฐานะดังต่อไปนี้

       (1) แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

       (2) แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

มาตรา 24 ให้ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.9”

       ในกรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวงชั้นใดที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ให้ผู้นั้นมีวิทยฐานะระดับใด ๆ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมและตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา

มาตรา 28 ให้ผู้มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีตามพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรี ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง

      ให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง หากได้ศึกษาจนสำเร็จในระดับชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.9” ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง

**********************

Leave a Reply