มหาวิทยาลัยมหามกุฎฯแบบอย่าง“มหาวิทยาลัยสงฆ์พื้นที่สีเขียว”

           ช่วงบ่ายของวันหนึ่ง ท่ามกลางอากาศช่วงเดือนเมษายนที่ร้อนอบอ้าว บวกกับมลพิษทางสภาพแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมมีธุระต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อไปพูดคุยกับกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง

         ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไวรัสโควิด -19 กำลังแพร่ระบาด ผมขับรถเข้าไปตรงประตู เจ้าหน้าที่ รปภ.ก็มีการวัดอุณภูมิและฉีดน้ำยาล้างมือ พอพ้นประตูเข้าไป ความอบอ้าวที่เกิดจากพยับแดดบวกกับความรู้สึกร้อน เหมือนหายไปเป็นปลิดแท้ เมื่อเจอกับบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มองไปสองข้างทางเขียวชอุ่มไปด้วยต้นปาล์มและต้นไม้นานาชนิด ถนนสะอาดสะอ้าน พื้นที่รอบข้างตึกมหาวิทยาลัยไม่ปล่อยให้ว่างเว้นนำต้นไม้นานาชนิดมาปลูก เพื่อให้ความร่มรื่น ดูแล้วสบายตาสำหรับผู้ที่ต้องการธรรมชาติ

      ผมอดไม่ได้ที่จะต้องจอดรถเดินดูรอบบริเวณ พร้อมกับเก็บภาพบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยมาแบ่งกันชม

      ผมเคยเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่มีความรู้สึกว่า อยากเดินเที่ยวชมบรรยากาศลิ้มรสความร่มรื่นของแมกไม้ที่ปลูกไว้รอบอาคารต่าง ๆ  ยามใจมีลมโชยกระทบใบหน้าและร่างกาย ความหอมก็ไอดินและดอกไม้ยืนต้น ช่างน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก

     มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2436 เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร และทรงพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย

    สำหรับเหตุผลที่ทำให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯ นั้น ปรากฏในรายงานประจำปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย พระองค์ได้ทรงวางวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ คือ

        1.  เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย

        2. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยา ซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร

        3.  เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา

       ในปี พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยในขณะนั้น ทรงประกาศจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาขึ้นในรูปมหาวิทยาลัย ประทานชื่อว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดทำการเรียนการสอนสำหรับพระภิกษุสามเณรในระดับปริญญาตรีตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2489 เป็นต้นมา

       ต่อมาในปี พ.ศ. 2540ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2540 มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นนิติบุคคล (มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) จัดการเรียนการสอนสำหรับพระภิกษุสามเณร และเปิดรับคฤหัสถ์เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2542  เป็นต้นมา และเมื่อมหาวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติเป็นของตนเอง มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นนิติบุคคล สถานที่เดิมภายในวัดบวรนิเวศ ฯ คับแคบลงจึงย้ายมาอยู่ศาลายา

      ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยมี พระราชปฎิภาณโกศล เป็นอธิการบดี ภายในมหาวิทยาลัยมีอาคารหลายหลัง มีพื้นที่กว้างขวาง ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ให้เป็นมหาวิทยาลัยพื้นที่สีเขียว ร่มรื่น มีทั้งอุโบสถ์ เจดีย์องค์ใหญ่ อาคารอเนกประสงค์ อาคารเรียน สำนักงาน เรือนรับรองและโรงแรมที่พัก ภายใต้บรรยากาศที่เขียวชะอุ่มด้วยแมกไม้สีเขียว..

*********************

*********************************

อุทัย มณี  รายงาน

Leave a Reply