ผอ.สันติศึกษา “มจร” เผยปม คนสนใจเรียน ป.เอก สันติศึกษา หวังนำเครื่องมือปรับใช้ยุค New Normal

วันที่ 29 มิถุนายน 2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลสนใจสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา รุ่นล่าสุดกว่า 80 รูป-คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระสงฆ์นักเทศน์ นักบรรยายธรรมะเดลิเวอรี่ และพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระสงฆ์นักเขียนที่มีผู้ติดตามผลงานจำนวนมาก รวมถึงนายจาตุรงค์ สรนุวัตร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรีว่า การที่จะศึกษาเพื่อที่จะทำให้เข้าใจหลักสูตรสันติศึกษาอย่างถ่องแท้ในมิติต่างๆ นั้น จำเป็นต้องเรียนรู้องค์ประกอบของสันติศึกษา (Peace Studies Anatomy) เพื่อป้องกันมิให้เกิดมายาคติ (Myth) ต่อหลักสูตรสันติศึกษา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงขอนำเสนอสาระสำคัญเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.สันติศึกษาเป็นสาขาวิชาที่สร้างและออกแบบโดยพระพุทธเจ้า โดยผลิตขึ้นจากพุทธพจน์ที่ว่า “สันติเมว สิกเขยยะ” แปลว่า “พึงศึกษาสันติเท่านั้น” ฉะนั้น สันติศึกษาจึงมาจาก 2 คำ คือ “สันติ” กับคำว่า “สิกขา” โดยพระองค์ทรงย้ำอีกว่า “สันติมัคคเมว พรูหยะ” แปลว่า “ท่านจงพอกพูนสันติมรรคเท่านั้น” สันติมรรคในประเด็นนี้ก็คือสันติวิธีนั่นเอง การเรียนสันติศึกษา คือการเรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตอกย้ำและเชิญชวนให้ทุกชาวโลกเห็นความสำคัญว่า ถ้าชีวิต ชุมชน สังคม และโลกจะรอดต้องสันติ และสันติวิธีเท่านั้น การเรียนสันติศึกษาจึงเป็นการเรียนรู้ชีวิตและลมหายใจของพระพุทธเจ้าโดยตรง

2.สันติศึกษาเป็นการศึกษา เพื่อพัฒนาให้สันติเกิดขึ้นในจิตใจและสังคม ผ่านกระบวนการศึกษาและพัฒนาใน 3 ด้าน ที่เรียกว่า “ไตรสิกขา”

(1) ศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรมอันได้แก่กายและวาจาปกติ หนักแน่นไม่หวั่นไหวดุจศิลา (อธิสีลสิกขา) มีศักยภาพและทักษะในการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ทั้งการสื่อสาร การเป็นผู้นำ การไกล่เกลี่ย สมานใจคน การเป็นนักจิตอาสาช่วยเหลือคนอื่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทีมงานเป็นทีม และการออกแบบและสร้างกระบวนการยุติธรรมทางสังคม

(2) ศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจให้สงบเย็น จนเกิดการตื่นรู้ภายในแล้วออกไปสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ (อธิสีลสิกขา) สันติศึกษาจึงมีสติศึกษาเป็นฐาน ผ่านการเรียนรายวิชาสติภาวนาสำหรับวิศวกรสันติภาพ วิชาสันติภาวนาเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสิตต้องผ่านการทำสติภาวนาเป็นระยะเวลา 45 วันของหลักสูตร

(3) ศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญา เพื่อสร้าง Mindset และพัฒนาระบบคิดโดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และมุมมองใหม่ (Paradigm) เพื่อให้สามารถบ่มเพาะปัญญาสันติ แล้วออกไปรับใช้ผู้อื่นด้วยการเสริมสร้างชุมชนและสังคมสันติสุข (Cultivating Wisdom Serving Peace) ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาพุทธสันติวิธี แนวคิดและทฤษฏีด้านสันติศึกษา และวิจัยชั้นสูงสำหรับการสร้างสันติภาพ

สรุปแล้ว สันติศึกษาจึงกระบวนการในการฝึกฝนและบ่มเบาะ 3 ขั้น คือ ปลุกปัญญาเพื่อสันติ ปลูกสติเพื่อสันติ ปรับพฤติกรรมทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์อย่างสันติ

3. เป้าหมายของสันติศึกษา หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) นั้น มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็น “วิศวกรสันติภาพ” โดยการสร้างสันติภาพภายในแล้วออกไปสร้างสันติภาพภายนอก การสร้างสันติภาพจึงเป็นการสร้าง 4 ภาพต่อไปนี้

(1) สร้างกายภาพ อันได้แก่ เห็นคุณค่าและรักษาฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตระหนักรู้และมีทักษะการพัฒนาอาชีพการเป็นอยู่ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข

(2) สร้างพฤติภาพ อันได้แก่ การมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่กับผู้ในชุมชน สังคม เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อย่างสันติสุข รักและไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม ใส่ใจดูแลชุมชนและสังคม เป็นพลเมืองโลกที่ดี

(3) สร้างจิตภาพ อันได้แก่ การเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงามพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มีสติตื่นรู้ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ จิตใจมั่นคงพร้อมที่จะเผชิญหน้า และจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงอย่างมีสติ ขันติ และสันติ

(4) สร้างปัญญาภาพ อันได้แก่ การมีปัญญาเพื่อสันภาพ มีทักษะสามารนำเสนอแผนที่ความขัดแย้ง แล้วออกแบบกระบวนการสร้างสันติภาพในครอบครัว ชุมชน องค์กรและสังคม เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

สันติศึกษาจึงเป็นได้มากกว่าวิชาชีพ เพราะเน้นวิชาชีวิต เน้นเครื่องมือในการจัดการชีวิตตน ชีวิตคน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างประสมกลมเกลียว ผ่านกระบวนการจัดการความขัดแย้งภายในใจจนเกิดสันติภาพภายใน แล้วออกไปจัดการความขัดแย้งภายนอกจนเกิดสันติภาพภายนอก

4. สติ ขันติ สันติ: ไม่มีวันที่สันติเกิดขึ้นได้ หากไม่มีคำว่า สติ และขันติ ทั้งสามคำนี้ มีปรากฏอยู่ในบทโอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการ 3 อุดมการณ์ วิธีการ 6 หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ 3 คำนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสติ ศาสนาแห่งขันติ และศาสนาแห่งสันติ ฉะนั้น จิตวิญญาณที่เป็นแก่นและแกน (Core Values) ของสันติศึกษาจึงเน้นพัฒนาสามคำนี้ให้อยู่ในวิถีชีวิตของวิศวกรสันติภาพ

ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มจร กล่าวโดยสรุปว่า สันติศึกษาคือการศึกษาเพื่อถอดบทเรียนชีวิตและลมหายใจของพระพุทธเจ้า ที่ครั้งหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเคยสนใจแต่ชีวิตของตัวเอง แต่วันหนึ่งได้ตัดสินใจปล่อยวางความสุขส่วนตนออกไปค้นหาความสุขที่แท้จริง ในที่สุดจึงพบว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสันติไม่มี” จึงได้นำพลังแห่งสันติสุขไปช่วยเหลือชาวโลกตลอดระเวลา 45 ปี

สิ่งสำคัญของการเรียนรู้สันติศึกษ คือ “สันติมรรค” หรือ “สันติวิธี” อันเป็นเครืองมือที่พระพุทธเจ้าได้ออกแบบและนำไปเสริมสร้างชีวิต ชุมชน และสังคมสันติสุข การเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง ท่ามกลางความต้องการ ภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ค่านิยม ความเชื่อ และโครงสร้างที่หลากหลาย พระองค์มีหลักการ วิธีการ กระบวนการและขั้นตอนในการสร้างสันติภาพอย่างไร

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า การที่กลุ่มคนจำนวนมากสนใจและตัดสินใจมาเรียนเรียนรู้สาขาสันติศึกษา ก็เพราะต้องการคำตอบเหล่านี้ คำตอบที่สามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนที่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการดำเนินชีวิตและการทำงานรับใช้ผู้อื่น และทั้งมุ่งหวังที่จะได้มือที่ผ่านการออกแบบและปรับรูปที่เข้ากับวิถีสังคมยุคปกติใหม่ (New Normal) ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

Leave a Reply