“กรมศิลป์-วัด-กมธ.ศาสนาฯ” เปิดมิติใหม่จับเข่าคุยกัน 3 ฝ่าย “บูรณะวัดอย่างยั่งยืน”

  เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ส.ส.สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 29 พรรคเพื่อไทย ได้นำคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ประกอบด้วย ส.ส.ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ , ส.ส.พรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ , ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนาฯ , นายปกรณ์เกียรติ ญาณหาร อนุกรรมาธิการพุทธศาสนาฯ , นายคมสรรค์ สุนนทราช ผู้ช่วยเลขาอนุกรรมาธิการพุทธศาสนาฯ และผู้นำชุมชนเข้า ตรวจสอบศาลาการเปรียญเก่าแก่ของวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร

  นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 29 กล่าวว่า จากที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ร่วมกับพระครูพิศาลพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ได้ร้องเรียนเรื่องการชำรุดของศาลาการเปรียญเก่าแก่ของวัดอัปสรสวรรค์วรวิหารหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า”วัดหมู” ที่คาดว่ามีอายุมากกว่า 100 ปี สร้างด้วยไม้สัก เป็นจิตรกรรมที่สวยงามบนแผ่นไม้ ในส่วนที่เป็นคานมีลวดลายจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดก ในอดีตวัดหมูใช้ในการจัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติ จัดกิจกรรมพิธีที่สำคัญของชุมชนริมคลองด่านและคลองบางหลวง จากการชำรุดของอาคาร ทำให้กระเบื้องหล่นลงมาทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม จึงทำให้ต้องปิดอาคารดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หากรีบรื้อฟื้นบูรณะ ก็จะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ตนจึงประสานไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ เพื่อหารือในการอนุรักษ์ให้กลับมาดังเดิม อนึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระหว่างวัดที่สำคัญ ในบริเวณเขตภาษีเจริญ ให้มีเส้นทางน้ำและทางบกที่มีจุดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่มีหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถพัฒนาและบูรณาการร่วมกันระหว่างวัดนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวและที่พึ่งทางใจให้กับชาวพุทธได้

นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ เพิ่มเติมว่า เป็นมิติที่ดี หลังจากที่ ส.ส.สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ได้ร้องเรียนมาที่กรรมาธิการการศาสนาฯ เพราะที่ผ่านมา ผู้ดูแลวัดก็ไม่รู้เรื่องกฎหมาย บางครั้งจะเห็นว่าวัดมีการบูรณะโดยไม่ผ่านกรมศิลปากร ภายหลังจึงมาทราบว่าวัดมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโบราณสถานไปเสียแล้ว ทำให้เกิดการร้องเรียน การฟ้องร้อง  ซึ่งกรมศิลปากรก็เป็นคนกลางต้องมารับภาระในภายหลังซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากหรือแก้ไขไม่ได้ไปเสียแล้ว สำหรับกรณีเช่นวัดอัปสรสวรรค์ฯ ก็เช่นกัน เมื่อไม่มีงบประมาณในการบูรณะก็ได้หารือกับผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ก็มีช่องทางที่จะจัดหางบประมาณในทิศทางที่ถูกต้องไม่ผิดต่อหลักกฎหมาย

ทางด้าน ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ เห็นว่า จากการร้องเรียนนั้น เป็นปัญหาใหญ่ของวัดวาอารามที่เป็นวัดเก่าแก่ ส่วนใหญ่จะมีอาคารสถานที่ที่เป็นอาคารเก่าและได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรไว้แล้ว แต่ด้วยงบของกรมศิลปากรที่มีอย่างจำกัด ทำให้โบราณสถานในบริเวณวัดที่มีอยู่มาก ขาดงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรก็มีจำนวนจำกัด ทำให้การบูรณะวัดต้องจัดสรรงบประมาณในปีถัดๆ ไป สำหรับการแก้ปัญหาของวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ปัญหาหลักในขณะนี้คือเรื่อง “งบประมาณ” ในเบื้องต้นได้หารือกันว่า พระครูพิศาลพัฒนคุณ จะบอกบุญกับคณะญาติโยมร่วมทำบุญหนึ่งส่วน และใช้งบประมาณจากหน่วยงานราชการอีกหนึ่งส่วน เพื่อดำเนินการบูรณะศาลาการเปรียญดังกล่าว ขณะที่อยู่ในช่วงระดมทุน ฝ่ายของกรมศิลปากรก็จะออกแบบการก่อสร้างคู่ขนานไปด้วย คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี การก่อสร้างนี้ก็จะแล้วเสร็จ ปัญหาในการบูรณะวัดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ตนจะนำเรื่องนี้เข้ากรรมาธิการการศาสนาฯ เพื่อหารือและกำหนดทิศทางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อความรวดเร็วและตัดปัญหาต่าง ๆ ของกระบวนการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อไป

    ส่วน  ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนาฯ เพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้รับเอกสารร้องเรียน ตนได้ประสานไปยังอธิบดีกรมศิลปากร ในเบื้องต้นนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบให้ตัวแทนจากกรมศิลปากร ประกอบด้วย นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี , นางจิตรา กาญจนะคูหะ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี , นายอาทิตย์ ลิ่มมั่น สถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม และทีมงาน เข้ามาร่วมประสานงาน ทั้งนี้การพบปะกันทุกฝ่ายจะช่วยให้กำหนดทิศทางการแก้ปัญหาไปได้อย่างถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยปิดช่องโหว่และเปิดช่องว่างให้ทำงาน ก็จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ หากจะว่าไปแล้วในประเทศที่เจริญแล้วจะให้ความสำคัญในด้านศิลปะ ของชาติเป็นลำดับต้นๆ จะส่งผลดีในอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การประวัติศาสตร์ และสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ จากศิลปะชาติไทย ดร.ณพลเดช กล่าว

     ทางด้าน  นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร  กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่ดีที่มีการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย แต่ด้วยหากเรามีความพร้อมเรื่องงบประมาณแล้ว สำหรับกองโบราณคดี ต้องเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า เรายังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรที่จะเป็นทีมงานที่ออกแบบ เนื่องจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบเพื่อปรับปรุงโบราณสถานยังมีไม่เพียงพอ อีกทั้งเมื่อออกแบบแล้วเรายังมีความจำเป็นต้องมีผู้ตรวจงานที่เป็นไปตามมาตรฐานกรมศิลปากร และอีกประการหนึ่ง บริษัทที่รับจ้างก็มีความจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานปูนปั้น งานแกะสลัก ฯลฯ อีกด้วย เรื่องนี้ตนจะนำไปหารือกับอธิบดีกรมศิลปากรต่อไป

***************************

Leave a Reply