ดร.อเนก รัฐมนตรี อว.ปวารณาตัวเป็นโยมอุปัฏฐากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

          เมื่อวานนี้   (16 กันยายน 2563)  ณ หอประชุม สุชีพปุญญานุถาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธมณฑล จ.นครปฐม  ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับนโยบายและทิศทาง “มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในการพัฒนาประเทศชาติ” และมี ศ.กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่วมบรรยายพิเศษ  โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  พระราชปฎิภาณโกศล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และ นิสิต คอยต้อนรับ

              ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกของประเทศไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นและทรงพระราชทานนามให้อีกด้วย นอกจากนั้น พระองค์ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น ทรงเสด็จมาเปิดและทรงรับมหามกุฏราชวิทยาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงประจำปี ต่อมาพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงให้การทำนุบำรุงและทรงให้ความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาตลอด ดังชื่อนามว่า “ราชวิทยาลัย” (Royal College) นอกเหนือจากการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงนำเอาหลักธรรมพระพุทธศาสนาไปใช้ในการปกครองประเทศ เช่น หลักทศพิธราชธรรม หลักอปริหานิยธรรม โดยเฉพาะหลักธรรมาธิไตย ที่เป็นหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยความเป็นธรรม

          ในครั้งเริ่มแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลี ตามประเพณีแบบเดิม จะเรียกว่า เปลี่ยนจากเดิมที่พระสงฆ์เน้นเรียน “ทางธรรม” ก็ให้เข้าใจ “ทางโลก” มากขึ้น เพื่อที่จะได้ใช้ธรรมะมาช่วยแก้ปัญหาของสังคมหรือพัฒนาประเทศแต่ในสมัยปัจจุบันโลกได้มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต (complex) และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก (disruption) จนทำให้เกิด “ฐานวิถีชีวิตใหม่” หรือเรียกกันว่า New Normal ซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสังคมเปลี่ยนจากอดีตอย่างสิ้นเชิง มหาวิทยาลัย พระพุทธศาสนาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับ New Normal นี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหรือการเพิ่มหลักสูตร/สาขาวิชาใหม่ การปรับปรุงวิธีการสอนในรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่การสร้างสื่อการสอนแบบใหม่ด้วยระบบดิจิทัล อาทิ Twitter, YouTube, Facebook เป็นต้น เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก

           การพัฒนาประเทศในความเข้าใจของคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะหมายถึงการทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจสูงๆ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อย ๆ หรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมอยู่ในมาตรฐาน ดังนั้น ประเทศจึงมุ่งไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (physical infrastructure) แต่ที่จริงแล้ว การพัฒนาประเทศยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้คนในสังคมมีศีลธรรมจรรยา โดยการสร้างให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านศีลธรรม (moral infrastructure) ซึ่งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหรือสถาบันในการผลิตบุคลากรด้านศีลธรรมที่สำคัญของประเทศ บทบาทนี้ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในประเทศจะทำได้ หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นสถานที่ที่ผลิต “ศาสนทายาท” ของศาสนาพุทธแห่งเดียวของประเทศ

           เพื่อเป็นการสนองต่อพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาตามพันธกิจของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่กระผมรับผิดชอบ กระผมก็จะพยายามสนับสนุนการจัดระบบอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ปรับระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการสนับสนุนทุนค่าเล่าเรียนต่อพระภิกษุสงฆ์เพื่อการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

           “..แม้ว่ากระผมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ที่ทางราชการกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง แต่กระผมขอปวารณาตนเองเป็นโยมอุปัฏฐากของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา การใดที่ผมพอที่จะทำได้เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ขอท่านได้โปรดชี้แนะกระผมด้วย ขอกราบนมัสการด้วยความคารพอย่างสูง” ศ.ดร.เอนก กล่าวทิ้งท้าย

 *********

ภาพ – ข้อมุล : ส่วนสื่อสารองค์กร อว.

Leave a Reply