ทูตสหรัฐฯนิมนต์พระพรหมบัณฑิตและผู้นำศาสนา แสดงความเห็นเสรีภาพการนับถือศาสนาในไทย

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 เวลา 14 – 16 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาให้พระพรหมบัณฑิต (ป.ธ.๙, ศ.,ดร.,ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคมหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนโดยเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันในการสนับสนุนเสริมสร้างและคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยมีผู้นำจากทั้ง 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกซ์ เข้าร่วมประชุมการอภิปราย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ตามการนิมนต์และเชิญของนายไมเคิล จอร์จ ดี ซอมบรี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะมีบทบาทระดับนานาชาติ

ก่อนหน้านี้นายไมเคิล พร้อมคณะได้เดินทางไปเยือนพบปะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร พร้อมผู้บริหารระดับสูง ให้การต้อนรับด้านหน้าหอพระไตรปิฎก นำสักการะพระบรมสารีริกธาตุแล้ว นำเอกอัครราชทูตเยี่ยมชมวัดมหาจุฬาลงกรณ์ราชูทิศ กราบพระประทานภายในอุโบสถกลางน้ำ ชมพุทธศิลป์และจิตกรรมฝาผนัง ชมภาพบันทึกเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2547

จากนั้นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ไปยังศาลาคุณหญิงอุไรศรี คณึงสุขเกษม วัดมหาจุฬาฯ เพื่อปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เสรีภาพทางศาสนา” ว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกามีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และห้ามออกกฎหมายยกย่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ทั้งห้ามออกกฎหมายห้ามประชาชนนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งด้วย ซึ่งประเทศไทยก็มีการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเช่นกัน ซึ่งการให้เสรีภาพการนับถือศาสนานั้น เป็นการสร้างรากฐานแห่งการไว้ใจกัน ประชาชน 8 ใน 10 ของโลกยังขาดเสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้นเราต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาฯ กล่าวต่อไปว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายให้ตั้งเครือข่ายเสรีภาพทางศาสนาแล้วเมื่อเดือนก.พ.2563 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งเครือข่ายในลักษณะดังกล่าวขึ้น ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ก็มีการดำเนินงานของผู้ติดต่อระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อ ซึ่งขณะนี้มีสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ร่วมดำเนินงานกันอยู่ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพการนับถือศาสนาในระดับสากล และกำลังรอประเทศสมาชิกเข้าร่วมดำเนินการเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้การเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนา จะทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกา และไทย เป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมกันนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นงานไม่ง่าย จึงขอให้ภูมิใจในการทุ่มเททำงานนี้

Leave a Reply