การเคลื่อนไหวของกลุ่มยุวสงฆ์ “ยุคแรก-ปัจจุบัน”

            ปรากฎการณ์ของกลุ่ม “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” หรือกลุ่มยุวสงฆ์ปลดแอก มิใช่ปรากฎการณ์การใหม่ในสังคมไทยและสังคมสงฆ์

            เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปีพุทธศักราช 2477 มีกลุ่มยุวสงฆ์ฝ่ายมหานิกายประมาณ 300 รูปจากวัดต่าง ๆ ในเขตพระนครและธนบุรี เช่นวัด พระเชตุพน ฯ วัดอรุณ  วัดสุทัศน์ นัดประชุมกันที่บ้านคหบดีเขตบางรักชื่อบ้าน “ภัทรวิธม” และเรียกกลุ่มตนเองว่า “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนา”

            คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนา กลุ่มนี้มีความเห็นร่วมกันในการปฎิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้เสมอภาคตามแนวประชาธิปไตยโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

            1.เนื่องจากการปกครองคณะสงฆ์ให้ความเสมอภาคแก่คณะสงฆ์ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ เจ้าคณะธรรมยุตปกครองคณะสงฆ์มหานิกายได้ แต่เจ้าคณะมหานิกายปครองคณะสงฆ์ธรรมยุตไม่ได้ จึงขอให้รัฐบาลและมหาเถรสมาคมแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ให้มีการบริหารด้วยสิทธิเสมอกัน

             2.เพื่อให้มีการร่วมสมานสังวาสในระหว่างคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย อาทิ ให้มีการร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันได้

            3. ตำแหน่งหน้าที่ทั้งในการศึกษาและปกครอง หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองสังฆมณฑลพระภิกษุในสิทธิมหานิกายต้องมีสิทธิในตำแหน่งนั่นด้วย

            เมื่อมองจากการเคลื่อนไหวทั้ง 3 ประเด็นนี้แล้ว ต้นตอล้วนเกิดจากพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 แทบทั้งสิ้นที่ฝ่ายพระมหานิกายมองว่า คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเอาเปรียบฝ่ายมหานิกายซึ่งมีประชากรสงฆ์มากกว่า โดยเฉพาะตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ที่มีการวางสืบทอดกันเป็นช่วง ๆ  มิให้ฝ่ายมหานิกายได้ขึ้นมาครอง

             การเคลื่อนไหวของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาเมื่อปี 2477 รัฐบาลให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวและจัดการแก้ไขพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121 จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484

            เมื่อเราศึกษาเนื้อหาของ พ.ร.บ. การปกครองคณสงฆ์ ร.ศ. 121 พอสรุปได้สังเขปว่า

           1.พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ถอดถอน สมณศักดิ์ และตำแหน่งบริหารตั้งแต่ระดับพระราชาคณะจังหวัดขึ้นไป

           2.มหาเถรสมาคมปกครองและบริการกิจการคณะสงฆ์สนองพระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์

           3.หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงธรรมการ ควบคุม วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สินของวัดและศาสนสมบัติทั้งปวง กระทรวงมหาดไทยดูแลการตั้งวัดและศาสนาสถาน เป็นต้น

          4.มีบทลงโทษพระภิกษุสงฆ์ เช่น พระภิกษุที่ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ให้พระภิกษุรูปนั่นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

         ปัจจุบันกลุ่มยุวสงฆ์ปลดแอกหรือคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่เรียกร้อง 2 ประเด็นหลัก คือ

 1.เพื่อทุกศาสนา

          –  แยกศาสนาออกจากรัฐ

          –   หยุดใช้ศาสนาเป็นเครืองมือ “สร้างความแตกแยก”

         –  หยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ “โฆษณาชวนเชื่อ”

  2.เพื่อพุทธศาสนา

        – ปฎิรูปโครงสร้างอำนาจสงฆ์และร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใหม่ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย

        – สิทธิพลเมืองของพระภิกษุ -สามเณรตามวิถีประชาธิปไตย

       ประเด็นข้อเรียกร้องของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ มีลักษณ์คล้ายคลึงกับข้อเรียกร้องของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาเมื่อปี 2477 เพียงแต่กลุ่มคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาเมื่อปี 2477 รัฐบาลสนับสนุนปัจจุบันรัฐบาลตามบี้  ตอนต่อไปจากเล่าเรื่องบทบาทพระยุวสงฆ์ลานอโศกซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “กูไม่นึกเลยว่า  พระผู้ใหญ่จะใช้เล่ห์ลิ้นขนาดนี้ ให้กูหายเสียก่อนจะให้ความเป็นธรรม จะไปกราบขอขมาโทษ “ จากผู้นำของประเทศ..

      ************************

โดย..เปรียญสิบ

Leave a Reply