งบประมาณหน้าเตรียมเฮ..?? กก.การศึกษาพระปริยัติธรรมประชุมรอบสุดท้าย

             เมื่อวานนี้ (25 พ.ย. 63)   ณ ห้องประชุม วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดประชุมวิพากษ์แผนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม มาตรฐานสถานศึกษาพระปริยัติธรรม และแผนงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมี พระเทพปริยัติมุนี เป็นประธาน พร้อมด้วย พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านพระพุทธศาสนา นายสิทธา มูลหงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ   และคณะกรรมการฯ ผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณและผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

              ซึ่งที่ประชุมเป็นการประชุมรอบสุดท้ายเพื่อวิพากษ์และสรุป “การจัดทำแผนการศึกษาพระปริยัติธรรม” และ  “แผนงบประมาณ”  เพื่อประกอบการของบประมาณแผ่นดินมาบริหารจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ระหว่าง กองบาลีสนามหลวง, กองธรรมสนามหลวง,คณะกรรมการพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ, พระปริยัตินิเทศก์

            ซึ่งภายหลังการเสร็จสิ้นการประชุม พระเทพเวที รก.เจ้าคณะภาค 6 ในฐานะคณะทำงานเปิดเผยว่า

            “การประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อยดีงาน คาดว่าปีงบประมาณหน้า คือ 2565 โครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งเรื่องอัตรากำลังคน งบประมาณ แผนการจัดการเรียนการสอน คงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้คือ เกิดจากการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของพระสงฆ์ หลังจากการศึกษาสงฆ์ด้านปริยัติธรรมเราบริหารจัดการตามมีตามเกิดมานาน..”

           สำหรับพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562  และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562

           หลังใช้เวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีคำสั่งที่ 4/2558 ลงวันที่ 28 สิงหาคม  2558 แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ….โดยมี พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ปัจจุบันคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการ มส.เป็นประธานคณะกรรมการ

            กฎหมายฉบับนี้มีด้วยกัน 33 มาตรา ครอบคลุมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมบาลี และสามัญศึกษา  และถือว่า พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการคณะสงฆ์ไทยที่จะมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้มีการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น..

Leave a Reply