รายงานพิเศษ : คืบหน้าก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดทั่วประเทศ

 ที่ผ่านมาการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557   ที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่าง  ๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          ในการนี้มหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ได้มีคำสั่ง ที่ 2/2559 แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคมลงวันที่ 25 เมษายน 2559 จากนั้นคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้มีการประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามภารกิจกรอบงานปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้านประกอบด้วย

             1) ด้านการปกครอง 2) ด้านการศาสนศึกษา 3) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 4) ด้านการเผยแผ่ 5) ด้านการสาธารณูปการ 6) ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และบวกด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

            และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ได้เสนอแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระยะ 5 ปี พ.ศ.2560-2564 ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม  ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และให้ดำเนินการได้ทันที

            ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ได้มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคมและผู้เกี่ยวข้อง ที่ประชุมรับทราบแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามที่คณะกรรมการนำเสนอ มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาต ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบ

      เมื่อวันที่ 14 ก.ค.59 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการดำเนินการของคณะสงฆ์ตามภารกิจ 6 ด้าน +1 คือ ด้านการปกครอง,ด้านศาสนศึกษา,ด้านศึกษาสงเคราะห์,ด้านการเผยแผ่,ด้านสาธารณูปการ,ด้านสาธารณสงเคราะห์, และการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา

             ซึ่งการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาทั้ง 6 ด้านสำเร็จด้านใดบ้าง ท่านสามารถอ่านย้อนหลังได้เว็บไซต์ข่าวเดอะบุ๊ดลงไว้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา  ( http://thebuddh.com/?p=49588)

            ในแผนการปฎิรูปทั้ง 6 ด้านในข่าวดังกล่าวมิได้รวบรวมผลสำเร็จของการพัฒนาพุทธมณฑลและพุทธมณฑลจังหวัดเอาไว้

            ทีมงาน “เดอะบุ๊ด” ได้ขอรายละเอียดแผนการพัฒนาพุทธมณฑลและความคืบหน้าในการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดจาก พระเทพเวที รก.เจ้าคณะภาค 6 หนึ่งในคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) ซึ่งท่านได้ให้รายละเอียดดังนี้

              จากการที่เมื่อหลายวันก่อน อาตมาได้สรุปเบื้องต้นถึงผลสัมฤทธิ์ของแผนพัฒนากิจการพระพุทธศาสนา ฉบับที่1(2560-2564) ไป 6  ฝ่ายตามพันธกิจของคณะสงฆ์ 6 ด้าน ไปแล้วนั่น

            วันนี้ขออธิบายการดำเนินการของคณะกรรมการอีกฝ่ายพิเศษอีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีความสำคัญยิ่งไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ คณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และพัฒนาพุทธมณฑล ประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส

          คณะกรรมการอำนวยการฝ่ายบรรพชิต มี สมเด็จพระวันรัต เป็นประธานกรรมการ และมี พระพรหมบัณฑิต เป็นกรรมการและเลขานุการ ฝ่ายฆราวาส มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  (เดิมอดีตสมเด็จพระพุทธชินวงศ์เป็นประธาน)

         ในแผนพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ ฉบับที่ 1 (2560-2564) นี้ ใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาพุทธมณฑลสู่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก” มีนโยบายในการอนุรักษ์และพัฒนาพุทธมณฑลส่วนกลาง และ ขยายให้มีพุทธมณฑลจังหวัดทั่วประเทศ

           จากที่ได้ริเริ่มและดำเนินการมาก่อนมีแผนพัฒนาและบรรจุเข้าแผนพัฒนากิจการพระพุทธศาสนา ฉบับที่ 1(2560-2564) มา บัดนี้ ได้มีความก้าวหน้าพัฒนาการและก่อให้เกิดพุทธมณฑลจังหวัดต่าง ๆ ถึง 38 จังหวัด  (ข้อมูลล่าสุด : เมษายน 2563 จากสำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) มีรายละเอียด ดังนี้..

ดำเนินการเสร็จแล้วใช้ประโยชน์ได้เต็มอัตราจำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วย:

           1. พุทธมณฑลจังหวัดระยอง

           2. พุทธมณฑลจังหวัดตราด

           3. พุทธมณฑลจังหวัดปราจีนบุรี

           4. พุทธมณฑลจังหวัดนครพนม

           5. พุทธมณฑลจังหวัดมหาสารคาม  (พระบรมธาตุนาดูน)

           6. พุทธมณฑลจังหวัดพิษณุโลก

           7. พุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร

           8. พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส

           9. พุทธมณฑลจังหวัดสิงห์บุรี

           10. พุทธมณฑลจังหวัดอ่างทอง

      กำลังดำเนินการ (มีที่ดิน, มีเสนาสนะ, มีปูชนียวัตถุ,และอื่น ๆ แต่ยังไม่ประกาศแล้วเสร็จสมบูรณ์) มีจำนวน 18 จังหวัด ประกอบด้วย

         1. พุทธมณฑลจังหวัดกาฬสินธุ์

         2.  พุทธมณฑลจังหวัดขอนแก่น

         3. พุทธมณฑลจังหวัดจันทบุรี

         4.  พุทธมณฑลจังหวัดชลบุรี

         5.  พุทธมณฑลจังหวัดชัยภูมิ

         6.  พุทธมณฑลจังหวัดชุมพร

         7.  พุทธมณฑลจังหวัดเชียงราย

         8. พุทธมณฑลจังหวัดนครสวรรค์

         9. พุทธมณฑลจังหวัดอยุธยา

        10. พุทธมณฑลจังหวัดแพร่

         11. พุทธมณฑลจังหวัดเลย

         12. พุทธมณฑลจังหวัดสงขลา

         13. พุทธมณฑลจังหวัดสระแก้ว

         14. พุทธมณฑลจังหวัดสุโขทัย

         15. พุทธมณฑลจังหวัดสุพรรณบุรี

         16. พุทธมณฑลจังหวัดอุดรธานี

         17. พุทธมณฑลจังหวัดอุทัยธานี

         18. พุทธมณฑลจังหวัดอุบลราชธานี

 

กำลังริเริ่มโครงการ จัดเป็น 2 กลุ่ม คือ  (กลุ่มที่ 1 ) มีที่ดินแล้วและกำลังระดมทุนก่อสร้าง ประกอบด้วย..

        1.พุทธมณฑลจังหวัดพิจิตร

        2.พุทธมณฑลจังหวัดศรีษะเกษ

        3.พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

(กลุ่มที่ 2) มีการตั้งคณะกรรมการแล้ว,ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาที่ดิน,เริ่มก่อสร้างเสนาสนะบางส่วนประกอบด้วย...

      1.พุทธมณฑลจังหวัดบุรีรัมย์

      2.พุทธมณฑลจังหวัดพะเยา

      3.พุทธมณฑลจังหวัดเพชรบูรณ์

      4.พุทธมณฑลจังหวัดกระบี่

      5.พุทธมณฑลจังหวัดตรัง

      6.พุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ และ

      7.พุทธมณฑลจังหวัดนครราชสีมา

        กล่าวได้ว่าทั้งก่อนมีแผนพัฒนาและมีแผนพัฒนากิจการคณะสงฆ์ ฉบับที่ 1 (2560-2564) มานี้ พุทธมณฑล เกิดขึ้นแล้ว 38 จังหวัด… เชื่อมั่นเหลือเกินว่าเมื่อต่อถึงแผนพัฒนากิจการคณะสงฆ์ฉบับที่ 2 (2565-2569) และแผนฉบับต่อๆไป .. มีการทำงานเป็นระบบ, มีการทำงานแบบมีแผน, แบบนี้ เราก็จะมีพุทธมณฑลเกิดขึ้นครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยและ(จะ)ขยายไประดับโลก สมกับโครงการตามแผนพัฒนากิจการคณะสงฆ์ที่ให้ชื่อว่า”โครงการพัฒนาพุทธมณฑลสู่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก”  พระเทพเวที กล่าวทิ้งท้าย อย่างมั่นใจ..

        สำหรับความเป็นมาของพุทธมณฑล ณ ศาลา จ.นครปฐมมีดังนี้

        เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2487 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้พยายามออกกฎหมายจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลที่จังหวัดสระบุรีตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีผู้วิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อมิให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในเขตที่ประกาศเป็นพุทธสถานอย่างไรก็ตามพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลได้ถูกยกเลิกโดยรัฐสภาในกาลต่อมาเมื่อจอมพล ป. ไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้ว อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ผ่านพ้นไป จอมพล ป. ก็ได้กลับมาบริหารราชการแผ่นดินอีกครั้งและสานต่อโครงการดังกล่าว

       ในปี พ.ศ. 2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ณ สถานที่ซึ่งต่อมาเป็น อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนครชัยศรีและต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอพุทธมณฑลตามลำดับ) การก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย แต่การจัดสร้างได้ชะลอตัวไประยะหนึ่ง ด้วยปัญหาด้านงบประมาณ

     พ.ศ. 2521 รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นและถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนงานจัดสร้างพุทธมณฑลจากกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการศาสนาเป็นเจ้าของเรื่องใช้เงินงบประมาณของรัฐและการบริจาคของประชาชน อีกทั้งการจัดสร้างพุทธมณฑลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้งานก่อสร้างพุทธมณฑลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้การก่อสร้างได้สำเร็จก้าวหน้าไปอย่างมาก เนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีใน พ.ศ. 2525

     การก่อสร้างพุทธมณฑลได้ดำเนินการมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อสร้างองค์ “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพุทธมณฑลมาโดยตลอดเช่น มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และ หอประชุม เป็นต้น

     การก่อสร้างพุทธมณฑล ถือว่าเป็นนโยบายสำคญของมหาเถรสมาคม ที่ต้องการให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจ รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธในจังหวัดในการมีส่วนร่วมในโอกาสต่าง ๆ ทั้งประกอบพิธีทางศาสนา,การประชุม,เป็นสถานที่พักผ่อน ดังนี้เป็นต้น

    หลายจังหวัดการต่อสร้างพุทธมณฑลยังไม่เกิดขึ้น หลายจังหวัดมีสถานที่แล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องที่ดินและงบประมาณในการก่อสร้าง และหรือหลายจังหวัดก่อสร้างไปแล้ว แต่มีปัญหาและอุปสรรคในมิติต่าง ๆ ในการดำเนินการต่อไป บางจังหวัดต่อหยุดชะงักลง

    ซึ่งหลังจากนี้คงต้องดูต่อไปว่า การก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัด จังหวัดไหนจะเป็นจังหวัดที่ 39 ต่อไป..

*************************************

ขอบคุณภาพ..สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ /วีกิพิเดีย

 

 

 

Leave a Reply