บันทึกอดีตพระพุทธอิสระ : วิถีแห่งนักสู้ (ตอนที่ ๑)

             วันนี้ (๑ มี.ค.๖๔)  นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) ได้เล่าเรื่อง “วิถีแห่งนักสู้ (ตอนที่ ๑ )”  โดยมีรายละเอียดดังนี้

             วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เป็นอีกวันที่ต้องจารึกเอาไว้ในกระดูกว่า นักสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องออกเดินทางจากวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐ น. เพื่อเดินทางไปศาลอาญารัชดากลาง รับฟังคำพิพากษาคดี กบฏ ที่มีอัยการพิเศษเป็นผู้ฟ้อง

            เดินทางมาถึงศาลเวลา ๐๗.๒๐ น. เห็นลูกหลานหลายคนพร้อมทนายมายืนรออยู่หน้าศาลแล้ว

            ยายประคองหรืออีอ้วน เขาได้จัดเตรียมอาหารขยะ (แฮมเบอร์เกอร์และโจ๊กมาถวายที่รถ) แต่ก็ยังไม่อยากฉัน

              รับมาแล้วก็รื้อค้นดูว่า มีอะไรที่ฉันง่ายๆ รองท้อง เพราะต้องฉันยาแก้ประสาทอักเสบ และยาแก้ปวดจากการรักษารากฟัน

               ศาลท่านนัดฟังคำพิพากษาเวลา ๙ โมงเช้า ฉันเข้าอาคารศาลเวลา ๐๘.๐๐ น. พอขึ้นบันไดไปชั้น ๗ พบคุณแซมดิน แห่งสันติอโศก ในห้องน้ำ พอเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ๗๐๔ เจ้าหน้าที่ถามว่า เป็นจำเลยที่เท่าไร ฉันแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ว่า จำเลยที่ ๑๖ พร้อมเซ็นชื่อรับบัตรหมายเลข พอเข้ามาในห้องพิจารณา ได้พบกับ คุณถวิล จำเลยที่ ๒๓

             เห็นว่ามีเวลา เลยออกเดินแผ่เมตตารอบๆ ห้อง พอแก้เมื่อยเพราะนั่งรถมาไกล

              เวลาล่วงเลยไปถึง ๐๘.๓๐ น. เจ้าหน้าที่ศาลได้นำเอกสารมาให้เซ็น พอดี คุณไพบูลย์ นิติตะวัน คุณถวิล เปลี่ยนศรี พอมีเวลา เลยนั่งคุยกันว่า

              คิดจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่บั่นทอนความมั่นคงของชาติอยู่ทุกวันนี้ คุณถวิลแจ้งให้ทราบว่า วุฒิสภาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามจะประชุมศึกษาหาแนวทางแก้ไข ป้องกัน ทำความเข้าใจกับเด็กและเยาวชนอยู่ตลอด

             ฉันจึงได้เสนอท่านถวิล และคุณไพบูลย์ไปว่า

            “..ต้องแยกให้ชัดว่า ความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของเศรษฐกิจ ความมั่นคงของการศึกษา ความมั่นคงของศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ต้องไม่เหมารวมกัน มันจะทำให้มองไม่เห็นปัญหาอย่างชัดเจน

             ในมุมของฉัน ฉันมองว่าวิกฤตของชาติ ในเวลานี้ นอกจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความมั่นคงทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และสิ่งที่เป็นปัญหาในเวลานี้คือ ความมั่นคงของการศึกษา และความมั่นคงของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ แทบจะไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ยอมรับ และสุดท้ายยังจ้องจะล้มล้าง เพื่อต้องการสร้างขึ้นมาใหม่ ดังที่พวกเขาต้องการ โดยที่ปฏิเสธ เหยียบย่ำ ดูถูก วัฒนธรรม จารีต ขนบธรรมเนียม ที่บรรพบุรุษได้สั่งสม สร้างสรรค์ ประพฤติปฏิบัติมาอย่างช้านาน

              อีกทั้งยังสามารถหล่อหลอม ยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนในชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก งดงามมายาวนาน

            ฉะนั้นสิ่งที่รัฐผู้มีหน้าที่ ควรจะเร่งป้องกัน แก้ไข คือ การศึกษาและเผยแพร่ ขยาย กระจาย ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี เข้าไปสู่การศึกษาของชาติให้มากขึ้น…”

           เพื่อให้ลูกไทยได้ซึมซับ รับรู้อย่างถูกต้อง จะได้รับรู้ถึงความงดงามในรากเหง้าของเผ่าไทย…

****************************

ขอบคุณเพจ : หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)

Leave a Reply