“แทนคุณ”รับร่างพ.ร.บ. 5 ฉบับ ชงยกเลิก”ธ.อิสลาม-ฮัจย์” หนุนตรากม.กิจการพุทธ

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2564 เวลา 10.45 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก น.ส.พาศิกา สุวจันทร์ นายกสมาคมปกป้องพระพุทธศาสนา และคณะ เพื่อนำกราบเรียนประธานรัฐสภา เรื่อง การริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ. จำนวน 5 ฉบับ พร้อมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน และบันทึกหลักการเหตุผลประกอบ ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ธนาคารอิสลาม พ.ศ. 2545 พ.ศ. …. เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่เป็นไปตามบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันที่การธนาคารมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ประกอบกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารที่รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับให้บริการแก่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงควรยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐบาลรวมทั้งเป็นการสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม

2. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวตราขึ้นเพื่อจัดสรรงบประมาณแผ่นดินและบริหารเงินดังกล่าวในการประกอบกิจการฮัจย์ โดยการให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์กู้ยืมไปสำรองจ่ายค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าที่พัก และค่าอาหารของผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ อันเป็นการนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปให้เอกชนใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยรัฐมิได้รับผลกำไรจากธุรกิจดังกล่าว จึงควรยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม

3. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 พ.ศ. …. เนื่องจากการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์เป็นการประกอบศาสนพิธีของชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม เปรียบได้กับการเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียของชาวพุทธ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเฉพาะบังคับใช้เงินงบประมาณแผ่นดินหรือทรัพยากรส่วนกลางของแผ่นดินมาอำนวยความสะดวก เพราะประเทศไทยมี พ.ร.บ. ธุรกิจท่องเที่ยวควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว และศาสนิกชนที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้ต่างใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน จึงควรยกเลิกกฎหมายฉบับนี้

4. ร่าง พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเวลานานจึงไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี การดำเนินงานของมัสยิด การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฯ ที่ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานาน จึงควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้การสอนและการเผยแผ่ศาสนาดำเนินการอย่างถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มบัญญัติการกำหนดโทษสำหรับกรณีกระทำความผิดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน

5. ร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. …. เนื่องจาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา

นายแทนคุณ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการริเริ่มเสนอกฎหมายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และจะมีหนังสือแจ้งการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาไปยังคณะผู้ริเริ่มภายใน 15 วัน เพื่อให้พิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงก่อนรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อไป

Leave a Reply