เรื่องเล่าชาว “โคก หนอง นา”

       ปัจจุบันในสังคมไทยโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่เป็นพนักงานออฟฟิศ และข้าราชการ จำนวนมาก อยากจะทำเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่สังคมรู้จักกันมากในยุคนี้ก็คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นาโมเดล  อยากจะทำงานอิสระเพื่อมอบ “อิสรภาพแก่ชีวิต” ให้ตนเอง โดยไม่ต้องมี “เครื่องโซ่ตรวน” มาจองจำเอาไว้  แต่!!

ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร กลัวออกไปแล้ว “เอาตัวไม่รอด”  บางคนอาจมี “หนี้ค้ำคอ” หรือ บางคนอยากทำ แต่ไม่รู้มันจะสตาร์ทเครื่องอย่างไร

       สำหรับผู้เขียนซึ่งเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา  ของกรมการพัฒนาชุมชน อันดับแรกทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ “หัวใจ” คือ ทุกอย่างในโลกนี้ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ หากใจไม่ให้ ใจไม่รัก ใจไม่อยากทำ หรือไม่ตัดใจ ทุกอย่างมันเป็น  “ความฝัน มิใช่ความจริง”

       ความจริงคือ  คนทำโคก หนอง นา ต้องมีความ “ศรัทธาในศาสตร์ของพระราชาตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น” ก่อน ต้องตั้งสติ แล้วตั้งคำถามกับตนเองและครอบครัวก่อนว่า อะไรคือสิ่งจำเป็นของชีวิต ตั้งคำถามให้ตนเองและทำตามนั้น อันดับแรกมนุษย์ต้องการ คือ “อากาศ”  ก็พยายามหาอากาศที่ดีที่บริสุทธิ์ให้กับเขา มนุษย์เราภายใน 10 นาที ขาดน้ำ ขาดอาหารได้ แต่ “ขาดอากาศไม่ได้”  สิ่งที่มนุษย์ต้องการต่อมาก็คือ “น้ำ”   น้ำที่สะอาด บริสุทธิ์  แล้วจึงไปเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม..

ศาสตร์ของพระราชาจึงเริ่มต้นด้วย “พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น”  ทำอย่างไรจึงจะพอกิน โดยให้ความสำคัญกับ “ข้าวปลาอาหาร” ไม่ให้ความสำคัญกับ “เงิน” ซึ่งเป็นเพียงแค่ “ตัวกลาง” ในการแลกเปลี่ยนตามหลักสากล แต่ศาสตร์ของพระราชาให้ยึดหลักที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

               คนยุคปัจจุบันจำนวนมาก “ถูกมอมเมา” ด้วย “ระบบตลาดบริโภค” สุดโต่ง ทั้ง ๆ ที่อาหารปัจจุบันล้วนมีแต่สารพิษ

หากจะเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ต้องเข้าใจแบบนี้ก่อน อันดับแรก คือ ต้องการปลดแอกชีวิตให้มีอิสรภาพใช่ไหม ต้องการความมั่นคงให้กับชีวิตและครอบครอบครัวใช่หรือไม่ หากใช่ “หัวใจและศรัทธา” ต้องมาก่อน

              เงื่อนไขสำคัญของการทำ “โคก หนอง นา”  คือต้องมี  “ที่ดินและน้ำ”

  เป้าหมายของโครงการโคก หนอง นาโมเดล ภายใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินกู้ 4,787 ล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ชุมชนให้ครอบคลุม 79 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน พร้อมงานจ้างผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอีก 9,188 คน และผลพลอยได้คือ มีป่าไม้เพิ่มขึ้น 10 ล้านกว่าต้น,มีครัวเรือนต้นแบบประมาณ 60,000 ครอบครัว มีพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น ซ้ำเกิดพื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างเพิ่มขึ้นอีก 25,000 กว่าไร่

            ทั้งหมดทั้งมวลระยะสั้นนอกจากเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้วระยะยาวก็เพื่อสร้าง “ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงแห่งชีวิต” นั่นเอง

 “ผู้เขียน”  ถือว่า “เป็นคนในครอบครัวของชาวโคก หนอง นา” คนหนึ่ง ที่คิดว่า “สิ่งนี้คือ สร้างความมั่นคงและมั่งคั่ง” ความสุขให้กับชีวิตได้ดีอย่างยิ่ง “มิใช่ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามกลไกบริโภคนิยม” นับวันนอกจากทำลาย “ตนเองแล้ว” ระบบ “บริโภคนิยม” ยังมุ่งทำลายโลก ใบนี้ด้วย

          ทำลายอย่างไร..ตั้งสติแล้วพิจารณาจะเห็นได้ชัดยิ่ง

 “พระอาจารย์สังคม ธนปญฺโญ” ปรมาจารย์ด้านกสิกรรมธรรมชาติ บอกว่า การทำโคก หนอง นา คือ การทำงาน นอกจากเพื่อความมั่นคงให้ชีวิตตนเองแล้ว ยังเป็นไปเพื่อส่วนรวมคือโลกมนุษย์อีกด้วย และคนทำโคกหนองนา คือ คนมี หัวใจของพระโพธิสัตว์ คือ คิดเพื่อสุขส่วนรวมเป็นหลัก

ระหว่างวันที่ 21 -27 มีนาคม ที่ผ่านมาผู้เขียนเดินทางไปดูโคกหนองนาของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานไม่ต่ำกว่าประมาณ 10 จังหวัดเริ่มต้น จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วย มหาสารคาม สกลนคร สุรินทร์  ศรีสะเกษ แบบขับไป เที่ยวไป ดูไป แล้วมาเล่าผ่านตัวหนังสือให้ครอบครัว “โคก หนอง นา” ฟังว่า แต่ละชุมชนหมู่บ้าน แต่ละจังหวัด ครอบครัวเราคือชาว โคก หนอง นา เขาทำกันอย่างไร อยู่กันแบบไหน ทำแล้วประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกรมพัฒนาชุมชนในฐานะเจ้าของโปรเจคนี้ มีส่วนขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง

            ตอนหน้าเริ่มต้นด้วย “จังหวัดขอนแก่น”  รอติดตามครับ..

Leave a Reply