กางแนวทาง “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ปี’64

          หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด -19 ระลอกใหม่ มีการแชร์คำประกาศของกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2563 อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนคนไทยรู้แนวทางปฎิบัติเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะมาถึงนี้ ตามคำประกาศของกระทรวงวัฒนธรรมประจำปี 2564 เว็บไซต์ข่าวศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม “เดอะบุ๊ด” ของลงรายละเอียดดังนี้

        เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” สรุปสาระสำคัญดังนี้

          1.สงกรานต์วิถีใหม่ หมายถึง การดำเนินการจัดงานตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ขณะเดียวกันก็คำนึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีสงกรานต์ และการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         2.สืบสานวัฒนธรรมไทย หมายถึง การอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ที่ทรงคุณค่า สาระอันดีงาม และการปฏิบัติตามแบบของประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและกัน และบรรยากาศแห่งการแสดงความกตัญญูที่สามารถแสดงออกได้ ต่อพระพุทธศาสนา ครอบครัว บรรพบุรุษ บิดามารดา และผู้มีพระคุณ เช่นการเข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม การทำบุญตักบาตร การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่

แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ 2564

การรณรงค์เรื่อง “สงกรานต์วิถีใหม่”

        1.ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์แบบฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ งดเว้นการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและมีการสัมผัสกันใกล้ชิด

       2.ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทางให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่องหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม

       3.ดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของ ศบค. ดังนี้

        การจัดพิธีรดน้ำดำหัว ขอให้ยึดถือตามมาตรการ DMHT (T:Tracking) หลีกเลี่ยงการจัดในที่คับแคบ หรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ตามขนาดของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร และการรดน้ำ ให้มีการเรียงแถวเข้ารดน้ำแบบเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยทุกคน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน

     การจัดงานสงกรานต์ ขอให้ยึดถือตามมาตรการ DMHT (T:Tracking) ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี และในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ได้แก่ งดรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ งดการจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันใกล้ชิด ได้แก่ งดประแป้ง งดการเล่นปาร์ตี้โฟม หลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยง และสังสรรค์ในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่

    4.การขอความร่วมมือองค์กร/หน่วยงานผู้จัดงาน ดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. และขอความร่วมมืองดดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

    5.กิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

การรณรงค์เรื่อง “สืบสานวัฒนธรรมไทย”

      1.ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม

     2.ขอความร่วมมือจากประชาชนในการสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ ขอพรผู้สูงอายุ

    3.รณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ

    4.การขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการ แสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

         ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่างๆ ทั้ง 17 หน่วยงาน มีความเชื่อมั่นว่าการประสานความร่วมมือในการบูรณาการแนวทางและมาตรการรณรงค์ ตามแนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” จะก่อให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีสงกรานต์ให้คงคุณค่า สาระ และความงดงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันอุบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อไป.

 

Leave a Reply