“ผู้ประสาน UN”ปลื้ม! ถังขยะลดโลกร้อนผลงานมท. ส่งเป้าหมาย SDGs สำเร็จอย่างยั่งยืน

ปลัด มท. นายกแม่บ้าน มท. และผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ประชุมร่วมผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ ชูเป้าหมาย SDGs ข้อ 17 ทำงานแบบ Partnership ส่งเสริมบทบาทของ “ทีมอำเภอ” เน้นย้ำ “ผู้ว่าฯ นายอำเภอ” ต้องเป็นผู้นำบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้อำนวยการกลุ่มงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาผลักดันขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาค ด้วยการเสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนและทรงงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยทรงนำในเรื่องของ “ผ้าไทย” เป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืนในชีวิตของประชาชนในถิ่นชนบท ซึ่งในวันนี้เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ จึงเป็นโอกาสดีของพี่น้องประชาชนจังหวัดเชียงรายและจังหวัดภาคเหนือ หลังจากเสด็จทรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรกของปีที่จังหวัดสกลนคร ภาคใต้ที่จังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ ด้วยเพราะพระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหน้าที่ให้เกิดการยอมรับนับถือจากพี่น้องประชาชนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มุ่งมั่นสร้างความผาสุกให้กับสังคม สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการประชุมร่วมกันของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงท่านนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายในวันนี้

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่น ทุ่มเท สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทรงงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งทรงเชื้อเชิญให้ดีไซเนอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า ด้านสีธรรมชาติ และด้านที่เกี่ยวข้องระดับแนวหน้าของประเทศ การพระราชทานพระดำริปรับปรุงรูปแบบผ้า และทรงมุ่งเน้นให้คนทำผ้าได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องการ “พึ่งพาตนเอง” ทั้งเรื่องวัตถุดิบ ที่ไม่พึ่งพิง ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่มาจากโรงงาน ด้วยการหาซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในประเทศเราเอง โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำมาดำเนินการนำร่องที่ตลาดเส้นไหม เส้นฝ้าย ในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพราะเรื่องใหญ่ที่พระองค์ทรงมุ่งเน้นและทรงทำให้พวกเราได้ประจักษ์ คือเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อมของโลกใบเดียวนี้ของพวกเรา” อันเป็นพระวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ทั่วโลกกำลังมุ่งมั่นขับเคลื่อนไปพร้อมกัน นั่นคือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยพระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขอรับพระราชทานพระอนุญาตเชิญมาประยุกต์ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 โดยคัดเลือกหมู่บ้านที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดจากฐานข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (จปฐ. และ กชช.2ค.) ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน และมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งด้านน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน การสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกผักสวนครัว การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กเล็กให้เติบโตอย่างถูกสุขลักษณะ การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ความรู้รักสามัคคี การรักษาขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ของคนในชุมชน โดยย้ำ “Sustainable Village ไม่ได้มีตัวชี้วัดว่า มีอาคารบ้านเรือนใหญ่โตหรือการมีรถยนต์หรู ๆ ขับ แต่เราวัดกันที่ “หมู่บ้านที่ผู้คนมีความสุข มีความพอใจ และมีโอกาสที่ดีในชีวิต หรือ Gross Village Happiness (GVS) : ความสุขมวลรวมของคนในหมู่บ้าน” ซึ่ง GVS จะเกิดได้ต้องมีพื้นฐานเหมือนกันที่สะท้อนมาจากการบูรณาการ โดย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และ “นายอำเภอ” ต้องเป็น “ผู้นำ” บูรณาการ “คน” และ “งาน” ของทุกกระทรวง “เพราะงานของทุกกระทรวงในระดับพื้นที่คืองานของชาวมหาดไทย” เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานของความสุข นำข้อมูลที่สำคัญที่ได้ช่วยกันสำรวจ คือ “ThaiQM” มาใช้ในการวางแผนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน โดยมี “ทีมอำเภอ” ได้แก่ 1) ทีมที่เป็นการทางการ จัดตั้งตามกฎหมาย คือ ปลัดอำเภอประจำตำบล ข้าราชการประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กม. อปท. และ 2) ทีมจิตอาสา อันประกอบด้วย ท่านนายอำเภอ และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ขยายผลสร้าง “ทีมตำบล” “ทีมหมู่บ้าน” และทำให้มีระบบ “คุ้ม” หรือ “หย่อม” ให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน ทั้งนี้ มท. ได้ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนา “ทีมอำเภอ” ภายใต้ชื่อ “โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” เกินกว่าร้อยละ 50 แล้ว จึงขอให้ผู้ว่าฯ หมั่นลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน ไปให้กำลังใจทีมเหล่านี้ และจัดเวทีให้ท่านนายอำเภอได้อรรถาธิบาย นำเสนอแนวคิดในการประชุมกรมการจังหวัด เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชมรมธนาคาร ฯลฯ ได้รับรู้รับทราบและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนา อันสอดคล้องกับ SDGs ข้อ 17 ทำงานแบบ Partnership ทำให้ “ทีมเข้มแข็ง” เพื่อประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ “ความสำเร็จอยู่ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทุ่มเททำให้เกิดระบบ เกิดทีม เพื่อให้ทีมหรือระบบนั้น ได้ส่งต่อ Change for Good ไปสู่พี่น้องประชาชนให้เกิดความสุขได้อย่างทันท่วงทีและยั่งยืน ดังที่พวกเราทุกคนได้ยึดมั่นรักษาคำมั่นสัญญา” “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทย ร่วมกับสหประชาชาติ “โลกนี้เพื่อเรา”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทยมุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในทุกเรื่องเคียงข้างท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน อย่างยั่งยืน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่เกิดเป็นรูปธรรม คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการถวายงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ “ผ้าไทย” ในทุกมิติ เช่น ที่จังหวัดสกลนคร “ดอนกอยโมเดล” เป็นพื้นที่ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานพระดำริพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกรูปแบบ ทั้งการย้อมสีธรรมชาติ การใช้คราม การพัฒนาโทนสี และที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวไทยทั้งประเทศ คือ พระองค์ได้พระราชทานลายผ้า คือ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และลายต่าง ๆ ทำให้ เช่น บ้านดอนกอย จากเดิมชาวบ้านมีรายได้ 700 บาท/คน/เดือน เป็น 10,000-15,000 บาท เพราะ “เราไม่ได้ไปให้ปลา แต่เราไปสอนวิธีการตกปลา ซึ่งในวันนี้เราเห็นความยั่งยืนที่ชัดเจนมาก เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ พระองค์ท่านได้พระราชทานผ้าลายล่าสุด “ลายดอกรักราชกัญญา” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องประชาชนพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ “ผ้าบาติก” ที่จากเมตรละ 200-300 บาท ตอนนี้เมตรละ 2,000 – 3,000 บาท และยอดสั่งซื้อสั่งจองก็ทำแทบไม่ทัน รวมไปถึงการขับเคลื่อนน้อมนำพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ครบ 100% ทุกจังหวัด และจะขยายผลสู่ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และเรื่องถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่ตอนนี้เรามีความก้าวหน้า โดย 4 จังหวัดนำร่อง คือ ลำพูน เลย อำนาจเจริญ สมุทรสงคราม ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ว่าช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดคาร์บอนเครดิต และสิ่งที่หมักสามารถเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีให้กับผักที่ปลูก โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้ก็สามารถนำไปขายได้เงินกลับคืนสู่ชุมชน และในวันที่ 20 ก.พ. นี้ จะมีการลงนาม MOU ระหว่าง พช. กับ TGO ในการน้อมนำแนวพระดำริ “ย้อมสีธรรมชาติในผ้า” ทดแทนการใช้สีเคมีที่จะส่งผลให้เกิดการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษลงดิน ลงน้ำ โดยจะประเมินว่าการย้อมสีธรรมชาติในผ้า จะลดก๊าซเสียได้เท่าไหร่ และจะทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CFP) ในการย้อมสีธรรมชาติด้วย ซึ่งสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนทุกเรื่องที่กล่าวมานี้ให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนไปด้วยกัน

ด้าน Mrs. Gita Sabharwal ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนหลอมรวมนำสังคมและชุมชนเดินหน้าพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันกับ UN ด้วยการยึดมั่นหลักการ Change for Good ขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 ข้อ ทำให้ทุกส่วนได้มีส่วนร่วมพัฒนาด้านต่าง ๆ สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวัน โดยทีม UN ทั้ง 21 หน่วยในประเทศไทย ได้ร่วมกันขับเคลื่อน 3 วาระสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนา Digital เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No One Behind) ซึ่งผลงานที่สำคัญของ มท. ในเรื่องการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนมีส่วนสำคัญในการลดคาร์บอนที่สอดคล้องกรอบอนุสัญญา UN ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของ UN ได้ให้ความสนใจ และจะได้หาโอกาสร่วมพูดคุยปรึกษาหารือเรื่องประเด็นการลดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยร่วมกับ มท. พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมการดำเนินงานตาม Statement of Commitment to Sustainable Thailand ที่ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศได้ลงนาม เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ UN ได้ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และจะทำให้ประเด็น SDGs ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน “โครงการยกระดับเกษตรกรอำเภอเชียงของด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่” โดยยกระดับ “ต้นน้ำ” ด้วยการ upskill และ reskill การใช้เกษตรอินทรีย์ ทั้งการเติมเรื่องการแปรรูป การใช้นวัตกรรม โดย ม.แม่ฟ้าหลวง พระ และเครือข่ายตลาดล้านเมือง สนับสนุน “กลางน้ำ” เกิดการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ทั้งชมรมโรงแรม ชมรมร้านอาหาร โรงพยาบาล และ “ปลายน้ำ” เรื่องการตลาด อบรมทำแพลตฟอร์ม ขายออนไลน์ และทำเกษตรท่องเที่ยว ใน 2 ตำบล คือ ต.สถาน และ ต.ริมโขง ต่อเนื่องจาก 3 ตำบล (ครึ่ง บุญเรือง ศรีดอนไชย) ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่เป็นอำเภอนำร่อง ผลความเปลี่ยนแปลง คือ ทุกส่วนราชการและทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่มีความตื่นตัว และระดมลงขันเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรในทุกด้านเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

Leave a Reply