ปลัดมหาดไทย ปลุกขวัญ  “ปลัดอำเภอ”  กว่า 8,400 คน ใน 878 อำเภอทั่วประเทศ ต้องเป็น “ราชสีห์ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน”  สนองพระปณิธาน “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”

วันนี้ 2 ก.ค. 66  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึง การขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทยด้วยกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอผู้เปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรีของพื้นที่อำเภอ” ที่ต้องเป็นผู้นำทีมบูรณาการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้สังคมในพื้นที่อำเภอเกิดความผาสุก พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้จุนเจือเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว มีการพึ่งพาตนเอง อันจะส่งผลให้ชีวิตมีความสุขที่ยั่งยืน

“ถึงแม้ว่าเราทุกคนจะยอมรับนับถือบทบาทของท่านนายอำเภอในฐานะ “ผู้นำของพื้นที่” แต่ทว่า ผู้นำเพียงคนเดียวนั้นไม่สามารถจะขับเคลื่อนงานการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้เกิดกับพี่น้องประชาชนทุกคนได้ จำเป็นต้องมี “ผู้ช่วยนายอำเภอ” ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน “รองนายกรัฐมนตรีของพื้นที่อำเภอ” นั่นคือ “ปลัดอำเภอ” เป็นผู้ทำหน้าที่สนับสนุนภารกิจของท่านนายอำเภอในการกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของทุกกระทรวง ทบวง กรมในพื้นที่อำเภอ ซึ่งพี่น้องประชาชนมักจะเรียกว่า “ปลัด” บ้าง หรือ “ป.” บ้าง ซึ่งคำเรียกเหล่านี้ เป็นคำยกย่องที่เกิดจากความชื่นชม ความเคารพศรัทธา และการให้เกียรติปลัดอำเภอ ในฐานะที่เป็น “นายอำเภอน้อย” ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน เป็นผู้นำทีมตำบล หรือเรียกว่า “ปลัดตำบล” “ปลัดอำเภอประจำตำบล” โดยมี ข้าราชการท้องที่ประจำตำบล อาทิ พัฒนากร สาธารณสุข เกษตร ครู ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นทีมของปลัดอำเภอ ที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของพื้นที่ ทั้งงานอำนวยความเป็นธรรม งานรักษาความสงบเรียบร้อย การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ หนี้นอกระบบ การเกษตร การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และประการสำคัญ คือ การเสริมสร้างพลังความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้าน ให้ได้ร่วมหารือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมรับผลประโยชน์ร่วมกัน “ปลัดอำเภอ” จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นผู้นำการประสานสัมพันธ์ของคนในตำบล/หมู่บ้าน ที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการงานพื้นที่ เพื่อสนองตอบต่อปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ เช่น ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย ปัญหาราคาพืชผลด้านการเกษตรตกต่ำ ปัญหาข้อเรียกร้องและปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในระดับพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ปลัดอำเภอมีบทบาทและภารกิจหน้าที่เกี่ยวข้องกับประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย” คำกล่าวที่ว่า นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ทำงานวันละ 24 ชั่วโมงนั้น จึงไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะคนที่จะมาสอบบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่ง “ปลัดอำเภอ” นั้น ทุกคนล้วนมี “ใจ” หรือ Passion หรือ ปณิธานอันแน่วแน่หาญกล้าที่จะมาเป็น “ผู้รับใช้ประชาชน” ด้วยการมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าอ่านหนังสือตำราต่าง ๆ จนได้มาเป็น “ปลัดอำเภอ” ลงไปทำงานในพื้นที่ทั้ง 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,086 หมู่บ้าน เพื่อที่จะเป็น “นักปกครอง” ที่มีความรอบรู้และความตั้งใจในการทำงานเพื่อประชาชนโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของเวลาในการทำงาน เพราะประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียภาษีให้กับราชการเพื่อเป็นเงินเดือนให้กับปลัดอำเภอและข้าราชการทุกคนโดยไม่หักวันหยุดราชการ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ปัญหาของพี่น้องประชาชนไม่ได้เลือกว่าจะเกิดในเวลาราชการ หรือจะเกิดในเวลาใด ดังนั้น “ทุกเวลาจึงเป็นเวลาแห่งการมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่รับใช้ประชาชนของปลัดอำเภอ”

“แต่ทว่า ด้วยพลวัตของสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากปัจจัยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้ทวีคูณสภาพปัญหาให้ยุ่งยากซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ปลัดอำเภอ” จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานในพื้นที่ด้วยการลงพื้นที่ไปใช้ความรู้ความสามารถขั้นสูงขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชนในตำบล/หมู่บ้าน แต่สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่กลับพบว่า “ปลัดอำเภอ” มักจะทำงานอยู่บนที่ว่าการอำเภอ ทำงานบนโต๊ะทำงาน อยู่กับเอกสาร สั่งการด้วยปากกา ไม่มีเวลาลงพื้นที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความเหินห่าง ขาดผู้นำการแก้ไขปัญหาหรือประสานงานเพื่อนำปัญหาสะท้อนกลับมายังท่านนายอำเภอ หรือท่านผู้ว่าราชการจังหวัด จนทำให้ในหลายปัญหาเกิดการบานปลาย บางพื้นที่พี่น้องประชาชนต้องไปสะท้อนปัญหาความต้องการผ่านภาคีเครือข่ายสื่อสารมวลชน ผ่านสื่อออนไลน์ จนเกิดเป็นกระแสของสังคมออนไลน์ แล้วทางอำเภอจึงจะลงไปตอบสนองต่อปัญหาเหล่านั้น ทำให้เกิด “ช่องว่างแห่งศรัทธา” ของพี่น้องประชาชนต่อฝ่ายปกครองของพื้นที่อำเภอ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่ “ปลัดอำเภอ” ที่มีมากกว่า 8,400 คนทั่วประเทศ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการเป็น “ราชสีห์ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน” ด้วยการน้อมนำพระโอวาทขององค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงประทานไว้ว่า “ทำงานจนร้องเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” อันหมายความว่า ต้องหมั่นลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน ไปสอบถาม ไปพูดคุย ไปติดตามถามไถ่ ไปใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่นั่งทำงานอยู่บนออฟฟิศ ทำงานนั่งบนเก้าอี้ เพียงอย่างเดียว จนกางเกงขาด” เพราะงานของปลัดอำเภอที่แท้จริง คือ การทำงานคลุกคลีตีโมงกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ลงไปค้นหาปัญหาในตำบล/หมู่บ้าน ไม่ใช่นั่งทำงานบนสำนักงานเพื่อรอรับรายงานปัญหา ต้องเห็นพี่น้องประชาชนเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ เป็นเหมือนญาติพี่น้อง ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” และเมื่อทุกคนคือญาติพี่น้อง ย่อมมีความปรารถนาดีต่อกัน มีความรัก ความอบอุ่น และความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

“เฉกเช่นที่จังหวัดนครพนม ภายใต้การนำของท่านวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้ทำหน้าที่เสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ผู้ซึ่งบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่ง “ปลัดอำเภอ” ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและมองเห็นว่า “ปลัดอำเภอในปัจจุบัน” มิใช่เป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เป็น “ปลัดอำเภอรุ่นน้อง” ที่ปลัดอำเภอรุ่นพี่อย่างท่านผู้ว่าฯ วันชัย ได้เป็นผู้นำการถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ด้วยการบ่มเพาะทักษะประสบการณ์ วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมองค์กร ของการเป็น “ฝ่ายปกครอง” รู้จักการ “ครองตน ครองคน และครองงาน” มีระเบียบวินัย ยึดระเบียบแบบแผน รักษาจรรยาบรรณ รักษาคุณธรรมนักปกครอง เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองที่สามารถเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี เป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อุทิศทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ดังนิทาน เรื่อง “แขนงไม้ไผ่” ที่หากมีทั้ง 7 แขนงก็จะแข็งแกร่งมีพลัง ถ้ามีแขนงเดียวก็หักง่าย โดยทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมกันทำสิ่งที่ดี ร่วมกัน Change for Good ให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชน โดยมี “ทีมอำเภอ” อันประกอบด้วยทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และข้าราชการประจำอำเภอ และทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทำให้หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” อันเป็นแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเน้นย้ำว่า “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือ การทำ Sustainable Village การสร้างหมู่บ้านยั่งยืน”  โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1) ทุกครัวเรือนต้องมีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยกันน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยปลัดอำเภอทุกคนต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” เป็นต้นแบบความมั่นคงด้านอาหาร ใช้บ้านพัก ใช้ที่ว่าการอำเภอเป็นที่เริ่มต้น เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนนำไปเป็นแบบอย่างในการปลูกผักสร้างความมั่นคงด้านอาหารในทุกครัวเรือน 2) บ้านเรือนทุกหลังมีความสะอาด มีการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน 3) บ้านเรือนมีความแข็งแรง ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ 4) สร้างทีมตำบลแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนที่เข้มแข็ง โดยปลัดอำเภอ เป็นผู้นำในการบริหารจัดการงานทุกกระทรวงในพื้นที่ตำบลให้เกิดผลสำเร็จและประโยชน์ 5) นำระบบคุ้มบ้านมาแบ่งกลุ่มย่อยในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการทำงานที่เกิดประโยชน์กับประชาชน ทำให้ดูแลได้อย่างใกล้ชิด มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำคุ้มช่วยงานหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ทำให้คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมปรึกษา และมีการถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานให้รู้จักเคารพผู้ใหญ่ ฯลฯ 6) ทุกคนในหมู่บ้าน มีความรู้รักสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน 7) ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบตำบล ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดี ทำความดีด้วยการเท้าติดดิน ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น ไปติดตามคนที่ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด ติดตามการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน การรณรงค์ส่งเสริมคนใช้แอปพลิเคชั่น ThaID เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทย คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ปลัดอำเภอ” ใน 878 อำเภอทั่วประเทศ จะเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจสนองแนวพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการทำงานตามหลัก “บวร บรม ครบ” ยึดพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง (Citizen Centric) ทำงานแบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด และหากปลัดอำเภอทุกคนช่วยกันทำทุกหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ไปหาประชาชน “ตำบลยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้” โดยตนขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้แก่ปลัดอำเภอทุกคน ขอให้มีความมั่นใจ และมุ่งมั่นที่ Change for Good ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ และคิดถึงวันที่ทุกคนเข้ามาเป็นปลัดอำเภอในวันแรก ทำให้ความฝันความตั้งใจเหล่านั้น เกิดเป็นการทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างแท้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะ “ปลัดอำเภอ คือ ที่พึ่งของพี่น้องประชาชนทุกคน”

Leave a Reply