‘เศรษฐี’ ในพระไตรปิฎก ความร่ำรวยที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

คำว่า ‘เศรษฐี’ ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ‘เศรษฐิน’ หมายความว่า บุคคลที่ดีที่สุด เป็นผู้นำ มีชื่อเสียง และมีเกรียรติ ในขณะที่ภาษาบาลีจะตรงกับคำว่า ‘เสฏฐี’ หมายความว่า ผู้มีทรัพย์มาก เป็นนายธนาคาร เป็นผู้อยู่ในเมือง เป็นพ่อค้าผู้ร่ำรวย และเป็นหัวหน้ากลุ่มอาชีพต่าง ๆ

เศรษฐีมาจากวรรณะแพศย์ที่มีฐานะร่ำรวย ได้แก่พวกพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน และอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างทอ ช่างทอง ช่างจักสาน ช่างปั้นหม้อ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้เมื่อผลิตสินค้าจะนำไปขายด้วยตนเอง จึงรวมอยู่ในกลุ่มพวกพ่อค้า

อาชีพของเศรษฐีมักทำการค้าขาย บรรทุกสินค้าลงเกวียนค้าขายระหว่างเมือง หรือเป็นผู้ควบคุมระบบการเงินการค้า ฯลฯ แต่เศรษฐีที่ทำนาก็มี เช่น จากเรื่องกุรุธรรมชาดก กล่าวถึงเศรษฐีมีไร่ข้าวสาลี, จากพระธัมมปทัฏฐกถา กล่าวถึงนายปุณณะ ผู้ทำงานรับจ้างอยู่ที่บ้านของสุมนเศรษฐี ได้ออกไปไถนาให้เศรษฐีในวันนักขัตฤกษ์ หรือจากเรื่องนางวิสาขา ตอนที่นางจะเดินทางไปอยู่บ้านสามี ธนัญชัยเศรษฐีผู้เป็นพ่อได้ให้เงินและสิ่งของต่าง ๆ ไปด้วย เช่น โคจำนวนมาก อุปกรณ์ทำนา ไถ ผาล เป็นต้น

วรรณะแพศย์จึงเป็นกลุ่มที่ร่ำรวยจากการค้าขาย บางคนถึงขั้นเศรษฐีมีทรัพย์มาก ฐานะทางสังคมเลื่อนสูงจนเกือบทัดเทียมวรรณะพราหมณ์เลยทีเดียว แต่ในพุทธศาสนามักไม่กล่าวถึงเรื่องชนชั้นวรรณะมากนัก จะกล่าวถึงวรรณะแพศย์ว่าเป็นพวก ‘คหบดี’ ซึ่งเศรษฐีในพระไตรปิฎกก็มักเป็นกลุ่มคนที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ชอบทำบุญทำทาน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาหลายด้าน

อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เดิมชื่อสุทัตตะเกิดในครอบครัวเศรษฐี ทำการค้าขายกับต่างเมือง จึงรู้จักคุ้นเคยกับเมืองราชคฤห์เป็นอย่างดี (เมืองของภรรยา) เลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าสีตวัน ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาบัน ปวารณาตัวเป็นอุบาสก นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ซื้อที่ดินจากสวนเชตวันของเจ้าเชตราชกุมารมาในราคาที่แพงมาก นำมาสร้างอารามขนาดใหญ่ถวายนั่นคือ ‘เชตวนาราม’ รวมเงินค่าที่ดินและจัดงานเฉลิมฉลองอารามเป็นเงินกว่า 54 โกฏิ (1 โกฏิ = 10 ล้าน)

แต่ความร่ำรวยก็เปรียบดั่งสายน้ำ มีขึ้นย่อมมีลง อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เช่นกัน ท่านเคยทรัพย์สินร่อยหรอลงมาก เพราะให้คนกลุ่มหนึ่งกู้ยืมเงินแก่กว่า 18 โกฏิ แต่ไม่ได้คืน และทรัพย์สินของตระกูลที่ฝังไว้ใกล้แม่น้ำ ถูกน้ำกัดเซาะจนทรัพย์สินจมลงในแม่น้ำหมดสิ้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่สามารถบำรุงพระพุทธศาสนาได้ดีอย่างแต่ก่อน เช่นว่า ถวายปลายข้าวกับน้ำผักดอง แต่ก็ยังคงพยายามถวายทานแก่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุมาโดยเสมอ

อนาถบิณฑิกเศรษฐีรู้สึกไม่สบายใจที่ถวายทานได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน พระพุทธเจ้าจึงเทศนา ตรัสเวลามสูตร กล่าวถึงการถวายทานที่ได้ผลมาก มิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของว่าดีหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ถวาย และตรัสถึงเรื่องการทำทานที่ได้ผลมากให้ฟัง ต่อมาอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้กลับมาร่ำรวยอีกตามเดิม

นางวิสาขา

เป็นบุตรของธนัญชัยเศรษฐี เป็นหลานของเมณฑกเศรษฐี ในสมัยนั้นแคว้นโกศลของพระเจ้าปเสนทิไม่มีเศรษฐี พระเจ้าปเสนทิจึงขอเศรษฐีจากแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสารมาหนึ่งคน นั่นคือธนัญชัยเศรษฐี ระหว่างที่เดินทางมายังแคว้นโกศล ธนัญชัยเศรษฐีพึงพอใจสถานที่แห่งหนึ่ง จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งทรงอนุญาตสร้างเมืองบริเวณนั้น ชื่อ ‘สาเกต’

นางวิสาขาได้แต่งงานกับปุณณวัฒนะ บุตรชายของมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี ธนัญชัยเศรษฐีให้ช่างทองจำนวน 500 คน ทำเครื่องประดับชื่อ ‘มหาลคาปสาธน์’ สำหรับเจ้าสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่มีความงดงามมาก และมีราคาสูงถึง 9 โกฏิ ค่าจ้างช่างอีกกว่า 1 แสน ใช้เวลาทำนาน 4 เดือน

มิคารเศรษฐีนับถือพวกอาชีวก แต่เมื่อนางวิสาขานิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้าน มิคารเศรษฐีมีโอกาสฟังธรรมเทศนาจนเกิดเลื่อมใสตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล นับแต่นั้นจึงนับถือนางวิสาขาเป็นผู้มีบุญคุณที่ช่วยทำท่านพบแสงสว่าง มิคารเศรษฐีตอบแทนนางวิสาขาด้วยการทำเครื่องประดับชุดใหม่ให้ เห็นว่ามหาลคาปสาธน์นั้นหนัก สวมใส่ลำบาก จึงทำเครื่องประดับชื่อ ‘ฆนมัฏฐกะ’ ให้ มีราคาถึง 1 แสนกาปณะ วันมอบเครื่องประดับได้จัดงานฉลอง ให้นางวิสาขาอาบน้ำหอม 16 หม้อ และนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหารด้วย

นางวิสาขาเลื่อมใสพระพุทธศาสนามานาน นางมักนิมนต์พระภิกษุมาฉันอาหารที่บ้านวันละ 2,000 รูปทุกวัน ต่อมา นางวิสาขาได้ขายเครื่องประดับมหาลคาปสาธน์ ได้เงินจำนวนมากมาสร้างมิคาระมาตุปราสาทในบุพพารามถวายแก่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุ โดยนางได้บริจาคทรัพย์ซึ่งรวมค่าซื้อที่ดินสร้างปราสาท และใช้ในการฉลองเป็นเงินทั้งสิ้น 27 โกฏิ

นางวิสาขาได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นมหาอุบาสิกาที่เชื่อถือได้ ด้วยเหตุที่นางวิสาขาถวายของต่าง ๆ แก่พระพุทธศาสนามากมาย จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเลิศในทางถวายทานฝ่ายอุบาสิกา

โฆสกเศรษฐี

โฆสกเศรษฐี เป็นผู้มั่งคั่งแห่งเมืองโกสัมพี ใฝ่ใจทำบุญและบริจาคทานมาก ทั้งนี้เพราะในวัยเยาว์ใช้ชีวิตมาอย่างยากลำบาก เนื่องจากชาติกำเนิดมิได้เกิดในครอบครัวเศรษฐี มารดาเป็นโสเภณี หลังจากคลอดจึงนำท่านไปทิ้งที่กองขยะ มีผู้พบจึงนำไปเลี้ยง ต่อมาเศรษฐีคนหนึ่งซื้อโฆสกเศรษฐีมาเลี้ยงดูในราคา 1 พันกหาปณะ เพราะทราบคำทำนายว่าเด็กที่เกิดในวันที่โฆสกเศรษฐีเกิด ในภายหน้าจะเป็นเศรษฐีผู้ประเสริฐ

เศรษฐีผู้นี้หมายมั่นว่า หากภรรยาที่กำลังใกล้คลอดได้บุตรเป็นหญิง ก็จะให้แต่งงานกัน ปรากฏว่าภรรยาคลอดได้บุตรชาย เศรษฐีจึงคิดกำจัดโฆสกเศรษฐีเพราะต้องการให้บุตรชายได้ตำแหน่งต่อจากตน แต่พยายามหลายครั้งก็กำจัดโฆสกเศรษฐีไม่สำเร็จ จนในท้ายที่สุดโฆสกเศรษฐีก็ได้เป็นทายาทสืบต่อตำแหน่งเศรษฐี

ภายหลังโฆสกเศรษฐีทราบความจริงว่าเศรษฐีซึ่งพ่อบุญธรรมของท่านพยายามฆ่าท่านมาหลายครั้งหลายคราว จึงรู้สึกว่าตัวเองมีกรรมมาก สมควรจะสร้างบุญกุศล จึงสร้างโรงทานแล้วสละทรัพย์วันละ 1 พันกหาปณะ เพื่อให้ทานแก่คนจนและคนเดินทางไกล

โฆสกเศรษฐีเป็นเพื่อนกับเศรษฐีสองคนชื่อกุกกุฏเศรษฐีและปาวาริกเศรษฐี ทั้งสามได้ฟังพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจึงเกิดความเลื่อมใส เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาจึงบรรลุโสดาบันทั้งสามคน เมื่อกลับมายังเมืองโกสัมพีจึงได้สร้างอารามถวายพระภิกษุท่านละแห่ง และให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเรื่อยมา อารามที่โฆสกเศรษฐีสร้างคือ ‘โฆสิตาราม’ แห่งเมืองโกสัมพี ถือเป็นอารามที่สำคัญแห่งหนึ่ง

จิตรกรรมพระพุทธเจ้าโปรดพระราชบิดา จิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (ภาพจาก หนังสือ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรมศิลปกร พ.ศ. 2557)

โกสิยเศรษฐี

เศรษฐีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นล้วนแต่เป็นผู้มีความคิดดี มีใจทำบุญทำทาน แต่ต่างจากโกสิยเศรษฐี ผู้ที่มีความตระหนี่ จนทำให้มีความเป็นอยู่ไม่สบายนัก แม้จะมีทรัพย์สินมากมายก็ตาม

โกสิยเศรษฐีมีทรัพย์สินกว่า 80 โกฏิ อาศัยอยู่เมืองราชคฤห์ ท่านมีความตระหนี่มาก แม้กระทั่งภรรยาและบุตรก็ไม่ได้สงเคราะห์ให้ดี ท่านยังกินและใช้แต่สิ่งไม่ดี จนได้ชื่อว่า ‘มัจฉริโกสิยเศรษฐี’ ทรัพย์สมบัติที่มีมากกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์แก่กิจการใดเลย

วันหนึ่งโกสิยเศรษฐีพบชายคนหนึ่งกำลังกินขนมเบื้อง รู้สึกอยากกินมากแต่กลับมาบ้านไม่ยอมบอกให้ใครทราบหรือให้ใครทำให้กิน เพราะกลัวว่าหากมีคนทำให้กินคนอื่นก็จะพลอยได้กินด้วย ก็จะทำให้สิ้นเปลือง เวลาผ่านไปความอยากนี้ไม่หาย โกสิยเศรษฐีกลับยิ่งซูบผอมลงจนภรรยาเห็นผิดสังเกต ซักไซร้จนได้ความว่าสามีอยากกินขนมเบื้อง นางจึงอาสาทำให้ แต่โกสิยเศรษฐีไม่ต้องการให้ทำ เพราะกลัวคนอื่นจะกินด้วย นางจึงเสนอทำแต่พอกินเฉพาะ โกสิยเศรษฐี นาง และบุตร แต่โกสิยเศรษฐีเห็นว่าภรรยาและบุตรไม่มีความจำเป็นต้องกิน ดังนั้น นางจึงทำขนมเบื้องให้โกสิยเศรษฐีเพียงคนเดียว โกสิยเศรษฐีจึงสั่งให้ขึ้นไปทำขนมเบื้องบนปราสาท 7 ชั้น ปิดประตู่ใส่กลอนทุกชั้นป้องกันคนมาขอขนมเบื้องกิน

พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ที่เชตวนารามเล็งเห็นว่าโกสิยเศรษฐีและภรรยาจะได้บรรลุโสดาบัน จึงให้พระโมคคัลลานะไปทรมาณโกสิยเศรษฐี เมื่อพระโมคคัลลานะปรากฏลอยอยู่เหนือปราสาทก็ทำให้โกสิยเศรษฐีไม่พอใจเพราะอุตส่าห์หลบมาอยู่บนปราสาทแล้ว จากนั้นได้ออกอุบายต่าง ๆ นานาไล่พระโมคคัลลานะแต่ไม่เป็นผล โกสิยเศรษฐีจึงจำยอมให้ขนมเบื้องแผ่นหนึ่งเพื่อตัดรำคาญ ปรากฏว่าเมื่อจะหยิบขนมเบื้องชิ้นหนึ่ง ชิ้นอื่น ๆ ก็ติดกันขึ้นมาทั้งหมด จะดึงแยกจากกันก็ไม่ออก จนโกสิยเศรษฐีเหน็ดเหนื่อยและหมดความอยากกินขนมเบื้องไปสิ้น

พระโมคคัลลานะจึงได้แสดงธรรมแก่โกสิยเศรษฐีและภรรยาจนทั้งสองเกิดความเลื่อมใส แล้วจึงพาทั้งสองมายังเชตวนารามเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์จึงบรรลุโสดาปัตติผลทั้งสองคน นับแต่นั้นโกสิยเศรษฐีก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา เลิกเป็นคนตระหนี่ หันมาทำบุญทำทานเป็นประจำ นำทรัพย์สินมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยความเต็มใจ

จิตตเศรษฐี

จิตตเศรษฐีเป็นผู้ที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนามากอีกคนหนึ่ง ความพิเศษอย่างหนึ่งของเศรษฐีผู้นี้คือ ท่านมีความรู้ในพระธรรมมาก บรรลุถึงขั้นอนาคามี มีความสามารถในด้านการแสดงธรรมจนได้รับการยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมฝ่ายอุบาสก

จิตตเศรษฐีใจบุญสุนทาน เป็นที่นับถือของประชาชน ท่านอุปถัมภ์พระศาสนาด้วยการทำบุญทำทานอย่างสม่ำเสมอ บริจาคสวนมะม่วงของตนสร้างอารามที่ ‘อัมพาฏกวัน’ จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก เป็นอุปัฏฐากแก่สงฆ์

นอกจากเศรษฐีทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว ยังมี โชติกเศรษฐีแห่งเมืองราชคฤห์ ที่ได้บวชเป็นภิกษุจนบรรลุพระธรรมถึงพระอรหันต์, ชฎิลเศรษฐีแห่งแคว้นมคธ ที่ได้บวชเป็นภิกษุจนบรรลุพระธรรมถึงพระอรหันต์เช่นกัน, ปุณณเศรษฐี และกากวัลลิยเศรษฐี เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เศรษฐีเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าจึงเกิดความเลื่อมใส จึงยินดีสละทรัพย์สินเพื่อทำนุบำรุงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในทุกด้าน เช่น การถวายภัตตาการ ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนการสร้างอารามถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุ โดยเฉพาะ เชตวนามราม สถานที่สำคัญมากที่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่นี่นานถึง 19 พรรษา ซึ่งมากกว่าที่อื่น ๆ

 

ที่มา : https://www.silpa-mag.com

ผู้เขียน เสมียนอารีย์

Leave a Reply