ปลัดมหาดไทย มอบรางวัลผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP ต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่สากล  “สามเณร” จากจังหวัดปัตตานีติด “รางวัลขวัญใจคณะกรรมการ”

วันที่ 25 ส.ค. 66 เวลา 13.30 น. ที่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 3 โซนหน้า Celebrity Fitness กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP ที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ที่ชนะการประกวดผลงาน และมอบประกาศนียบัตรให้กับเยาวชน Young OTOP ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการตัดสินการประกวดผลงานฯ ได้แก่ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WASHARAWISH ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเยาวชนกลุ่มทอผ้า พร้อมด้วยผู้ประกอบการ ผู้สมัครเข้าประกวด และนักท่องเที่ยว ร่วมในงาน

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบโล่และเงินรางวัลแก่ผู้ที่ชนะการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายเนติพงศ์ กระแสโสม กลุ่มอาชีพทอเสื่อกกเนต จังหวัดชัยภูมิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ นายธณกร สุขเมตตา ME-D นาทับ จังหวัดสงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ นางสาวเปมิกา เพียเยง จังหวัดลพบุรี รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) นายวริศพล สีเทียม กลุ่มคุณโด่งผ้าทอน้ำอ่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ 2) นางสาวดุจกมล จันทรเกษม Pawana Design จังหวัดเชียงใหม่ 3) นายกิตติศักดิ์ วิลันดร กลุ่มจักสานวัสดุธรรมชาติ จังหวัดหนองคาย และรางวัลพิเศษขวัญใจคณะกรรมการ จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ 1) สามเณรสุธานน ทองคำ ห้องหัตถกรรม จังหวัดปัตตานี 2) นางสาวปริญญ์สิริ เขียวไกร กลุ่มผ้าทอลายมงคลมนตราธิกาญจน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 3) นายจิตรกร เล็กกุล อันดามันบาติกกระบี่ จังหวัดกระบี่ 4) นายธนัชชา ทองเหมาะ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองไทหล่ม จังหวัดเพชรบูรณ์ และมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้แทนกลุ่มทอผ้าที่เข้าร่วมการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP ที่ได้รับการพัฒนา ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล จำนวน 34 ราย

“นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานโล่รางวัล “ต้นกล้านารีรัตน” ให้กับผู้ที่ชนะการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP ในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้ขอรับพระราชทานชื่อรางวัล “ต้นกล้านารีรัตน” อันเป็นมงคลนามนี้ มาเป็นชื่อโครงการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน เป็นหลักชัยที่จะต่อยอดโครงการไปสู่รุ่นต่อรุ่น ให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน เป็นสิริมงคลต่อชีวิตข้าราชการผู้สนองงาน เป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจ และเป็นโอกาสที่ดีในชีวิตของพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมยินดีในความสามารถของน้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต และได้มาพบปะ รับฟังข้อเสนอแนะ คำแนะนำจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้ความสามารถ ที่มาให้โอกาสพัฒนาทักษะ มาให้คำแนะนำ ในการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP อันเป็นการสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “ต่อยอด” ภูมิปัญญาผ้าไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่ง “คนรุ่นใหม่” ถือเป็นกำลังสำคัญในการน้อมนำพระปณิธานสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก ให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของเยาวชนไทยในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สะท้อนถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งล้วนแล้วแต่หนุนเสริมเติมคุณค่าให้กับชิ้นงานและให้กับตนเองยิ่งขึ้น ดังนั้น เยาวชนทุกคนที่มาประกวดในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้มีความกตัญญูอย่างยิ่งต่อบรรพบุรุษไทยด้วยการปฏิบัติบูชา ธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของคนไทยที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจนสัมผัสได้อย่างเห็นได้ชัดในช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ สายธารแห่งพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ในการช่วยทำให้พี่น้องศิลปาชีพ OTOP และ Young OTOP ได้มีโอกาสที่ดีในการพัฒนาต่อยอดทักษะผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญ คือ การผลิตชิ้นงานให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคนำไปสู่การเพิ่มความต้องการในการซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนของคนไทยได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดความยั่งยืนต้องได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาองค์ความรู้ไปสู่ลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการที่พระองค์ได้พระราชทานพระกรุณาให้ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นสมัยใหม่ ทั้งด้านการตัดเย็บออกแบบและการพัฒนาศิลปหัตถกรรมได้ลงไปสู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย จนทำให้ผ้าไทยสามารถพัฒนาต่อยอดเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด และนอกจากนี้พระองค์ยังทรงแสดงถึงพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยไปสู่การพัฒนาอย่างความยั่งยืน ตามพระดำริ “Sustainable Fashion” ซึ่ง กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำพระปณิธานต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทยไปสู่การดำเนินงานคาร์บอนฟุตพริ้นส์และการคิดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวงจรการผลิตผ้าไทยทั้งวงจรได้ตระหนักและคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาตามหลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) ในการผลิตให้มากขึ้นในอนาคต เพื่อสนองพระปณิธานของพระองค์ที่จะช่วยให้โลกสวยงามใบเดียวนี้ได้มีอายุยืนยาวอยู่คู่กับลูกหลานในอนาคต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า แม้ว่าทุกคน ณ ที่นี้ จะไม่ได้รับรางวัล แต่ทุกคนได้รับโอกาสที่ดีของชีวิตในการมาสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมหัตถศิลป์ไทย ยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง และแม้ว่าทุกชิ้นงานที่เห็นในวันนี้จะสวยสดงดงามและดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท คือ การช่วยกันยกระดับและพัฒนาสิ่งที่เป็นแบรนด์ (Branding) ทั้งการออกแบบดีไซน์ โลโก้ตราสัญลักษณ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงชื่อของแบรนด์ที่จะสามารถสื่อไปยังผู้บริโภคให้เป็นที่จดจำและเข้าใจถึงความหมาย และเป็นการรีแบรนด์ให้ผลงานมีความสากลมากยิ่งขึ้นดังที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นต้นแบบการพัฒนา อาทิ ดอนกอยโมเดล และนาหว้าโมเดล จึงขอให้ลูกหลานผู้เข้าร่วมการประกวดและสืบทอดภูมิปัญญาไทยทุกคน จงนำสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานนี้ มาเป็นกำลังใจในการมุ่งมั่นพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่นอกจากจะมีพรสวรรค์ มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ทุกคนต้องใช้ความอดทน ความเพียรพยายาม และความประณีตบรรจง ในการผลิตชิ้นงานเพื่อยกระดับให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ร่วมกันยกระดับผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นงานไปสู่สากล เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้พวกเราทุกคนที่กำลังจะเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ยังต่างประเทศ นำสิ่งที่ดีมาพัฒนาต่อยอดในชิ้นงานของตนเองให้เกิดประโยชน์ในทุกด้าน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ในนามของผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยทุกท่าน ขอชื่นชมยินดีและเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนด้วยใจจริง และขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการจนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย คือ การเฟ้นหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานหัตถกรรมหัตถศิลป์ภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อจะพัฒนาต่อยอดไปสู่สากลได้ในอนาคต นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยทุกคน ผ่านการสร้างผลงานที่จะกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การดำเนินโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ 1) การพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล โดยจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์ กลยุทธ์การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากลโดยดำเนินการร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้ประกอบการ Young OTOP ที่เข้าร่วมโครงการฯ และ 3) การประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ Young OTOP กิจกรรมทดสอบตลาด การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ รางวัลละ 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รางวัลละ 20,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง รางวัลละ 10,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลทั้ง 6 ราย จะได้รับพระราชทานโล่รางวัล “ต้นกล้านารีรัตน” จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อีกทั้งยังได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานพร้อมทั้งวางจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ณ ห้างสรรพสินค้า Super Brand Mall นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไป

Leave a Reply