“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์”  แนะคณะสงฆ์ควรใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้าน “มมร” ลงนาม MOU กับ กันตนา รุกคืบ “งานเผยแผ่” เชิงรุก

เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานและกล่าวสัมโมทนียกถา ในพิธีเปิดงานวันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๖ ภายใต้หัวข้อการจัดงาน “กระบวนการทัศน์พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัล” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้จัดพิมพ์ขึ้นถวายปฏิการะสนองพระเดชพระคุณของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้มีความเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมี พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวถวายรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ห้องประชุม อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาจากทั้งส่วนกลาง วิทยาเขตวิทยาลัยเข้าร่วมงานทั้งในห้องประชุม และผ่านระบบประชุมออนไลน์โดยพร้อมเพรียง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถามอบเป็นนโยบายให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยปรับกระบวนการทัศน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัลให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ คือการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว เพราะขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของชาติมีล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานั่นเอง ดังความตอนหนึ่งว่า

“ตามที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมาที่ท่านทั้งหลายพอทราบกันแล้ว เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มาร่วมเป็นกรรมการ คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเรื่องสำคัญที่ครอบคลุมหลายแขนงทั้งศาสตร์และศิลป์ทั้งความเชื่อ ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ สามารถทำได้หลายรูปแบบ   ยกตัวอย่างยังสมัยก่อนเราไม่เคยไปประเทศเกาหลีมาก่อน แต่พอมีภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่าง ๆ แสดงด้านวัฒนธรรม อาหาร จัดเข้าในข่ายของซอฟต์พาวเวอร์ ขยายผลจากส่วนเล็ก ๆ ที่มีอยู่มาเชิดชูเผยแพร่ทำให้คนไทยเดินทางไปเกาหลีกันมากขึ้น  ทำรายได้เข้าประเทศได้เช่นนี้ เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ เมืองไทยเราเหตุใดจะทำอย่างนี้บ้างไม่ได้ วัฒนธรรมประเพณีของเรามีจุดเด่นทุกภาค ทุกท้องถิ่น ล้วนมีความรักใคร่หวงแหนในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของเราอย่างมั่นคง ตราบใดที่เราอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของเราได้มั่นคง เชื่อมั่นว่าหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะคงอยู่ เพราะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง และเกิดจากการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เราจะทำอย่างไรให้วิธีการนี้เป็นกระบวนทัศน์ร่วมสมัยที่เราจะปรึกษาหารือกันให้มากในปัจจุบัน ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เป็นกำลังขับเคลื่อนและรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา และแนวปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยืนยาวและเจริญมั่นคงต่อไป   ถือได้ว่าเป็นเป็นมิติหนึ่งที่เราในฐานะพุทธสาวกโดยเฉพาะพระภิกษุควรจะต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเรามีหน้าที่ในการที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าตลอดจนทำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติด้วย”

และนอกจากนั้นภายในงานครั้งได้ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมปาฐกถาพิเศษ คือ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ปาฐกถาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในภาคการศึกษา” นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ มมร กับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน ในกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา” และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกสภาสถาบันกันตนา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พุทธศาสนนิทรรศน์”

ในช่วงท้ายของงานได้จัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  ทางวิชาการและการพัฒนานวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่สังคม ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (MBU) กับ สถาบันกันตนา (KI)  โดยมี พระเทพวัชรเมธี อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ปนัดดา ธนสถิตย์ อธิการบดีสถาบันกันตนา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในครั้งนี้

ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าวยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิชาการของคณาจารย์ นักศึกษา จากคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ภายในบริเวณชั้น ๑ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ อีกด้วย

Leave a Reply