ผู้ว่าฯลำพูน Kick Off พัฒนาพื้นที่สู่แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อน 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน

วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. ที่ วัดป่าวิสุทธิญาณมงคล บ้านดอยแก้ว หมู่ที่ 12 ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน เปิดกิจกรรม Kick Off การพัฒนาพื้นที่สู่แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี นายโยธิน ประสงค์ความดี ปลัดจังหวัดลำพูน นายประกอบ ยอดยา นายอำเภอแม่ทา พระใบฏีกามิฬ สิริวฑฺฒโณ เจ้าอาวาส วัดป่าวิสุทธิญาณมงคล หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาพื้นในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

นายอำเภอแม่ทา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) /คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกันกับ 7 ภาคีเครือข่าย บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน” เกิดผลเป็นรูปธรรม

อำเภอแม่ทา จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยบูรณาการทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมาย “หมู่บ้านยั่งยืน” ด้วยการดำเนินกิจกรรมพัฒนาสถานที่บริเวณวัดป่าวิสุทธิญาณมงคล ให้เป็นคลังอาหารของชุมชนและเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้กิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนำผลิตผล เช่น พันธุ์พืชผักสวนครัว พันธุ์พืชสมุนไพร ไปปลูกขยายพันธุ์ในพื้นที่ทุกหมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันรองรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ

ด้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ด้วยการบูรณาการ 2 ประเภท คือ 1) การบูรณาการในเรื่องของ “ทีม” ด้วยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาควิชาการ และภาคสื่อสารมวลชน และ 2) การบูรณาการในเรื่องของ “งาน” ที่มาจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในพื้นที่ เกิดเป็นทีมงานที่จะช่วยกันพัฒนาให้บ้านเมืองเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ให้จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่ “ลำพูนไม่ลำพัง รวมพลังเพื่อลำพูน”

ทั้งนี้ ขอขอบคุณ นายอำเภอแม่ทา พัฒนาการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้มีส่วนสนับสนุน และขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ดำเนินการจัดกิจกรรมฯ ให้ประสบผลสำเร็จ

Leave a Reply