นายอำเภอเบญจลักษ์ นำทีมอำเภอตรวจร่วมขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน” เน้นย้ำ ต้องรวมกลุ่ม “คุ้มบ้าน” ที่มั่นคง ควบคู่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 4 พ.ย.66 นายธนเดช พระอารักษ์ นายอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการอำเภอเบญจลักษ์ ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของนายณรงค์ เถาว์บุญ ผู้ใหญ่บ้านโนนเชียงสอน พร้อมทั้งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนร่วมกับผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้าน โดยมี นายสนองชัย โชติรัตน์ ปลัดอำเภอประจำตำบล และนายพยอม เครือบุตร กำนันตำบลหนองหว้า คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ร่วมลงพื้นที่ ณ บ้านโนนเชียงสอน หมู่ที่ 7 ตำบลหนองหว้า อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

นายธนเดช พระอารักษ์ นายอำเภอเบญจลักษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม เสริมสร้างแนวทางการพึ่งพาตนเองของประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม การถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่เด็กเยาวชน ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านชุมชนได้พัฒนาไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“อำเภอเบญจลักษ์ได้ขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” ของกระทรวงมหาดไทย ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำท้องที่ และความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” พร้อมทั้งส่งเสริมการละเล่นร้องรำทำเพลงพื้นบ้าน การถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้รู้จักการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง โดยมีข้าราชการในพื้นที่ ทั้งปลัดอำเภอ พัฒนากร ฯลฯ ตลอดจนผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คือ ความรู้รักสามัคคี เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 ทางอำเภอเบญจลักษ์ได้รับเกียรติจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่มาตรวจราชการจังหวัดศรีสะเกษ และมาพบปะตรวจเยี่ยมพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอเบญจลักษ์ พร้อมทั้งมีดำริให้พัฒนาขยายผลทำให้ทุกหมู่บ้านของอำเภอเบญจลักษ์ เป็นหมู่บ้านยั่งยืนครบทั้ง 67 หมู่บ้าน ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” นายธนเดชฯ กล่าว

นายธนเดช พระอารักษ์ นายอำเภอเบญจลักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบ้านโนนเชียงสอน พร้อมทั้งประชุมพบปะพูดคุยร่วมกันกับผู้นำชุมชน และพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ ตนยังได้ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจในแนวทางเดียวกันและช่วยกันน้อมนำไปทำให้บรรลุเป้าหมายความสำเร็จ พร้อมนี้ ตนยังได้เน้นย้ำเพิ่มเติมให้ทุกคนช่วยกันส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งเน้นย้ำให้คณะกรรมการกลางหมู่บ้าน ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับราษฎรในหมู่บ้าน รวมถึงให้ผู้ใหญ่บ้านจัดทำป้ายคุ้ม มีการพบปะกันเป็นประจำในระดับคุ้มบ้าน เพื่อดูแลช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน ตลอดจนให้ทุกคนในหมู่บ้านรักษาความสะอาดบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะ รณรงค์ให้ประชาชนรู้จักการแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง บริหารจัดการขยะมูลฝอย บริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร วางแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดในพื้นที่ การนำแผนผังภูมิสังคมมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชั่น “ThaiD” โดยให้คำแนะนำในการติดตั้งรวมถึงการใช้งานแอปพลิเคชั่น เพื่อเข้าถึงการบริการภาครัฐ และระบบดิจิตอล ID

“อำเภอเบญจลักษ์ จะดำเนินการขยายผล “หมู่บ้านยั่งยืน” ให้ครอบคลุมไปสู่ 5 ตำบล 67 หมู่บ้าน ภายในปี 2566 นี้ ด้วยการขับเคลื่อนทำโครงสร้างพื้นฐาน จัดระเบียบแต่ละหมู่บ้านแต่ละคุ้มให้มั่นคงเป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ ทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ของอำเภอเบญจลักษ์ มีความสุขในทุกมิติอย่างยั่งยืน” นายธนเดชฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply