“พระพรหมกวี” ที่พึ่งยามยากของ..คนไร้บ้าน

“เจ้าคุณประกอบ” ชื่อนี้เป็นชื่อที่ผู้เขียนเคยได้ยินและสัมผัสมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2536 อบรมบาลีก่อนสอบวัดไร่ขิง ยุคที่ “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์” อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทุกเช้าประมาณตีสี่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์จะตื่นมาปลุกและให้กำลังใจนักเรียนบาลีผ่านเครื่องเสียง ยุคที่ “เจ้าคุณแย้ม” พระธรรมวชิรานุวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการหลวงพ่อ..พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

ยุคที่ “สามเณรกาญจน์กับสามเณรสุพรรณ” มีปัญหาฟาดกันทุกปี บางปียกเก้าอี้ฟาด ณ โรงลิเก ต่อหน้า “พระมหาสมบูรณ์” ปัจจุบันคือ “พระเทพสาครมุนี” อดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร และยุคนั้น “พระพรหมเวที” ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่ง “เจ้าอาวาสพระปฐมเจดีย์”   ซึ่งทั้ง พระสาครมุนีและพระพรหมกวี ยุคนั้นคือ “ตลกคู่” ทำให้พวกเราที่นอนดึกตื่นเช้า..พูดเล่นล้อเลียนซึ่งกันและกันเพื่อให้นักเรียน..คลายง่วง

ยุคนั้น “เจ้าคุณกอบ” เป็นแกนนำรูปหนึ่งในการอบรมบาลีก่อนสอบ ซึ่งมาจาก “ทีมวัดชนะสงคราม” บาลีก่อนสอบวัดไร่ขิง.. ยุคนั้นจึงมีชีวิตชีวาและะผู้เขียนได้สัมผัสชื่อนี้มาตั้งแต่บัดนั้น

ตอนหลังไปเรียนบาลี “วัดชนะสงคราม” ก็เคยเจอกันบ้างแต่ไม่บ่อยนัก ตอนหลัง “เจ้าคุณกอบ” “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ส่งตัวไป “กอบกู้”  วัดกัลยาณมิตร ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าตอนนั้น “ทรุดโทรม” เหมือนสลัม แออัด สกปรก ไม่สมกับเป็น “วัดหลวง”

“เจ้าคุณกอบ” หรือ “พระพรหมกวี” มาดังอีกทีตอนมีเรื่องฟาดฟันกับกลุ่มผลประโยชน์ภายในวัดและกับกรมศิลป์  ตอนนั้น “ผู้เขียน” ทำงานอยู่ช่อง 11 เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง นักวิชาการชาวพุทธ มาออกรายการบ้าง ท่านเป็น “นักสู้” ปากกับใจตรงกัน ตรงไปตรงมา

“ผู้เขียน”  เคยฟังจากเพื่อนฝูงที่เป็น “กัลยาณมิตร” กับท่านว่า ปัจจุบันท่านพัฒนาวัดสวยงาม รายได้เข้าวัดเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดูแลชุมชนรอบวัดที่มีรายได้จาก “หลวงพ่อสำปอกง” เป็นอย่างดี  พร้อมทั้งชวนให้ไป “กราบท่าน” แต่ผู้เขียน ตอบปฎิเสธที่จะไป เนื่องจาก ตอนหลัง ๆ มานี้ “ผู้เขียน” ไม่ชอบที่จะวิ่งเข้าหาชนชั้นอำนาจ สอง บางทีการไปแบบนี้หลายครั้ง มักมีเสียงเล็ดลอดจากพระผู้ใหญ่มาว่า “พวกมหา” ไม่มาขอเงิน..ก็มาขายประกัน

“ปลัดเก่ง” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ไวยาวัจกรวัดราชบพิธ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยพูดถึงท่านกับผู้เขียนว่า “เจ้าคุณกอบ” เป็นพระดี และเป็นพระ สุปฎิปันโน..

“ผู้เขียน” เจอเจ้าคุณกอบ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “พงศ์สันต์” หรือสมณศักดิ์ท่านปัจจุบันคือ  “พระพรหมกวี” อีกทีเมื่อวานนี้ในงานมอบบ้านช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย ที่จังหวัดลพบุรี ทำให้รู้ว่า โครงการสังฆประชานุเคราะห์  พระเดชพระคุณทำมานานแล้วตั้งแต่อยู่ในภาค 13 โดยมี “จังหวัดจันทบุรี” เป็นต้นแบบ แรงบันดาลใจเจอเด็กชายกตัญญูกตเวทีคนหนึ่ง ไร้บ้าน แต่กตัญญูดูแลพ่อที่ป่วย ท่านจึงให้คณะสงฆ์ในจังหวัดหาข้อมูลแล้ว ก็ไปสร้างบ้านพร้อมอยู่ให้แล้วเสร็จ ตอนนี้สร้างไปแล้วประมาณ 100 หลัง  ซึ่งการสร้างบ้าน “พระพรหมกวี” มองว่า ยั่งยืนกว่า สาธารณะสงเคราะห์อื่น ๆ ที่คณะสงฆ์ทำอยู่ตอนนี้ ท่านบอกต่ออีกว่า ท่านทำแบบนี้สอดรับกับแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 ที่มีโครงการ “ราชประชานุเคราะห์” 

“ผู้เขียน” ถูกใจยิ่งนักเมื่อท่านพูดว่า ถามพระสงฆ์เรามีโบสถ์ มีศาลา มีกุฎิใหญ่โตสวยงาม แต่ชาวบ้านรอบวัด อยู่กระต๊อบ ซึ่งเป็นคนให้ข้าว ให้น้ำกับพวกเราได้กินทุกวัน เรานอนหลับสบายดีอยู่ได้อย่างไร ซ้ำบอกต่ออีกทำนองว่า ทำไม!! ชาวพุทธเราจึงเกื้อกูลกันน้อยนัก ช่วยเหลือกันน้อยนัก ต่างจากศาสนาอื่น ๆ การที่เราไปโทษ “กรรม” ถูกต้องเสมอไปหรือไม่!! ประมาณนี้

“ผู้เขียน” เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ “พระพรหมกวี” เดียวนี้วัดวาอารามในต่างจังหวัดใหญ่โตโออ่า โบสถ์ ศาลา กุฎิ เริ่มร้างเพราะขาดพระสงฆ์ดูแล เชื่อเถอะ ไม่กี่ปี “เจ้าอาวาส”ก็ต้องหางบประมาณมาซ่อมแซมต่อ บางวัดโบสถ์ไม่ทันใช้เลย เริ่มทรุด ร้าวแล้ว..

เมื่อวานนี้หลัง “พระพรหมกวี” พูดเสร็จ ปล่อยช็อตเด็ดนี้ไป “ดิ้นพล่าน” โดยเฉพาะ “พระภิกษุบางรูป”  รับไม่ได้อ้างเหตุผลสารพัด..ขนาดพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่ทั้งมีพรรษามาก ที่ วุฒิความรู้มาก ไม่ต้องพูดถึง “สมณศักดิ์-ตำแหน่งปกครอง” พูดแล้ว ตักเตือนแล้วยังไม่ฟังกัน  ซ้ำต่อว่าเสียหาย ๆ..แบบนี้คณะสงฆ์จะอยู่ จะดูแลกันได้อย่างไร.. ไม่ต่างกับสังคมข้างนอกที่ทุกวันนี้เด็กสะกดคำว่า “ผู้ใหญ่-เด็ก” หรือคำว่า “กตัญญูกตเวที” ไม่เป็นกันแล้ว

คณะสงฆ์คงสัมผัสกับสังคม “เบื่อหน่าย” อย่างที่พระพรหมกวี เตือนพวกท่านไม่ได้..

“ผู้เขียน” รำคาญที่จะพูดต่อ..เป็นเอาว่าขอชื่นชม “พระพรหมกวี” ที่ท่านทำเรื่องนี้ และขอชื่นชมที่ “หาญกล้า” ที่จะ “ตักเตือน” ตอมพวกเดียวกัน มิใช่ปล่อยละเลยให้เสวยสุขจนลืม “หน้าที่” ของความเป็นพระ  ทั้งยุให้ พระพรหมกวี ทำทั่ว “สังฆมณฑล” และทั้งยุให้ มหาเถรสมาคมยกแหน่งประธานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมด้วย อีกตำแหน่ง พระผู้ใหญ่ที่มี “หัวใจแห่งพระโพธิสัตว์” แบบนี้หายาก ยิ่งกว่าหาเข็มในมหาสมุทร

แต่ !! การที่จะไปถึงจุดนั่นได้ “พระพรหมกวี” คงต้องปรับตัวอีกขนานใหญ่

มองไปที่ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์”  ประธานสาธาณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ช่วงแรกดีครึกครื้น พระสงฆ์ตื่นตัว สังคมก็มีความหวัง ภาพลักษณ์พระสงฆ์ที่ถูกมองว่า “เอาแต่ได้” ดีขี้น แต่ตอนนี้การทำงานนับวันยิ่ง “แผ่ว” และการที่จะทำแบบอย่างที่ พวกศีล 5 ,วัดประชารัฐสร้างสุข หรือ โครงการสังฆประชานุเคราะห์ ร่วมกับคณะสงฆ์  ก็ทำยาก..เพราะอะไร?? วันหลังจะวิเคราะห์ให้ฟัง

 

Leave a Reply