“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” ประทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจบใหม่ “มมร” เตือนสติ จงเป็นผู้ไม่มีความริษยา ในสุขประโยชน์ของใคร!!

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ปฎิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตรประจำปี 2566 โดยมี พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย  กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ บัณฑิตใหม่ และประชาชนทั่วไปถวายการต้อนรับ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้เชิญพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราช ความตอนหนึ่งว่า ผู้สำเร็จการศึกษาทุกรูป ทุกคน คงได้รับความชื่นชมยินดีจากญาติมิตรทั่วหน้า ที่เรียกว่า “มุทิตา” หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับผลดี อันมีสาเหตุจาการกระทำดี ซึ่งเป็นภาวะที่สังคมไทยพึงเร่งสั่งสมอบรมให้เพิ่มพูนขึ้นทั่วไป เพราะมุทิตาจิตด้วยความจริงใจนั้น ย่อมเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความอิจฉาริษยา อันเป็นต้นเหตุของความวิวาท บาดหมาง แตกสามัคคี ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงของสังคมทุกระดับ ถ้าเราไม่ลุอำนาของกิเลสที่เป็นความริษยา หากแต่พร้อมเพียงกันยินดีในความสุข ความเจริญของผู้ประสบความสุขความเจริญ ย่อมจะทำให้หมู่ชน ประเทศชาติ ตลอดจนถึงโลกนี้มีความสุขความเจริญพร้อม ๆ กัน โดยปราศจากการทำลายล้างอันยังความพินาศ ทุกประการ

“เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้ไม่มีความริษยา ในสุขประโยชน์ของใคร ๆ ถ้าเห็นใคร ๆ บรรลุประโยชน์ ก็จงมีจิตใจชื่นชมยินดีในสุขประโยชน์ที่เขาได้รับ และจงเร่งประพฤติดี ปฎิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ดังกล่าวบ้าง เมื่อใครเขาจะเป็นคนดีไปก่อน ก็ให้เขาเป็นไป และจงมีใจยินดีด้วย ถ้าตนเองต้องการเป็นคนดีบ้าง ก็พึงปฎิบัติเพื่อความเป็นคนดี ให้เป็นคนดีด้วยกันถ้วนหน้า โดยเสมอกันทุกภาคส่วนในสังคม..”

งานประทานปริญญาบัตรปี 2566 นี้ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 16 รูป/คน ปริญญาเอก 63 รูป/คน ปริญญาโท 365 รูป/คนและปริญาตรี 1,343 รูปคน รวมทั้งสิ้น 1,762 รูป/คน

รายชื่อ ผู้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อาทิเช่น พระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ พระพรหมวัชรเมธี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม พระพรหมวชิรสุนทร  เจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์จ.เพชรบุรี พระธรรมวชิรากร เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี มจร  พล.ต.ท.ผ่อน ปลัดรักษา ,ดร.วิษณุ เครืองาม,นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง เป็นต้น

หลังเสร็จสิ้นการประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ปลูกต้นทองกวาว เป็นอนุสรณ์และเพื่อเพิ่มร่มเงาในมหาวิทยาลัย

ส่วนบรรยากาศภายในบริเวณนอกอาคารมีพระภิกษุและประชาชนมาร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่อย่างคับคั่ง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มีทั้งชาวไทใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ และพม่า ต่างแต่งตัวตามแบบชาติพันธุ์ของตนเอง ในขณะที่บริเวณโรงครัวก็มีน้ำปานะ อาหารฟรีให้ทานเช่นกัน

สำหรับ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 ตามพระดำริสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมขั้นสูงของพระภิกษุสามเณร ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้จัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย” ต่อมาใน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเวศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมหากุฎราชวิทยาลัย และตราพระราชบัญญัติเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย แบ่งการศึกษาออกเป็น 5 คณะได้แก่ คณะศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มี 7 วิทยาเขต 3 วิทยาลัย มีลูกศิษย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

Leave a Reply