วัดระฆังฯ ประชุมร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย เตรียมปรับพื้นวัดขนาด 150 ไร่ ทำเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร” สนองพระราชปณิธาน

วันที่ 2 ม.ค. 67 เวลา 09.00 น. ที่ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ประชุมหารือการออกแบบพื้นที่วัดระฆัง 150 ไร่ คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เพื่อออกแบบเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายธนารักษ์ วรปรีชาพันธุ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายก นายวิลาศ บุญโต พัฒนาการจังหวัดนครนายก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นตั้งใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” ที่พระราชทานผ่านพระราชดำรัสความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยถอดบทเรียนความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ จำนวนกว่า 5,151 โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด สู่การเป็น “อารยเกษตร” เพื่อให้เป็นแนวทางหรือหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเป็นอารยะ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

“กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจออกแบบทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม พื้นที่วัดระฆัง 150 ไร่ คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อนำไปสู่การจัดทำแบบโครงสร้างวิศวกรรมและออกแบบสถาปัตยกรรม โครงการอารยเกษตร นครนายก เพื่อให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร” เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำ มีความเข้าใจในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้มีพื้นที่เป็นแหล่งรวมปัจจัย 4 คือ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน มีการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่า 3 อย่าง ที่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง อาทิ ป่าไม้ใช้สอย ก็จะนำมาสร้างบ้าน สร้างที่อยู่อาศัย มีป่าไม้กินได้ นำเป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร มีป่าเศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายใช้สอยได้ และประโยชน์ในประการสุดท้าย คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ในการจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ และลดภาวะโลกร้อน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า โครงการอารยเกษตร นครนายก เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชทานพื้นที่ลักษณะนี้ว่า “อารยเกษตร” คือ มีโคก มีหนอง มีนา มีคลองไส้ไก่ เป็นลำห้วยลำธาร มีหลุมขนมครกอยู่กระจายในพื้นที่ มีการปรับปรุงพื้นที่ มีพื้นที่สำหรับปลูกสมุนไพร ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ยืนต้น พร้อมทำให้ต้นไม้ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้พันธุกรรมพืช ด้วยการน้อมนำแนวทางตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทำป้ายให้ความรู้ชื่อและสรรพคุณของต้นไม้ เพื่อสามารถใช้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ด้านพันธุกรรมพืชสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งเมื่อคนรู้จักต้นไม้ รู้ประโยชน์ ก็จะมีความรักต้นไม้ และเป็นผู้เฉลียวฉลาดรอบรู้เรื่องพันธุ์ไม้ นอกจากนี้ต้องพัฒนาปรับพื้นที่ให้มีความสวยงาม มีอารยธรรม มีคุณธรรม สวยงามด้านจิตใจ ซึ่งความสวยงามด้านจิตใจที่เรามีจะได้ช่วยกันบริหารจัดการเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความผาสุก มีการรวมกลุ่มกัน รวมจิตใจ รวมน้ำใจ รวมความรักความสามัคคีในการที่จะเอาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปขยายผลให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกครัวเรือน ดังนั้น เรื่องใหญ่ของคนมหาดไทย คือ การที่จะทำให้คนรวมจิตรวมใจกันในการที่จะช่วยกัน Change for Good สร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้เกิดกับพี่น้องประชาชนได้ ต้องน้อมนำหลักการทรงงาน คือ ร่วมกันคิด ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ ร่วมกันทำ และสุดท้ายก็จะได้ร่วมรับประโยชน์ทั่วกัน และการดำเนินการในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทยและคณะสงฆ์ ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนผ่าน MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม และ MOU ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอำนวยการโครงการเป็นหลักชัย ร่วมกับผู้นำศาสนาทุกศาสนา ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ในศีลในธรรมของศาสนาที่นับถือ เป็น “หมู่บ้านคุณธรรม” ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในความดี ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และดูแลสังคมให้มีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้ากัน อีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป กรมโยธาธิการและผังเมือง จะได้นำเอาข้อมูลสำรวจพื้นที่ไปจัดทำแบบโครงสร้างวิศวกรรมและออกแบบสถาปัตยกรรมพร้อมทั้งมีแผนการอบรมเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการอารยเกษตร 6 จังหวัด (ภาคตะวันตก-กาญจนบุรี, ภาคเหนือ-พะเยา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-อุบลราชธานี, ภาคกลาง-นครนายก, ภาคตะวันออก-จันทบุรี และภาคใต้-สตูล) ให้มีความเข้าใจในภารกิจ โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญ เป็นผู้ถ่ายทอดวิทยาการองค์ความรู้ต่อไป ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของโครงการอารยเกษตร นครนายก เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร ให้กับพี่น้องประชาชนสามารถนำไปเป็นต้นแบบการเป็นแหล่งเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติในครัวเรือนและชนชุนของตนเอง เผื่อหากวันหนึ่งวันใดข้างข้างหน้า เกิด worst case มีโรคระบาด ภาวะศึกสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ เราจะมีอาหาร มีทรัพยากร ไว้เป็นคลังสำรองสำหรับครัวเรือนและชุมชน พร้อมรับมือต่อทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน หากพวกเราช่วยกันหนุนเสริมทำให้พี่น้องประชาชนนำสิ่งที่ดีเหล่านี้ไปใช้จนเกิดผลเป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ เราจะได้ร่วมกันทำกุศลอันยิ่งใหญ่ คือ การทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างความมั่นคงในระยะยาวด้วย “ศาสตร์ของพระราชา” ซึ่งจะเป็นมรดกในอนาคตสำหรับลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้านพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร กล่าวว่า พื้นที่โครงการอารยเกษตร นครนายก เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร จำนวน 150 ไร่ ของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ซึ่งมีพระเดชพระคุณ พระเทพประสิทธิคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เป็นหลักชัย ได้มีดำริให้ความเห็นชอบ และที่ประชุมทางวัดได้มอบหมายให้อาตมภาพได้ร่วมประชุมหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการพื้นที่ เพื่อออกแบบเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และทรงมุ่งมั่นในการสืบสานในพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โดยพื้นที่จำนวน 150 ไร่ นี้ ได้รับบริจาคมาจากอุปัฏฐายิกาของทางวัด ประกอบไปด้วย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ จำนวน 100 ไร่ และคุณหญิงสรกิจพิศาล (ชลอ อมาตยกุล) อีกจำนวน 50 ไร่ ทั้งนี้ ทางวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ขออนุโมทนาโยมสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย โยมพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ตลอดจนครบทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อที่จะได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดี สร้างคุณประโยชน์อันไพบูลย์ ให้เกิดกับบรรดาพุทธศาสนิกชนตลอดจนปุถุชนผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีให้กับชีวิตของตนเอง โดยเมื่อพื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาสมดังความมุ่งมาดปรารถนาของทุกคนแล้ว จะสะท้อนให้เห็นสิ่งที่พวกเราจะได้สัมผัส นั่นคือ ธรรมชาติเป็นรมณีย์ อันมีสัปปายะ 7 ประการ ได้แก่ 1) อาวาสสัปปายะ ถิ่นที่อยู่อันเหมาะสม 2) โคจรสัปปายะ สถานที่อันสะดวกต่อการเดินทาง 3) ภัสสสัปปายะ พูดคุยแต่เรื่องที่เป็นสาราณียธรรม 4) ปุคคลสัปปายะ มีบุคคลเป็นกัลยาณมิตรคอยแนะนำ 5) โภชนสัปปายะ มีอาหารที่เหมาะสม 6) อุตุสัปปายะ มีดิน ฟ้า อากาศ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 7) อิริยาปถสัปปายะ มีอิริยาบถที่เหมาะ ที่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขอย่างยั่งยืน

Leave a Reply