คณะสงฆ์เมืองสี่แคว จับมือ พ่อเมืองนครสวรรค์ ลงนาม MOU ร่วม 7 ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนพลัง “บวร”

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 วานนี้ นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า จังหวัดนครสวรรค์และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้การนำของนางวราภรณ์  เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระราชรัตนเวที รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และท่านเจ้าคุณพระสิริวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ (ธ) เป็นตัวแทนภาคศาสนา พร้อมด้วยภาคภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กับสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนร่วมกับมหาเถรสมาคมและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนภารกิจงานสาธารณสงเคราะห์ และส่งเสริมให้มหาเถรสมาคมสามารถขับเคลื่อนงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ทั้งการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย การสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน ด้วยการนำหลักการ 4 ประการ คือ 1) สงเคราะห์ 2) เกื้อกูล 3) พัฒนา และ 4) บูรณาการ มาเป็นหลักในการทำงาน ประสานความร่วมมือในรูปแบบพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ สู่การพึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็งและช่วยเหลือเกื้อกูล เสริมสร้างให้คนในสังคมมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ลด ละ การทำบาปและสิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งไม่ดีไม่งาม แทนที่ด้วยการเพิ่มพูนการทำความดี ทำบุญ ทำกุศล ช่วยกันดูแลสังคม ประชาชนให้ทำมาหาเลี้ยงชีพที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ขยายผลไปยังตำบล อำเภอ จังหวัด ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

“การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดนครสวรรค์ให้ประสบผลสำเร็จภายใต้หลักการ “การมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย” ในพื้นที่ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 17 (Partnership) ด้วยกลไกภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน เพื่อเชื่อมประสานงานให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ ส่งเสริมสัมมาชีพ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ สร้างความสุขให้สังคมไทย พร้อมขยายผลช่วยสังคมโลกให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการทางธรรมนำทางโลก เพื่อให้เกิดสุขภาวะ 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา จึงมีความเห็นพ้องกันกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน และเตรียมดำเนินการขยายผลอย่างต่อเนื่องไปสู่ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้คนพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายทวีฯ กล่าว

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายสำคัญในการขยายผลไปสู่ในระดับพื้นที่หลังจากนี้ จะใช้การดำเนินการด้วยกลไกการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานภายใต้กรอบแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งหนุนเสริมเสาหลักของประเทศชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกิจการพระพุทธศาสนาตามพันธกิจคณะสงฆ์ 6 ด้าน คือ การปกครอง การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแพร่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชน รวมทั้งสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามร่วมกัน สร้างโอกาส และความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารในทุกครัวเรือนตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมความรู้ทางวิชาการให้ประชาชน เพื่อนำทักษะความรู้มาพัฒนา ปรับใช้ในการดำรงชีวิต มีการดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงและมีความสุขอย่างยั่งยืน

“ขอกราบนมัสการขอบพระคุณพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณทั้ง 2 รูป ที่เป็นตัวแทนภาคศาสนา และขอขอบคุณชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ ตลอดจนทุกภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ขอฝากท่านนายอำเภอทุกอำเภอ เป็นผู้นำในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งที่ดีต่อสังคม จับมือให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยลงมือลงแรงไปด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราทุกคนจะได้รับนอกจากจะเป็นความสุขทางใจแล้ว ยังช่วยทำให้คนในชุมชนของเรามีความเข้มแข็งมั่นคง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนชาวนครสวรรค์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายทวีฯ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply