ปลัดมหาดไทย ประชุมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเร่งปลดปล่อย “ทาสยุคใหม่”

วันที่ 16 ม.ค. 67 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง พลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจตรี พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการเป็นหนี้สินนอกระบบ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ทาสยุคใหม่” ที่ต้องทุกข์ยากกับการรับภาระชำระหนี้อัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่จะสามารถรับผิดชอบได้ ไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะดำเนินการในด้านใด ๆ เพราะต้องคิดถึงแต่จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละวัน อันส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของครอบครัว ความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงเป็นที่มาของการประกาศให้ “ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ” และเดินหน้า Kick off แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ สร้างความเข้มแข็งและความสุขให้กับพี่น้องคนไทยในระดับครอบครัวควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการประสานการทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามอำนาจหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้รับทราบถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท (แห่งละ 7,500 ล้านบาท) วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินรายละ 20,000 บาท พร้อมด้วยบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ที่เกิดจากการร่วมทุนของธนาคารออมสิน เพื่อให้บริการขายฝากหรือให้สินเชื่อจดจำนองที่ดินอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยกำหนดกลุ่มบุคคลผู้ลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาตามลำดับโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ลงทะเบียนและมีความประสงค์จะไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ซึ่งกลุ่มนี้จะปรากฏข้อมูลเจ้าหนี้และลูกหนี้ครบถ้วน ที่ประชุมจึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทให้ครบถ้วน 100% 2) กลุ่มผู้ลงทะเบียนและมีความประสงค์จะไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท แต่ไม่มีข้อมูลเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ประมาณ 30,000 ราย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจสอบกลุ่มดังกล่าว จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เพราะบางกรณีลูกหนี้ไม่สามารถทราบชื่อจริง นามสกุลจริงของบุคคลที่ได้กู้ยืมหนี้สินมา 3) กลุ่มผู้ลงทะเบียนและมีความประสงค์จะไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ซึ่งมีรายละเอียดการลงทะเบียน แต่มีข้อมูลของลูกหนี้และเจ้าหนี้ไม่ครบถ้วน ซึ่งในส่วนนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ กรมการปกครองได้สั่งการให้นายอำเภอ เร่งสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ภายใน 15 วัน และ 4) กลุ่มผู้ลงทะเบียนไม่มีความประสงค์ไกล่เกลี่ย แต่มีความประสงค์จะให้ภาครัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและอาชีพเสริม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้บุคคลในกลุ่มนี้ได้ลงทะเบียนเพื่อการไกล่เกลี่ยก่อน แล้วภาครัฐจะจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ยังได้มีมติให้มีการบูรณาการความต้องการของแต่ละหน่วยงานในการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และส่งต่อข้อมูลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงเชื่อมโยงไปยังสถาบันการเงิน และกระทรวงแรงงาน พร้อมพิจารณาเสนอแต่งตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ เพิ่มเติม ได้แก่ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนธนาคารออมสิน และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“ในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ขณะนี้เป็นการแก้ไขในชั้นต้น หรือเรียกว่ามิติยาฝรั่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมิได้มองแค่ในส่วนของการแก้ไขหนี้เพียงอย่างเดียว แต่เรายังมองถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว คือ มิติยาไทย ด้วยการทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ส่งเสริมความเข้มแข็งในการดำรงชีพ การหารายได้ ลดรายจ่าย สร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และการน้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไว้บริเวณรอบบ้าน เพื่อเป็นอาหารประจำครัวเรือน รวมไปถึงการช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ช่างทอผ้าและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้จากหลายทางมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนที่เคยเป็นหนี้สินนอกระบบกลับไปเป็น “ทาสยุคใหม่” หรือเข้าไปสู่วงเวียนแห่งความทุกข์ยากอีกตลอดไปอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply