ย้อนรำลึก “พระกิตติวุฑโฒ” 19 ปี เก็บสรีระสังขาร ปิดตำนาน 1 ในวงการสงฆ์ เจ้าของวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

วันที่ 13 มี.ค. 67  รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 เมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ ย้อนรำลึก “กิตติวุฑโฒ” 19 ปี เก็บสรีระสังขาร ปิดตำนาน 1 ในวงการสงฆ์

“พระเทพกิตติปัญญาคุณ” หรือที่ผู้คนทั้งประเทศรู้จักเรียกขานในนาม “กิตติวุฑุโฒภิกขุ”  ผู้ก่อตั้งจิตภาวันวิทยาลัย จ.ชลบุรี อันมีชื่อเสียงในฐานะวิทยาลัยเพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย

ประวัติของ พระเทพกิตติปัญญาคุณ เดิมชื่อ มังกร เจริญสถาพร เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ที่ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายเตียวยี่-นางเง็กเล้า เจริญสถาพร มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 2 คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ 3 และได้เปลี่ยนชื่อจากมังกร เป็น กิติศักดิ์ เมื่อมีอายุได้ 28 ปี

แม้ท่านจะเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านบางเลน แต่เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พื้นความรู้ทางการศึกษาก็ไม่ใช่อุปสรรคของท่าน

หลังอุปสมบทที่วัดปากน้ำเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอกจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ต่อมาไปเรียนอภิธรรมที่โรงเรียนพระอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนอภิธรรมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2503 จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุฯ และได้ศึกษาคัมภีร์ต่างๆ เช่น มูลกัจจายน์ วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น กับพระเตชินทะ ธัมมาจริยะ อภิธัมมกถิกาจริยะชาวพม่า และพระครูประกาศสมาธิคุณ (สังเวียน ญาณเสวี) และเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะชาวพม่า เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า ด้วยการศึกษาทางธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่างจริงจัง ทำให้ ท่านมีความรู้ ในพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน สามารถเทศนาสั่งสอนญาติโยมอันเป็นกิจหนึ่งที่สงฆ์พึงปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

เทศนาของท่านซึ่งเป็นคำสอนหนึ่งที่ยังคงได้รับการเผยแพร่มาจนถึงปัจจุบันก็คือ “ฝึกตายทุกวัน”

โดยท่านชี้ให้เห็นว่า การเกิดการตายเป็นของคู่กัน ผู้คนเกิดมาจำนวนเท่าไหร่ก็ต้องตายในจำนวนเท่านั้น ไม่มีใครที่จะไม่ตาย

ดังนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องบอกกับตนเองอยู่เสมอว่า จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะความตายหมายถึงการหยุดนิ่ง หมายถึงการจุติ ในอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นการจุติตามผลกรรมที่สร้างไว้

ท่านจึงสอนให้ทำความดีในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ และไม่ต้องเกรงกลัวต่อความตายหากเรามีความดี ซึ่งเป็นบุญที่กระทำโดยสม่ำเสมอ

ส่วนการฝึกตาย ท่านสอนว่าทุกคืนเมื่อเข้านอนให้นึกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ และบุญกุศลที่เคยกระทำมาให้จิตระลึกถึงสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำทุกคืน จิตก็จะหยุดนิ่งและเป็นสมาธิ อันจะทำให้เราพร้อมที่จะไปจุติหรือพร้อมที่จะตายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บทบาทในวงการสงฆ์ที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง เป็นที่กล่าวขานมากที่สุดก็คือ ในยุคที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะทำให้ สถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องล่มสลาย หากประเทศไทยถูกครอบครองด้วยคอมมิวนิสต์ ท่านได้ออกมาแสดงตัวอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนว่า คอมมิวนิสต์คือภัยคุกคามที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธจะต้องใส่ใจ และสามัคคีร่วมใจกันต่อต้าน เพื่อปกป้องชาติศาสนาพระมหากษัตริย์

หนึ่งในวาทกรรมของท่านที่ถูกกล่าวขานอย่างมากในยุคนั้นก็คือ “การฆ่า คอมมิวนิสต์ไม่บาป” โดยท่านกล่าวว่า

คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือ ต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน”

ส่วนผลงานของท่านที่ปรากฏเป็นรูปธรรมก็คือ การก่อตั้งวิทยาลัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนา หรือที่รู้จักกันในชื่อของจิตตภาวันวิทยาลัย ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งท่านทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการคนแรก และได้มีการขยายโครงการ ด้วยการสร้างอุโบสถกลางทะเล และก่อสร้างคอนโดธรรมะ ซึ่งถือเป็นของใหม่ในยุคนั้น แต่การขยายโครงการที่กล่าวมา รวมทั้งการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์จากการระดมทุนของท่าน ก็ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตราบจนวาระสุดท้าย

ทั้งนี้ท่านกิตติวุฑุโมภิกขุหรือพระเทพกิตติปัญญาคุณ อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบมานาน 5 ปีเศษ จนมรณภาพด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2548 เวลา 12:51 น. ณ โรงพยาบาลชลบุรี สิริอายุได้ 68 ปี 234 วัน

อย่างไรก็ตาม บรรดาศิษย์ยานุศิษย์ของท่านเก็บสรีระสังขารของท่านไว้เป็นอนุสรณ์นานถึง 19 ปี ก่อนที่จะมีหมายรับสั่งที่ 2970 โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงศพพระเทพฯ กิตติปัญญาคุณ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

ปิดตำนานภิกษุที่เป็นหนึ่งในตำนานที่จารึกไว้ในวงการสงฆ์ไทยอย่างสมบูรณ์..

 

Leave a Reply