แจงราคา ‘สมณศักดิ์’ ไม่จริง เผยพิจารณาคุณสมบัติ 6 ด้าน

วันที่ 13 มี.ค. 67  จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์อินโฟกราฟิก เผยแพร่โดยกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่อ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ .ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ นักวิชาการ

โดยระบุว่าคุณสมบัติด้านสาธารณูปการของการตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ ต้องมีผลงานด้านการก่อสร้าง บูรณปฏฺสังขรณ์ศาสนสถานหรือถาวรวัตถุมาประกอบ เพราะเป็นสิ่งที่บอกถึงแรงศรัทธาของประชาชนื่มีต่อพระสงฆ์รูปนั้น โดยการรายงานให้บอกจำนวนเงิน ค่าก่อสร้าง ค่าบูรณปฏิสังขรณ์ และต้องมียอดเงินขั้นต่ำ ตามเขตปกครองคณะสสงฆ์ ดังต่อไปนี้ เขตปกครองหนกลาง จำนวน 1,000,000 บาท ขึ้นไป หนเหนือ หนตะวันออก หนใต้ จำนวน 150,000 บาทขึ้นไป เฉพาะเขตปกครองภาค 4 และ 5 จำนวน 500,000 บาทขึ้นไป นั้น

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม แหล่งข่าวจากพระนักวิชาการ ให้สัมภาษณ์ “มติชนออนไลน์” ว่า ขณะนี้คณะสงฆ์อยู่ในขั้นตอนของการเสนอขอพระราชทานสถาปนา เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง พระราชาคณะและพระครูสัญญาบัตร ตามมติของมหาเถรสมาคม(มส.)

โดยตามมติมส.กำหนดระยะเวลาให้เจ้าคณะอำเภอ ส่งรายชื่อขึ้นมายังเจ้าคณะจังหวัด, เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่ตามลำดับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่เจ้าคณะจังหวัดส่งรายชื่อให้เจ้าคณะภาคเพื่อพิจารณา ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดได้ส่งรายชื่อให้เจ้าคณะภาค ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้เจ้าคณะภาค อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้

จากนั้นเจ้าคณะภาคจะส่งให้เจ้าคณะใหญ่วันที่ 16 มีนาคม และเจ้าคณะใหญ่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม ก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาสมณศักดิ์ ภายในวันที่ 20 เมษายน จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะนำเสนอมหาเถรสมาคม (มส.) ภายในวันที่ 30 เมษายน

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากอินโฟกราฟิกดังกล่าวนั้น เป็นแค่คุณสมบัติด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพระที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาขอพระราชทานสถาปนาตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์นั้น คณะสงฆ์จะพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งตามระเบียบมส. กำหนด 6 ด้าน ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.บทบาทด้านการปกครองคณะสงฆ์ 2.บทบาทด้านศาสนศึกษา 3.บทบาทด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 4.บทบาทด้านสาธารณูปการ 5.บทบาทด้านการสาธารณะสงเคราะห์ และ 6.บทบาทด้านการศึกษาสงเคราห์ ซึ่งบทบาทด้านสาธารณูปการ ถือเป็นแค่ 1 ใน 6 ด้าน

ทั้งนี้บทบาทด้านอื่นๆ ทั้ง 5 ด้านดังกล่าว จะมีตัวชี้วัดที่เห็นภาพชัดเจน เช่น ด้านศาสนศึกษา จะมีตัวชี้วัดผู้จบบาลีศึกษา เป็นต้น แต่บทบาทด้านสาธารณูปการ ซึ่งเป็นอีกบทบาทสำคัญของเจ้าคณะผู้ปกครอง ที่จะปล่อยให้วัดทรุดโทรมไม่ได้ แต่จะต้องบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่การจะหาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดบทบาทด้านสาธารณูปการที่จับต้องได้นั้นค่อนข้างจะยาก ฉะนั้นจึงได้กำหนดด้วยจำนวนเงินของการบูรณะปฏิสังขรณ์

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์รวมถึงมส. จะคำนึงถึงคุณสมบัติด้านนี้เป็นสำคัญ ตรงกันข้ามให้น้ำหนักด้านนี้น้อยกว่าอีก 5 ด้านด้วยซ้ำ เพราะไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นเจ้าอาวาสวัดป่าจำนวนมากมายในปัจจุบันที่ได้รับสมณศักดิ์ ทั้งที่วัดป่าเหล่านี้ไม่ได้มีงบประมาณบูรณะปฏิสังขณ์มากมาย เพราะเป็นแค่วัดป่า ที่อาศัยอยู่ในกุฏิเล็กๆ

ฉะนั้นขอชี้แจงว่าการเสนอรายชื่อพระสงฆ์เพื่อรับการพิจารณาตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติทั้ง 6 ด้านดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้น้ำหนักด้านบทบาทสาธารณูปการเป็นหลัก

สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ที่มีชื่อถูกอ้างในอินโฟกราฟิก สำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณร ได้เป็นนาคหลวง ในพระบรมราชานุเคราะห์  สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) สำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาปรัชญา จาก มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย จนจบปริญญาโทเกียรตินิยมเหรียญทอง  และ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาปรัชญา จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ

มีผลงานทางวิชาการมากมายทั้งที่เป็นงานวิจัย หนังสือ หนังสือแปล บทความ วิทยานิพนธ์ และงานวิจัย เช่น หนังสือ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานทางศาสนา,พุทธศาสนาเถรวาท หนังสือแปล ได้แก่ วิมุตติมรรค บทความ ได้แก่ พัฒนาการของมโนทัศน์เรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาท,ปัญหาของขณิกวาท,บทวิพากษ์อภิธรรม วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต “นิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาท:อัตตาหรืออนัตตา” งานวิจัย “นิพพานในพระไตรปิฎกและอรรถกถา” และผลงานวิจัยล่าสุดคือ “แนวคิดในการใช้พุทธธรรมเพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยม: กรณีศึกษา” นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายวิชาทางด้านปรัชญาและพุทธศาสนาตามสถาบันต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, วิทยาลัยพยาบาลทหารเรือ เป็นต้น..

ที่มา มติชน,วีกิพีเดีย

Leave a Reply