กางเกงอุบล ลายผาแต้ม : กางเกงที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน

ในช่วงที่ผ่านมา กระแสความนิยมกางเกงช้างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น Soft Power ที่ขยายตัวออกไปเป็นลายกางเกงประจำจังหวัดต่าง ๆ อีกหลากหลายลาย ไม่ว่าจะเป็นกางเกงแมว – นครราชสีมา, กางเกงปูม่วง – มหาสารคาม, กางเกงไดโนเสาร์เดินดง – ขอนแก่น, กางเกงมอหินขาว – ชัยภูมิ, กางเกงกูปรีพลัส – ศรีสะเกษ, กางเกงไหบ้านเชียง- อุดรธานี, กางเกงนกกระเรียน – บุรีรัมย์, กางเกงนครพนม – นครพนม, กางเกงลายหอย – ประจวบคีรีขันธ์, กางเกงปลาแรด – อุทัยธานี, กางเกงปูก้ามดาบ- สมุทรสาคร, กางเกงไก่ชน – พิษณุโลก,กางเกงลิง – ลพบุรี และกางเกงทุเรียนลับแล – อุตรดิตถ์ เป็นต้น

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดตัวลายกางเกงแต้มอุบล กางเกงอุบล ลายผาแต้ม มาระยะหนึ่งแล้ว แม้จะเป็นลายที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ตามแบบอย่างการออกแบบกางเกงช้างที่นิยมกัน แต่ผู้ออกแบบกลับเลือกที่จะฉีกตัวออกมาใช้ลวดลายกางเกงสะท้อนวิถีชีวิตชาวอุบล ซึ่งกินลึกลงไปถึงอัตลักษณ์วิถีชีวิตความเป็นอีสาน ได้อย่างน่าสนใจ ทวิช สังข์อยู่ ผู้ออกแบบ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบกางเกงอุบล ลายผาแต้มว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากวงสนทนาเล็ก ๆ ที่ร้านกาแฟแพรว ”แพรวคอฟฟี่“ บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จึงเกิดแรงบันดาลใจ ในการนำวิถีชีวิตชาวอีสานมาเป็นฐานความคิดในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ดอกสะแบง,วัวควาย,เกวียน และชีวิตชาวนา โดยใช้ฮูปแต้ม ผาแต้ม ขับเน้นให้อัตลักษณ์ความเป็นอุบลราชธานี เด่นชัดยิ่งขึ้น เราจึงเรียกกันว่า “กางเกงวัวควายลายผาแต้ม”

•เปิดที่มา และ ความหมายของสีกางเกงอุบล ลายผาแต้ม•

สำหรับจุดเด่นของกางเกงอุบล ลายผาแต้ม คือ วิธีนำโทนสีมาใช้ในการออกแบบ โดยได้ใช้โทนสีจากแม่น้ำมูล “มูลสีคราม” สีเขียวจากดอกบัวตูม สีดินจากผาแต้ม และสีดำจากสีถ่าน มาเป็นสีหลักในการออกแบบ และได้ใช้วิธีดึงสีจากภาพเขียนตามสิมโบราณอีสาน มาเทียบค่าสี แล้วใส่น้ำหนักแสงลงไป เพื่อให้ใกล้เคียงกับระยะการมองเห็นจริงให้มากที่สุด

”แดงสีดิน“ มาจากโทนสีดิน ที่ใช้ในฮูปแต้ม ผาแต้ม ซึ่งเป็นภาพจำของจังหวัดอุบลราชธานี สื่อความหมายถึง ความเคารพต่อผืนแผ่นดิน และธรรมชาติ ที่เราพึ่งพาอาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพ

”ครามสีมูล“ มาจากโทนสีของแม่น้ำมูล “โขงสีปูน มูลสีคราม” สื่อความหมายถึง แม่น้ำที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุบลมาตั้งแต่บรรพกาล จนชาวอุบลเรียกตัวเองว่า ”ลูกแม่มูล“

นอกจากสีครามจะเป็นสัญลักษณ์ของสีแม่น้ำมูลแล้ว สีคราม ไม่ว่าจะเป็น “ฟ้าคราม” “น้ำเงินคราม“ หรือ ”เขียวคราม“ ยังถูกนำมาย้อมเป็นสีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของชาวอีสานอีกด้วย

จากการสอบถามข้อมูลคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านปากน้ำ ก่อนที่จะออกแบบ พบว่า ชาวอุบลในอดีต นิยมนำครามจากต้นแกมาทำสีใช้ย้อมผ้า เพราะต้นแกหาได้ไม่อยาก ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

“เขียวบัวตูม“ มาจากโทนสีดอกบัวตูม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี สื่อความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความรุ่งเรือง และความงดงามของเมืองแห่งธรรม

ทวิช สังข์อยู่ อธิบายเพิ่มว่า ที่จริงลายแต้มอุบล ควรจะมีดอกบัวและต้นเทียนพรรษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุบล แต่ผู้ออกแบบเลือกใช้สีดอกบัวตูมเป็นสัญลักษณ์แทน เนื่องจากเห็นว่า ดอกบัว และ เทียนพรรษา อยู่ในฐานะของกราบไหว้บูชา จึงเลี่ยงที่จะนำมาใส่บนกางเกง
”ดำสีถ่าน“ มาจากโทนสีถ่าน ที่ชาวอีสานเผาถ่านเลี้ยงชีพ ซึ่งพบเห็นโดยทั่วไป สื่อความหมายถึง ความหนักแน่น ขยัน อดทน

•วิถีชีวิตชาวอีสาน คือ แรงบันดาลใจการออกแบบลายผ้าแต้มอุบล•

ทวิช สังข์อยู่ ได้เล่าถึงที่มาของลวดลายของกางเกงแต้มอุบล เอาไว้ ดังนี้

•ฮูปแต้มดวงตาสวรรค์ในลายผ้า•

ดวงตาสวรรค์ หนึ่งในฮูปแต้ม บนผาแต้ม เป็นดวงตาที่เฝ้ามองความเป็นไปของลูกหลานชาวเมืองอุบล มานับพัน ๆ ปี ได้ถูกนำมารังสรรค์ ขึ้นใหม่ ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ผ่านการออกแบบลวดลายบนผืนผ้า
หากมองลึกลงไปในฮูปแต้มดวงตา เราจะรู้สึกสัมผัสได้ ถึงแววตาของผู้เฒ่าใจดี เฉกเช่นเดียวกับดวงตาของพ่อใหญ่-แม่ใหญ่ ที่เฝ้ามองลูกหลาน ด้วยความห่วงใย เอื้ออาทร แต่ดวงตาบนผาแต้ม เฝ้ามองผู้คนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า นับพัน ๆ ปี

•ฮูปแต้มชาวนาในลายผ้า•

ภาพชีวิตชาวนาเมื่อหลายพันปี ถูกส่งต่อสู่ปัจจุบัน ผ่านฮูปแต้ม แสดงถึงความผูกพันระหว่างคน ควาย และผืนนา ที่มีมาอย่างยาวนาน
แม้ผ่านมานับพันปี ชีวิตชาวนาก็ไม่ได้ต่างไปจากฮูปแต้ม ผู้คนยังมีชีวิตผูกพันอยู่กับควาย ทุ่งนา และต้นข้าว  วิถีชีวิตชาวนาอีสาน ในแต่ละปี หมดจากหน้านา ก็ตัดไม้เผาถ่าน หมดจากเผาถ่าน เข้าเมษาหน้าสงกรานต์ ก็แห่ดอกไม้ สรงน้ำพระ ฝนแรกฮวยรดหน้าดิน หอมกลิ่นฝนใหม่ อบอวลไปทั่วทุ่ง ก็ขึ้นไฮ่ ไถไฮ่สักหลุมหยอดปอด
พอถึงเดือนพฤษภา ฝนเริ่มหนาเม็ด ปอขึ้นสูงเท่าเอว ก็เสียหญ้าปอ แล้วใส่ปุ่ยเร่งให้ปอโต จากนั้น ก็แบกไถ แบกคราดลงนา ตกกล้าดำนา พอดำนาเสร็จ ถึงเดือนตุลาคม ปอโตได้ที่ ก็ตัดมัดใส่เกวียนขนลงแช่น้ำ ปอเปื่อย ก็ลอกปอ ตีปอ หาบขึ้นราวตากให้แห้ง แล้วมัดใส่เกวียนขนไปชั่งกิโลขาย
ต้องฝืนอาบน้ำทั้งลม ทั้งหนาว ต้องใช้เฟืองแห้ง-ใช้ซางมะพร้าวขัดถูตัว ล้างกลิ่นปอเน่า ผ่านมานับพันปี ชีวิตชาวนาก็ไม่ได้ต่างไปจากฮูปแต้ม ยังคงผูกพันอยู่กับวัวควาย ผืนนา และต้นข้าว

•ฮูปแต้ม ตุ้ม ปลาบึก เต่า รอยมือ และ สายน้ำ ในลายผ้า•

“ตุ้ม” คือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง สานจากริ้วไผ่ รูปร่างคล้ายข้อง มีงาแซงอยู่ด้านข้าง เป็นลิ้นสำหรับดักปลา ถักจากด้ายและริ้วไผ่
ฮูปแต้มตุ้มดักปลา ปลาบึก เต่า รอยมือ และ สายน้ำ เป็นภาพเขียนที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องมือหากินทางน้ำ ที่มีมาอย่างยาวนานนับพันปี

ตุ้มมีหลายชนิด หลายขนาด ทั้งชนิดสานตาห่าง ใช้ในน้ำลึก สำหรับดักปลาใหญ่ และชนิดสานตาถี่ ใช้ในน้ำตื้น สำหรับดักปลาเล็ก เรียกว่า “ตุ้มลาน”
เหยื่อสำหรับใส่ตุ้มล่อปลา จะทำจากข้าวปลาย ปั้นเป็นก้อน แล้วนึ่งให้สุก ใส่ไว้ในตุ้ม แล้วหย่อนลงไว้ในน้ำ ให้ปลาเข้ามากินเหยื่อทางลิ้นตุ้ม
ส่วนตุ้มอีกชนิดหนึ่ง ทำรองรับปลาที่ก้นหลี่ ไม่มีเหยื่อล่อ จะมีขนาดใหญ่และยาว เรียกว่า “ตุ้มต่งปลา”

การหาปลาของชาวอุบล มีหลากหลายวิธี ตั้งแต่แบบพึ่งพิงวิธีธรรมชาติ ไปจนถึงใช้เครื่องมือจับปลา เช่น กางมอง ไหลมอง ลงเยาะ ใส่บั้งลัน ใส่จั่น ใส่ลอบ ลงต้อน ใส่ไซ ใส่เบ็ด สักสุ่ม ส้อนสวิง ส้อนกะแหง่ง เป็นต้น

ฮูปแต้มตุ้มดักปลา ปลาบึก เต่า รอยมือ และ สายน้ำ ถูกนำมารังสรรค์ขึ้นมาใหม่ ผ่านลวดลายบนผืนผ้า

•ดอกสะแบงในลายผ้า•

ดอกสะแบง เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอีสาน เป็นดอกไม้ที่สะท้อนถึงความผูกพันที่คนอีสานมีต่อถิ่นฐานบ้านเกิด
เมื่อถึงเดือนเมษาเข้าหน้าแล้ง ดอกสะแบงออกดอกแดงเต็มต้น ทุ่งนาอีสานยามนี้ เปลวแดดเป็นตัวเต้นยิบ ๆ ลมหัวกุดหอบเฟืองแห้งขึ้นบนอากาศ ดอกสะแบงหลุดจากขั้ว หมุนคว้างตามกัน สุดแรงลม ตกลงกองทับถมกันแดงเต็มพื้น มวลความเงียบเหงา แผ่ปกคลุมไปทั่วผืนนา เดินไปทางไหน ก็ได้กลิ่นใบไม้ และหญ้าแห้ง อบน้ำหมอกโชยติดจมูก
คนอยู่ทางบ้านเห็นดอกสะแบง ก็ใจวี่ใจวอน คิดถึงคนไกลบ้าน ส่วนคนไกลบ้าน ออกไปทำงานหาเงินส่งกลับมาจุนเจือครอบครัว นึกถึงดอกสะแบงกลางทุ่ง ก็คิดถึงคนอยู่ทางบ้าน
ดอกสะแบง เป็นดอกไม้ที่สะท้อนถึงความผูกพัน ที่คนอีสานมีต่อถิ่นฐานบ้านเกิดได้แจ่มชัด การผูกลวดลายกางเกงด้วยดอกสะแบง จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ของการออกแบบกางเกงวัวควายลายผาแต้ม

•งัวเกวียนในลายผ้า•

เกวียน คือ พาหนะที่มีความจำเป็นในการเดินทางของผู้คนในยุคก่อน บ้านไหนเฮือนไหนมีเกวียน ก็สะดวกในการไปนาไปไร่ ทั้งยังใช้รับจ้างขนไม้ ขนถ่าน ขนข้าว ขนปอ หาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย คนมีนาไกล ไปมาลำบาก ต้องมีเกวียนเอาไว้เทียวนา
แต่ถึงแม้จะมีเกวียนก็ไม่ใช่ว่าจะขับเกวียนเทียวนาทุกวัน หากไม่ขนข้าวของ หรือขนฝุ่นใส่นา*ก็จะไม่เอาเกวียนไปนา ต่างคนต่างเดิน ไล่วัวไล่ควายตาม ๆ กันไป (*ฝุ่น คือ ปุ๋ยคอก)
บางคนไม่มีเกวียน ก็มีรถเข็ญ พอได้ขนข้าวขนของไปนาไปไร่ ตื่นเช้ามาได้ยินเสียงไก่ขัน ลุกนึ่งข้าวเป่าไฟ อย่าให้ทันแดดออก ต้องรีบเร่งไล่วัวไล่ควายออกจากคอกเมือนา ก่อนครูบาตอกโปง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย สอนกันมาอย่างนั้น
ภาพคนขับเกวียน เป็นวิถีชีวิตชาวอีสานที่คุ้นตามาในอดีต ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านลวดลายบนผืนผ้า

•งัวควายในลายผ้า•

งัวควายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอีสาน เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งความหวังของครอบครัวคนอีสานมีวัวควายไว้เป็นเพื่อน เห็นวัวเห็นควายเดินตามไร่ตามนาแล้ว ทำให้นาไม่เงียบเหงา มีวัวควายไว้ขี้ใส่นา วัวควายขี้ใส่นา เหยียบย่ำไปมา ก็เป็นปุ๋ย ถึงเวลาทำนา ข้าวก็งาม มีวัวควายแล้ว เหมือนมีข้าวมีของอยู่ในเรือน มีวัวควายอยู่ในบ้าน ทำให้สบายใจ  การมีวัวมีควายอยู่ในคอก นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการทำไร่ไถนาแล้ว จำนวนวัวควายในคอก ยังบ่งบอกถึงสถานะทางครอบครัวอีกด้วย
เวลาลูกออกเรือนไปมีครอบครัว วัวควาย คือ ทรัพย์สินที่พ่อแม่จะแบ่งให้ลูก ไปสร้างเนื้อสร้างตัว
เมื่อวัวควายมีความสำคัญกับวิถีชีวิตคนอีสาน การค้าขายวัวควาย จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง ในช่องทางการทำมาหาเลี้ยงชีพของคนอีสาน
รูปแบบการค้าวัวค้าควาย มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้ที่ยึดอาชีพค้าวัวค้าควาย เรียกว่า “นายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย”

ในอดีต นายฮ้อยบางคน เดินทางค้าขายวัวควายข้ามจังหวัด จนชำนาญทาง ก็หันมารับจ้างคุมกองคาราวานเกวียน ขนของไปขายข้ามจังหวัดห่างไกล
ด้วยความที่นายฮ้อยเดินทางไปต่างถิ่น ต้อนวัวต้อนควายไปขาย ทำให้รู้จักภูมิประเทศและผู้คนมากมาย จึงกลายเป็นคนกว้างขวาง ชีวิตของนายฮ้อยจึงโลดโผน เต็มไปด้วยตำนาน และเรื่องเล่าการผจญภัย ระหว่างการเดินทาง

การจะเป็นนายฮ้อยวัว นายฮ้อยควาย จะต้องรู้ลักษณะวัวลักษณะควาย
วัวควายที่มีลักษณะไม่เป็นคุณจะแห คือ จับเนื้อต้องตัวไม่ได้ จะทำให้แพ้เจ้าของ ใครซื้อมาเลี้ยง ก็จะมีแต่เรื่องแต่ราว มีเหตุให้เดือดร้อน หากไม่แพ้ตัวเอง ก็จะแพ้คนในบ้าน ทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย (*แพ้เจ้าของ คือ เป็นโทษกับเจ้าของ)

กางเกงอุบล ลายผาแต้ม เกิดขึ้นจากวงสนทนาเล็ก ๆ ที่ร้านกาแฟแพรวคอฟฟี่ บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่แสดงภาพวิถีชีวิตความเป็นอีสาน ได้อย่างแจ่มชัด กำลังจะกลายเป็นส่วนแห่งความภูมิใจของชุมชน
สอบถามได้ที่  แพรวคอฟฟี่ ID ไลน์ :preawprapat

Leave a Reply