ผู้นำต้องทำก่อน “โคก หนอง นา ในจวนผู้ว่าฯ มุกดาหาร”

วันนี้ (15 เม.ย. 67) นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เผยว่า จังหวัดมุกดาหาร ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการสืบสาน รักษา และต่อยอด สู่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่การพัฒนาพื้นที่ “โคก หนอง นา หรือ อารยเกษตร” รวมทั้งการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหาร สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เพื่อหล่อเลี้ยงตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ต่อยอดไปสู่การนำไปจำหน่าย เป็นการสร้างรายได้ลดรายจ่าย ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืน

นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า โครงการโคก หนอง นา ในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ริเริ่มมาจากการพัฒนาพื้นที่ภายในจวนฯ ที่จากเดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเริ่มจากแปลงผักเล็ก ๆ ก่อนขยายมาเป็นแปลงนาสาธิต สวนผลไม้ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ ทำให้คนสามารถอยู่กับป่าที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนนำแนวทางความมั่นคงทางอาหาร นำความรู้ทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้สู่การทำโรงเพาะเห็ด การเพาะเลี้ยงไก่ไข่ เป็ด ห่าน และสัตว์น้ำ ประกอบกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการบริการจัดการน้ำในพื้นที่มาทำเกษตรกรรมเกิดเป็นโครงการ “แล้งนี้ต้องมีน้ำ” ซึ่งเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการนำน้ำจากแม่น้ำโขง ที่อยู่ระยะห่างออกไป 1 กิโลเมตร นำมาพักในบ่อพักน้ำในพื้นที่จวน จำนวน 2 บ่อ เพื่อใช้สู่การเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในการทำเกษตรทำให้สามารถทำประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งสามารถสูบน้ำได้วันละ 200,000 ลิตร รองรับการทำเกษตรในพื้นที่ได้ถึง 10 ไร่ สามารถทำการเกษตรได้เพียงพอตลอดทั้งปี เกษตรกรก็จะมีรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวมุกดาหารได้อย่างยั่งยืน

“จากการดำเนินโครงการโคก หนอง นา ในจวนดังกล่าว ปัจจุบันเรามีผลงอกงามอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจังหวัดมุกดาหาร ได้ปลูกผักสวนครัวและพืชสมุนไพร รวมถึงการปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีผักปลอดสารพิษไว้บริโภคภายในครัวเรือน และยังต่อยอดพัฒนาโดยการนำส่วนที่เหลือจากการใช้บริโภคในครัวเรือนไปแบ่งปันให้กับชุมชนได้ ส่งเสริมการสร้างความรักความสามัคคี ปลูกจิตสำนึกและวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้ เราได้ต่อยอดไปสู่ “โครงการไข่ไก่อารมณ์ดี” โดยนำผลผลิตไข่ไก่จากจวนฯ นำไปมอบเป็นของเยี่ยมประชาชนในโครงการต่าง ๆ ของจังหวัดมุกดาหาร อาทิ โครงการเยี่ยมคุณแม่หลังคลอด 7 อำเภอ ของชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร ตลอดจนโครงการบริหารจัดการขยะ ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่นอกจากจะเป็นต้นแบบให้กับการจัดการขยะในครัวเรือนของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ช่วยลดขยะในชุมชน ลดปัญหาน้ำเสีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกของเราได้อีกด้วย” นายวรญาณฯ กล่าว

นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งสำคัญของการดำเนินโครงการโคก หนอง นา ในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารต่อไป คือ การต่อยอดและขยายผลผลิตจากโครงการฯ ก้าวสู่การจำหน่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยการนำผลผลิตผักสวนครัวที่มีความหลากหลายและมีความต้องการของตลาดสูง อาทิ ผักสลัด พริก ผักชี โหระพา มะเขือเทศ ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น ที่ได้จากการปลูกสวนผักสวนครัวที่นอกจากแจกจ่ายแล้ว จะนำไปจำหน่าย ซึ่งรายได้เหล่านี้จะเป็นสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสวน โดยมีเป้าหมาย คือ การเป็นต้นแบบในการพัฒนาและการบริหารจัดการพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรม

“จากความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะทำให้จวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ การทำแปลงนาสาธิต แปลงผักปลอดสารพิษ การปลูกไม้ ไม้เศรษฐกิจ โรงเพาะเห็ด การเพาะเลี้ยงไก่ไข่ เป็ด ห่าน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชน และเกษตรกร เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตอนมีแนวคิดว่าให้ข้าราชการยืนอยู่เคียงข้างประชาชน ซึ่งเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” และต้องทำเป็นต้นแบบ โดยการเปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ร่วมกับส่วนราชการ ได้เห็นความตั้งใจและนำไปใช้ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงด้านอาหารสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงในครอบครัว ตลอดจนเผื่อแผ่ ไปยังบ้านเรือนใกล้เคียงในชุมชน ทำให้บ้านเมืองร่มเย็นมีสังคมน่าอยู่มากขึ้นด้วยน้ำใจของผู้คนที่แบ่งปันความสุขให้แก่กัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดตามแนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายวรญาณฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply