ส่องนโยบาย 8 ข้อ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รอดหรือไม่รอด!!

หลังจากราชกิจจานุเบกษาประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา คณะสงฆ์และชาวพุทธจับตาว่า “รัฐบาล” โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นใคร  ซึ่งต่อมาก็คือ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ก็ไม่ใช่  “คนไร้เดียงสา” ไม่รู้เรื่องกิจการพระพุทธศาสนาเสียเลย เพราะในปี 2551 ยุครัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช”  เป็นนายกรัฐมนตรี ชูศักดิ์ ศิรินิล เคยเข้าเป็นรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพุทธศาสนา รอบหนึ่งแล้ว

 แม้กระทั้งกิจการคณะสงฆ์ เรื่องของพระสงฆ์ เรื่องวัด “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ก็หาเป็นคน “ตะเกียง ไร้น้ำมัน”  เนื่องจากมี “คุณพ่อ” ผู้ให้กำเนิดมาจาก  “อดีตพระ”  ระดับ “พระครู” เสียด้วย คงซึมซับวิธีคิด วิธีคนวัด คงได้เชื้อมาจาก “บิดา” ผู้ให้กำเนิดมาบ้างไม่มากก็น้อย

“ผู้เขียน” ผิดหวังกับรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” และ “รัฐมนตรี” ที่มากำกับดูแลสำนักงานพุทธศาสนามาแล้วหลายรอบตั้งแต่ “แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด  ใจชื้นขึ้นมาหน่อย คณะสงฆ์ก็มีชีวิตชีวา หลัง “แจ๋น” ไป แล้วพรรคเพื่อไทยส่ง “พิชิต ชื่นบาน” มา แต่ก็มี “วิบากกรรม” ต้องพ้นตำแหน่งไปอีก ส่วนอีกคน “เพ้า” จักรพงษ์ แสงมณี ไม่ทันเห็นผลงานก็มีอันต้องหลุดไป

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” แม้จะไม่ใช่ความหวังเต็มร้อย แต่เมื่อวานหลังไปฟังการให้นโยบาย 8 ข้อกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีทั้งนโยบาย.. เชิงรุกและเชิงรับและรูทีน หวังได้ 80 %

นโยบาย 8 ข้อประกอบด้วย 1. การดูแลคุ้มครองพระพุทธศาสนา   2.การจัดการเรื่องปัญหาที่ดินวัด โดยจะดำเนินตั้งคณะกรรมการระดับชาติ  3.แนวทางการอุปถัมภ์วัดและคณะสงฆ์  4.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา   5. การปรับโครงสร้างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  6.การดูแลวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน7.การพัฒนาพุทธมณฑล โดยเฉพาะการบูรณะพระพุทธรูปองค์ประธานประจำพุทธมณฑล และ 8.การสนองนโยบาย เรื่องรัฐบาล Digital การบูรณาการร่วมกัน เช่น การทำทะเบียนของพระสงฆ์

“ผู้เขียน” เปรียบเทียบกับนโยบายของรัฐมนตรีชุดก่อนถือว่านโยบาย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” เข้าท่าและเข้าเป้ามากที่สุดโดยเฉพาะ การแก้ไขปัญหาที่ดินวัด ที่ชูศักดิ์ บอกว่าขอนั่งเป็น “ประธาน” เอง และเรื่องนี้ขอเป็นวาระแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรีลงนาม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วม ทั้งกระทรวงมหาดไทย ทหาร เกษตร กระทรวงทรัพย์ และให้ “พศ.” เป็น เลขานุการ

“ผู้เขียน” เรียกร้องมานานเรื่องเกี่ยวกับปัญหา “ที่ดินวัด” เนื่องจากเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศาสนา ทุกครั้งที่ประชุมในอนุกรรมาธิการไม่มีเรื่องอื่นใดนอกจาก “ที่ดินวัด” วัดไม่มีโฉนด วัดโบสถ์มีแล้ว สร้างไว้หลายสิบล้าน แต่ขอวิสุงคามสีมาไม่ได้ ประกอบพิธีบวชพระไม่ได้ ที่ดินวัดติดเขตทหารบ้าง กระทรวงทรัพย์บ้าง มหาดไทยบ้าง เกษตรบ้าง มั่วไปหมด หรือแม้กระทั้งที่พักสงฆ์นับหมื่นแห่ง สำนักสงฆ์อีกหลายพันแห่งไปตั้งอยู่ในป่า ก็มีปัญหาเรื้อรัง “อยู่ก่อน อยู่หลัง” 

นโยบายแก้ปัญหาที่ดินวัด..ถือว่า “ตรงจุด” ที่สุด และเป็นนโยบายเชิงรุกที่สุด เพราะวันหนึ่ง หากมี “ผู้นำประเทศ” เกิดอยาก “ทวงพื้นที่ดินรัฐคืน” วัดและคณะสงฆ์ “นอนผวา” ทั้งประเทศ การออกโฉนดที่ดินให้วัด..ถูกต้องแล้วต้องทำเป็น “วาระแห่งชาติ”  ที่ดินวัด โฉนดวัด ให้มันจบที่ “รุ่นเรา”

นโยบาย “ปรับโครงสร้าง พศ.” อันนี้ก็คือว่า “เชิงรุก” สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เกิดขึ้นเพราะการเรียกร้องของชาวพุทธ แต่ที่ผ่านมา “สำนักงานพุทธ” มีแต่ “คนด่า” เพราะไม่เคยทำงานเชิงรุก..หันไปทางขวา “คนมีอำนาจ” เซ็นต์ให้เลื่อนหรือไม่เลื่อนขั้น คือ “รัฐบาล”  หันไป “ทางซ้าย” เจอ “มหาเถรสมาคม”  ดีแต่ “ออกคำสั่ง” แต่ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณให้   “พศ.” เลย ไม่กล้าที่จะคิดอะไร เพราะคิดไป..ก็แค่นั่น เดียว “รัฐบาล -มส.” คุยกัน แผนงานที่คิดไปใช่ว่าจะเอาด้วย เลยปล่อย “เกียร์ว่าง” ดีกว่า ลอยตัว ประคองตัวเองให้รอดถึงฝั่งพอ!!

“การอุปถัมภ์วัดและคณะสงฆ์” นโยบายนี้ฟังจากปาก “ชูศักดิ์ ศิรินิล” แม้จะส่งสัญญาณไม่ชัด แต่เหมือนส่งนัยในใจถึง  “คดีเงินทอนวัด” พูดถึง การบูรณะวัด เงินอุดหนุนซ่อมแซมพระอาราม ควรตัดสินร่วม มิใช่อำนาจอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งแม้ พศ.จะมีคณะกรรมการก็จริง..แต่มันต้องรื้อกฎเกณฑ์ให้ชัด

นโยบายนอกนั้นไม่ว่าจะเป็นการบูรณะพระประธานประจำพุทธมณฑล ซึ่งเท่าที่ฟังติด “กรมศิลป์” และการซ่อมแซมฐานองค์พระประธานฟังจากเจ้าหน้าที่พศ. งบประมาณปีนี้..ทำแน่

“ผู้เขียน” มองดูแล้วนโยบายเกือบทุกข้อ “เข้าท่า” แต่จะทำได้จริงหรือไม่จริงนั่นอีกเรื่อง และหลายเรื่องเสียดายที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ไม่ได้ขึ้นมาพูดโดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ. 4 ร่าง ที่ร่างไว้ในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั้งการดูแลวัดและพระสงฆ์ในภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก

“ผู้เขียน” มองจุดแข็งของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” คือว่า รู้เรื่องกิจการพระพุทธศาสนาอยูในระดับดี รู้เรื่อง “ปรากฎการณ์” ความเป็นไปของคณะสงฆ์ได้ดี แต่ยัง “ไม่ลึกซึ้ง” เท่าไรนัก คนรอบกายมีแต่ “นักกฎหมาย” และ  “นักวิชาการ”  เว้น  “ดร.นิยม เวชกามา” ที่คาดหมายว่าจะเข้ามาช่วยดูแล “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ในฐานะ  “ผู้ช่วยรัฐมนตรี”  เป็นอดีตพระ “เปรียญธรรม 5 ประโยค” เป็นที่รู้จักของพระภิกษุสงฆ์และชาวพุทธเป็นอย่างดี

แต่ทั้งคู่มี “จุดอ่อน” คือ

ทั้ง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” และ  “นิยม เวชกามา” มีอายุมาก ความคิดจะไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ทันยุคสมัย และไม่ทัน “ข้าราชการประจำ”  การขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 8 ข้อ หรือกิจกรรมอื่น ๆ  หากมัวแต่รอข้าราชการประจำ “ไม่ทันกิน”  มันก็จะเข้าอีหรอบเดิม

สุดท้าย “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คำพูด” จับตาดูว่า นโยบาย 8 ข้อของ  “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะ “รอดหรือไม่รอด” หรือลอยไปตามสายลม..เหมือนคนก่อน ๆ

Leave a Reply