รู้จักหลักศาสนาอิสลาม “ฮูกมปากัต” ถูกกล่าวหาว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

             คำสอนศาสนาอิสลาม “ฮูกมปากัต” หรือ “กฎชุมชน” ผู้นำศาสนาเตรียมใช้ ทั้งจังหวัด ในขณะที่อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามว่ากฎหรือนโยบายของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และ ชอบด้วยคำสั่งทางปกครองหรือไม่

 @ @ ความหมายของคำว่า  “ฮูกมปากัต” และความจำเป็นต้องใช้

            สุทธิมาตร มาหามัด อิหม่ามมัสยิดกลางยะหา กล่าวว่าคำว่า “ฮูกมปากัต” ความหมาย ฮูกม แปลว่ากฎระเบียบ ฮูกมปากัต คือ ความร่วมมือในด้านการบริการดูแลสังคม เพื่อให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา โดยครั้งแรกมีประชาชน ร้องเรียนว่า บรรดาเด็ก ๆ หนุ่มๆสาว ๆ วัยรุ่นเกิด การกระทำผิดบางอย่างที่ทางผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ คนอื่น ๆ ไม่สบายใจ จึงได้มีดำริที่จะแก้ปัญหาร่วมกับคณะกรรมการมัสยิด ได้มาพูดคุยร่วมกัน เพื่อให้เยาวชนอยู่ในกฎระเบียบ ศาสนา เพื่อให้เกิดความสันติสุขในท้องที่ และตั้งกฏ “ฮูกมปากัต” โดยมี 4 ฝ่าย เข้าร่วมทั้ง ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร เทศบาล คณะกรรมการมัสยิด และประชาชนที่สนใจ เพื่อแก้ปัญหา โดยจะเน้นเฉพาะประชาชนที่เป็นอิสลามเท่านั้น ไม่ได้ใช้ทั่วไป ใช้เฉพาะเขตพื้นที่ ที่มัสยิดกลาง อ.ยะหา ดูแลเท่านั้น รวมทั้ง หมู่ที่ 2 บางส่วนที่อยู่ในมาตรการนี้

            ด้าน ร.ต.อ.อนุชา แวดอยี กรรมการมัสยิดกลางยะหา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกฎระเบียบ 4 ฝ่าย “ฮูกมปากัต” มัสยิดกลาง อ.ยะหา จ.ยะลา ได้เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่มารวมกลุ่มจับคู่ อาจไม่ใช่สามีภรรยา ซึ่งสร้างความลำบากใจให้ชุมชน ผู้ปกครอง ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ให้เบาบางไป โดยใช้แนวคิดหลักยุติธรรมทางเลือก กฎระเบียบชุมชนเป็นกรณีพิเศษใช้ 4 ฝ่ายเข้าร่วม เป็นต้นแบบ จึงรวมกลุ่มประชุมครั้งแรก และครั้งต่อ ๆ มานานกว่า 6 เดือน เพื่อหาข้อสรุป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนอยู่ในระเบียบ จารีตประเพณีศาสนา ห่างไกลยาเสพติด ลดแรงเสียดทานการชักนำของผู้ไม่หวังดี ลดการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงได้ร่างกฎ บทลงโทษของ “ฮูกมปากัต” ขึ้น เริ่มใช้เมื่อ 28 ธ.ค.62 ตั้งแต่ใช้มา จะมีการจับมาไกล่เกลี่ย ทั้ง 2 ฝ่ายก่อน ครั้งแรกให้คำตักเตือน เรียกผู้ปกครอง ผู้ดูแล ผู้นำท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่าม เพื่อมารับทราบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เสียชื่อเสียง

             ร.ต.อ.อนุชา กล่าวว่า ตั้งแต่ใช้มาตราการดังกล่าวมา 1 ปี ยังไม่มีการจับหนุ่มสาวคู่ใดแต่งงาน สำหรับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิ ถ้าพูดคุย อย่างน้อยต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ ด้วย ส่วนข้อบังคับนี้ได้กำชับหนักแน่น ระเบียบนี้ใช้กับมุสลิมเท่านั้น

             มีประเด็นที่ “ทีมข่าวอิศรา” เกาะติดอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “มาตรการจัดระเบียบสังคม” ของพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ก็ได้ แต่ที่นั่นเรียกว่า “ฮูกมปากัต” หรือ “กฎชุมชน” เพื่อแก้ไขปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม มั่วเพศ จนก่อปัญหาสังคมอย่างหนัก

            การจัดระเบียบสังคม แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องดี แต่ที่ อ.ยะหา กลายเป็นกระแสวิจารณ์ เพราะมีการออกประกาศโดยตำรวจ สภ.ยะหา ว่า ถ้าพบเห็นชายหญิงอยู่กันตามลำพังในที่ลับตาคน แล้วกระทำไม่เหมาะสมเชิงชู้สาว จะดำเนินการ 2 อย่าง คือ

             1.ตามพ่อแม่ และผู้นำศาสนามาตักเตือน พร้อมจัดพิธีแต่งงานให้ตามหลักศาสนาและ

              2. ดำเนินคดี หากมีกรณีกระทำอนาจาร หรือล่วงละเมิดทางเพศ

             เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นวิจารณ์อย่างหนัก จนถูกขนานนามว่าเป็นกฎ “ชู้สาวจับแต่งงาน” มีนักสิทธิมนุษยชนออกมาคัดค้าน อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ฝ่ายหญิง เพราะการจับแต่งงานโดยที่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม อาจทำให้เกิดการหย่าร้าง และมีปัญหาสังคมตามมา ลูกเต้าไม่มีคนเลี้ยงดู

               แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกระแสสนับสนุนเช่นกัน ทั้งจากชาวบ้านทั่วไปที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของวัยรุ่นและกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ มีการรวมตัวไปให้กำลังใจ พ.ต.อ.สายูตี กาเตะ ผู้กำกับการ สภ.ยะหา ถึงโรงพัก พร้อมประกาศเชียร์ให้ใช้กฎ “ฮูกมปากัต” ต่อไป

@@ เปิดที่มา “ฮูกมปากัต” หวังจัดการปัญหาค้าประเวณี

         นอกจากการรวมกลุ่มไปให้กำลังใจผู้กำกับการ สภ.ยะหา แล้ว ทีมข่าวยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ จ.ยะลา มีปํญหาเด็กผู้หญิงขายประเวณีด้วย โดยใช้ช่องทางส่งข้อความเชิญชวนให้ซื้อบริการทางแอปพลิเคชั่นไลน์ โดยการขายประเวณีเกิดขึ้นหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาที่มีการเสนอขายกัน เริ่มตั้งแต่ครั้งละ 100 บาทไปจนถึง 1,500 บาทถึง 2,000 บาท

        ทีมข่าวนำข้อมูลนี้ไปสอบถามกับผู้กำกับการ สภ.ยะหา ได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง

         “ก่อนประกาศใช้ฮูกมปากัต ได้ข้อมูลจากอิหม่ามประจำมัสยิดว่า ไม่ไหวแล้ว ต้องให้ตำรวจมาช่วย เพราะในพื้นที่มีการค้าประเวณีกันทุกคืน เมื่อตำรวจออกไปตรวจ ก็พบว่าเป็นความจริง มีเด็กจากนอกพื้นที่มาใช้พื้นที่ปั๊มน้ำมันเป็นจุดนัดพบ และตกลงราคา จากนั้นก็พลอดรักกัน และขึ้นไปกระทำอนาจารบริเวณจุดชมวิว บนภูเขาบูเก๊ะปาเระ ซึ่งมีหอชมดวงจันทร์ ใช้ในกิจกรรมดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา”

            นี่เป็นข้อมูลตรงจากผู้กำกับการ สภ.ยะหา และว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์ตอนเช้าๆ ก็เจอถุงยางอนามัยเกลื่อนหลายจุดบนภูเขา ทำให้อิหม่ามประจำมัสยิดและชาวบ้านในพื้นที่รับไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มวัยรุ่นที่เสพยาเสพติดก่อเหตุรุมโทรมเด็กสาว รวมทั้งมีการทะเลาะวิวาทกัน จนมีการยิงกันเสียชีวิตมาแล้ว

@@ อิหม่าม-ผู้นำท้องที่-เจ้าของปั๊ม สะท้อนปัญหา

        ข้อมูลของ พ.ต.อ.สายูตี สอดคล้องกับผู้นำศาสนาอย่าง นายสุทธิมาตร มาหามัด อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง อ.ยะหา จ.ยะลา ที่บอกว่า ในพื้นที่มีการทำผิดประเวณี จริง เคยมีเหตุการณ์นำเด็กแรกเกิดไปทิ้งถังขยะ ทิ้งโถส้วม ทำให้กรรมการมัสยิดไม่สบายใจมากๆ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของศาสนาอิสลาม จึงต้องหาทางแก้ไข และได้หารือจนได้รับความร่วมมือจากทางตำรวจ จึงสามารถลดปัญหาลงไปได้

      ทีมข่าวฯ ตามไปสำรวจบริเวณปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งใน อ.ยะหา ที่ฝ่ายตำรวจระบุว่ามีวัยรุ่นหญิงชายนัดพบกัน และตกลงกันเพื่อซื้อขายประเวณี

       อาซีซ๊ะ หะยีแวเต๊ะ เจ้าของปั๊มน้ำมัน ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ของปั๊ม มีวัยรุ่นมามั่วสุมกันจริง เป็นปัญหามานานกว่า 1 ปีแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร เคยมีปัญหาทะเลาะวิวาทกันถึงขั้นมีคนตาย แต่ตอนหลังมีการใช้กฎ “ฮูกมปากัต” ทำให้ดีขึ้น วัยรุ่นที่มั่วสุมก็หายไป

     ขณะที่ นายอาดีละ อาบู ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ต.ยะหา อ.ยะหา กล่าวว่า ทราบเรื่องค้าประเวณีมาตลอด แม้จะไม่ได้รับข้อความเสนอขายประเวณีด้วยตัวเอง แต่ก็มีคนรู้จักที่ได้ข้อความเชิญชวน ตนจึงตัดสินใจร่วมกับเจ้าหน้าที่และฝ่ายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ “กฎชุมชน” กระทั่งสามารถจับกุม ตักเตือนผู้กีระทำผิดได้ โดยคนที่จับได้เป็นเด็กนอกพื้นที่ทั้งหมดที่เข้ามามั่วสุมกัน

@@ ผู้นำศาสนาหนุนหารือสำนักจุฬาฯ “ฮูกมปากัต” ทั้งจังหวัด

       ด้าน นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ปัญหาการค้าประเวณีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนไม่ทราบว่ามีจริงหรือไม่ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ในสังคมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียหลายๆ ที่ก็มีการค้าประเวณี ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และหากไม่เกิดขึ้นวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องเกิดขึ้น ปัญหาคือเราจะจัดการอย่างไรมากกว่า ตนคิดว่าในแง่หนึ่งก็ต้องกลับไปที่ผู้ปกครองว่าจะจัดการกับปัญหาของครอบครัวตนเองอยางไร และคิดว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งครอบครัว ชุมชน ตลอดจนผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย

       ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาชื่อดังที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่ และยังเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา” โดยนายนิมุ บอกว่า จังหวัดยะลาเคยใช้กฎ “ฮูกมปากัต” มาแล้ว แต่เป็นการดำเนินการในระดับจังหวัด โดยความร่วมมือของจังหวัด, สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, องค์กรภาคเอกชน รวมทั้งมูลนิธิและอาสาสมัคร เพื่อแก้ปัญหาการมั่วสุมกันของวัยรุ่น และป้องกันการกระทำผิดประเวณี

        ในขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ จากกรณีสถานีตำรวจภูธรยะหา จ.ยะลา ออกประกาศว่า นำร่องจับ “แต่งงาน” หากพบเห็น “ชาย/หญิง” ที่มิใช่สามีภรรยา มีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาว ในที่สาธารณะหรือที่ลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ สถานีตำรวจภูธรยะหาและคณะกรรมการมัสยิดจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม ยุติธรรมทางเลือก หรือ ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย ดังนี้ นำส่งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เรียกผู้ปกครองเพื่อทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาให้ถูกต้อง ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ในข้อหา “กระทำอนาจาร” หรือ “กระทำชำเรา” และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

            นางอังคณา ระบุว่า ควรมีการตรวจสอบว่า คำสั่งหรือนโยบายของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และ ชอบด้วยคำสั่งทางปกครองหรือไม่

          กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดก พ.ศ. 2489 ซึ่งใช้ใน 4 จชต. เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการสมรส การสิ้นสุดการสมรส และการจัดการทรัพย์มรดก แต่ไม่ได้ให้อำนาจ จนท. บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดในการบังคับให้หญิง หรือเด็กหญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ

          เคยเจอเด็กหญิงคนหนึ่งถูกชายที่มีลูกเมียแล้วหลอกให้มาเจอ แล้วถูกผู้นำศาสนาบังคับให้เด็กหญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ โดยอ้างว่าทำผิดศาสนา ผิดกฎหมู่บ้านโดยอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง นอกจากนั้นยังปรับแม่ของเธอฐานทำให้เสื่อมเสียงแก่ชุมชน เด็กหญิงปฏิเสธการแต่งงานเพราะต้องการเรียนหนังสือจึงหนีออกจากหมู่บ้าน ขณะที่ครอบครัวของเธอถูกผู้นำในหมู่บ้านคุกคาม และชักชวนไม่ให้ชาวบ้านคบหาเนื่องจากอ้างว่าครอบครัวของเธอได้ทำบาปร้ายแรง ปัจจุบันหญิงคนนี้ยังกลับบ้านไม่ได้

           การบังคับแต่งงานเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัวหรือชุมชน หรือแม้กระทั่งการจัดการความต้องการทางเพศของเยาวชนด้วยการบังคับแต่งงาน เป็นอีกสถานการณ์ที่น่ากังวลเพราะจะทำให้ผู้หญิง / เด็กหญิงตกอยู่ในภาวะขมขื่นไปตลอดชีวิต มีหลายกรณีที่หลังจากถูกบังคับแต่งงานไม่นานเกิดการหย่าร้าง ประเทศมุสลิมหลายประเทศ รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เสนอว่าประเทศมุสลิมต้องแก้ไขโดยให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และให้ทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ให้พ่อแม่สามารถมีเวลาเอาใจใส่ครอบครัว กรณีครอบครัวใน จชต. พบว่าครอบครัวเป็นลักษณะ ผัวเดียวหลายเมีย เนื่องจากชายมีภรรยาได้ 4 คน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูกๆได้ทั่วถึง #การบังคับเด็กแต่งงานจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาแต่กลับจะสร้างปัญหามากขึ้น

       ตามหลักการอิสลามเป้าหมายของการแต่งงานจะให้ความสำคัญที่ “การสร้างครอบครัว” มากกว่า “การมีเพศสัมพันธ์” ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรระมัดระวังการใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างเพื่อเป็นเหตุผลในการรองรับการแต่งงานของเด็กและเยาวชนเพียงเพื่อสนองความต้องการมีเพศสัมพันธ์ แม้กฎของชุมชนและการจัดการเพื่อปกป้องเกียรติของชุมชนจะมีความสำคัญมากในท้องถิ่น แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ากฎชุมชนขัดกับหลักการศาสนา หรือหลักกฎหมายบ้านเมืองโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

               มีตัวอย่างบทบันทึกวัตรปฏิบัติ (ซุนนะฮฺ) ของท่านศาสดามุหัมมัด (ซ.ล.) ที่กล่าวถึงตอนที่ท่านได้ยุติการแต่งงาน (ประกาศให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะ) ของซอฮาบะฮฺ (สาวก) คนหนึ่ง เมื่อท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้รับทราบว่าซอฮาบะฮฺผู้นั้น (สาวก) ท่านนั้นได้บังคับลูกสาวของเขาให้แต่งงาน

             ประสบการณ์ส่วนตัวพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างจำกัดในการจัดการปัญหาต่างๆ ในครอบครัวและชุมชน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การหย่า การจ่ายค่าเลี้ยงดู การจัดการทรัพย์สิน รวมถึงการบังคับแต่งงาน เนื่องจากกฎหมายอิสลามที่ใช้อยู่ในพื้นที่ขาดความชัดเจน ในแง่การตีความซึ่งไม่แน่นอน เพราะขึ้นกับผู้นำศาสนาแต่ละคน โดยไม่มีประมวลหลักเกณฑ์การตัดสินตามกฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ อีกทั้งผู้นำศาสนาในระดับชุมชนและระดับจังหวัดล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งอาจไม่เข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้หญิงเผชิญอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงอันเนื่องมาจากฐานคิดเรื่องเพศสภาพ รวมถึงกฎชุมชนที่ปฏิบัติโดยอ้างความยุติธรรม วัฒนธรรมและศาสนาซึ่งขาดการตรวจสอบ อีกทั้งผู้หญิงยังไม่สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐได้กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม #กฎชุมชนที่ปฏิบัติกันมาในหลายกรณีไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญในเรื่องความรัก ความเมตตา ความยุติธรรม และความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และมาตรฐานสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง

                 กรณีความรุนแรงในครอบครัวและการเข้าถึงความยุติธรรมของหญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีจำนวนน้อยมากที่คดีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดยที่ส่วนมากพนักงานสอบสวนมักให้ผู้นำศาสนาทำการไกล่เกลี่ย จึงเห็นได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างหญิงชายที่ไม่เสมอภาคกันมีความสำคัญมากต่อการสร้างครอบครัว เช่น การมีภรรยาหลายคน ความไม่เท่าเทียมด้านการสมรสและการหย่า การบังคับแต่งงานในวัยเด็ก การจำยอมสามีเรื่องการเว้นระยะการมีบุตรทั้งที่ผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพ การสั่งสอนเมียด้วยการทุบตี เป็นการขัดกับปรัชญาพื้นฐานของอิสลามที่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรม ความรัก ความเมตตา ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

———————————

ขอบคุณแหล่งข่าว -ภาพ : มติชนออลไลน์.

:  ศูนย์ข่าวภาคใต้อิศรา

Leave a Reply