รายงานพิเศษ: เรื่องเล่าการเดินทางดูแปลงชาว “โคก หนอง นา” ประจวบคีรีขันธ์

              “ประจวบคีรีขันธ์” เป็นจังหวัดในภาคตะวันตกหรือใต้ตอนบนของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 8 อำเภอ มีประชากรประมาณ 550,000 คน  เป็นจังหวัดที่มีรูปร่างยาวในแนวเหนือ-ใต้ และแคบในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยส่วนที่แคบที่สุดมีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ในขณะที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในจังหวัด คือ “เทศบาลเมืองหัวหิน”

              และที่เทศบาลหัวหินนี้เอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มีต่างชาติมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ที่นี่การปลูกผักปลอดสารพิษตลาดมีความต้องการมาก เนื่องจากคนต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกบางรายเป็น “มะเร็ง” และหลายคนป้องกันมะเร็งด้วยกันรับประทาน “ผักปลอดสารพิษ”

             “ดำรงค์ มากระจัน”  พัฒนาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า จังหวัดประจวบมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา” ทั้งหมด 79  ครัวเรือน ที่ผ่านมาบางแปลงก็ใช้แบบมาตรฐานการขุดตามแบบของกรมพัฒนาชุมชน บางรายขอเขียนใหม่ แปลงที่ขอเขียนใหม่มีสูงถึง 44 แปลง ซึ่งทางเราไม่มีปัญหา แต่มันก็จะล่าช้าออกไปในการทำสั่งจ้างและขุดบ่อ เพราะมันต้องรอแบบตามที่เจ้าของแปลงเขาต้องการ

             ในขณะเดียวกันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ดำเนินการโครงการตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา”  มีพื้นที่ดำเนินการทั้ง 1 ไร่และ 3 ไร่ รวม จำนวน 173 แปลง มีปัญหารูปแบบเช่นเดียวกันกับครัวเรือนที่เข้าร่วม

            “ที่อำเภอหัวหินตอนนี้ขุดไปแล้ว 2-3 แปลง อำเภอหัวหินมีต่างชาติมาอาศัยอยู่กันมาก บางคนมีภรรยาเป็นชาวไทย มารายเป็นอาจารย์สอนภาษาหรือแม้กระทั้งบางคนเขามาประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ  จำพวก ผักปลอดสารพิษนี่  เท่าที่คุยกับคนเข้าร่วมโครง หนอง นา  เขาต้องการมาก..”

             เมื่อเราได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากดำรงค์ มากระจัน พัฒนาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แบบนี้ไม่รอช้า “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ” จึงได้เดินทางเข้าสู่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่ามกลางข่าวลือว่า “หัวหิน” คนนอกจะเข้าไปต้องกักตัวและเทศบาลหัวหิวตอนนี้ถูกปักหมุดไว้ว่าเป็น “พื้นที่สีแดง”  เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

             ทีมงานได้ปรึกษาหารือการลงพื้นที่เพื่อไปดูโคก หนอง นา  เนื่องจากคิดว่า การเดินทางเข้าสู่ “เทศบาลหัวหิน” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาจเสี่ยงเกินไปสำหรับทีมงาน โดยเฉพาะหากถูกกักตัวหรือโชคร้ายเกิดได้รับเชื้อมาอาจกระทบต่องานและคนในครอบครัว จึงเบี่ยงเข็มขออาศัยบารมี “พี่เก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ขอเข้าพักที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ไม่ห่างไกลจากอำเภอหัวหินมากนัก   โดยตั้งเงื่อนไขว่า ขอห้องพักอย่างเดียว ไม่รบกวนประการอื่นใดทั้งสิ้น เนื่องจากทีมงานเองก็มาจาก “พื้นที่พิเศษสีแดง” เฉกเช่นเดียวกัน ป้องกันดีกว่าแก้!!

              “พี่หมวย” วาสนา ไขว้พันธุ์   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี เป็นผู้อำนวยการคนใหม่ที่นี้นามสกุลเหมือนกันกับ “ธรรมนูญ ไขว้พันธุ์”  พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรีเพราะพี่หมวยคือ  “คู่ชีวิต” ของพี่ธรรมนูญ

             “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ” ได้รับการต้อนรับที่ดียิ่งจากทั้งสองท่าน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี หากไม่มีโลโก้ “กรมพัฒนาชุมชน” มันคือรีสอร์ท ดี ๆ นี้เอง ถูกปรับพื้นที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม่และแปลงผักตามนโยบายของ “พี่เก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ห้องพักใหม่และสะอาด ไม่เหมือนกับที่พักของหน่วยงานภาครัฐที่เคยประสบพบเจอมา

             “เจ้าบ้าน” ต้องการเลี้ยงอาหารค่ำ แต่ทีมงานขอปฎิเสธเนื่องจากความเกรงใจและผนวกกับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทั้งเขาและเรา

            สุดท้ายเจ้าบ้านซื้ออาหารสำเร็จรูปมาให้ทานที่ “ห้องรับรอง”

            “ชุมชนหัวหิน” ก่อตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากทางตอนเหนือ ละทิ้งถิ่นฐานและเดินทางมาจนถึงพื้นที่ที่เป็นบริเวณใกล้กับเขาตะเกียบในปัจจุบัน แล้วได้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณนี้ เพราะเห็นว่าเป็นหาดทรายที่สวยงามและแปลกกว่าที่อื่น คือมีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อีกทั้งที่ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับทำการเกษตรและการประมง แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสมอเรียง”

            ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร ต้นราชสกุลกฤดากร) ได้มาสร้างตำหนักหลังใหญ่ชื่อ “แสนสำราญสุขเวศน์” ที่ด้านใต้ของหมู่หินริมทะเล (ปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ติดกับโรงแรมโซฟิเทลฯ) และทรงขนานนามหาดทรายบริเวณนี้เสียใหม่ว่า “หัวหิน”จนเมื่อเวลาล่วงไป ทั้งตำบลในบริเวณนี้ก็ถูกเรียกในชื่อเดียวกันว่าหัวหิน และเจริญเติบโตขยายขึ้นเป็นอำเภอหัวหินจนถึงปัจจุบัน

           อำเภอหัวหินเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศและมีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผู้หลงไหลในธรรมชาติ ทะเล ภูมิประเทศทะเลและภูเขา มีความอุดมสมบูรณ์และมีกลิ่นไอแห่ง ความเจริญรุ่งเรือง มีความผสม ผสานความเป็นอารยธรรมของราชสำนักและชุมชนท้องถิ่นยาวนานนับร้อยปีได้ดี และปัจจุบันที่ภายในเขตเทศบาลมีมูลค่าสูงมาก

           “กุลวรารัฐ กนกหิรัญ”  พัฒนาการอำเภอหัวหิน พร้อมด้วยนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต.ได้พาทีมงานไปดูแปลงครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา โดยวางเป้าหมายไว้ 3 แปลงในเขตอำเภอหัวหิน

            แปลงแรกของ “ไพรินทร์ เรืองอร่าม” บ้านหนองเหียง ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า

             “เดิมตนเองทำธนาคารขยะในชุมชน มีคนมาดูงานตลอด ช่วงหลังเกิดโควิด ไม่มีคนมา เมื่อทางพัฒนาชุมชนอำเภอชวนทำโคก หนอง นา รีบสมัคร และทำเลย ตรงนี้ช่วยได้มาก ตอนนี้มีรายได้จากเลี้ยงไก่ เป็ด และผักปลอดสารพิษ ตลาดต้องการมาก เพราะในตำบลหินเหล็กไฟมีคนอาศัยอยู่ 2 พันกว่าครอบครัว มีต่างชาติมาอยู่เยอะ พวกนี้ต้องการผักปลอดสารพิษ บางคนเป็นมะเร็งยิ่งต้องการผักปลอดสาร  โคก หนอง นา ทำให้ตนเองและครอบครัว นอกจากลดรายได้แล้ว ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิดแบบนี้..”

             เท่าที่ทีมงานสังเกตดูแปลงของไพรินทร์ สภาพพบ่อเพิ่งขุดใหม่ ๆ อาจไม่ตรงตามแบบของกรมการพัฒนาชุมชน เนื่องจากพื้นที่มีก้อนหินขนาดใหญ่ ภายในสวนมีการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ มีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมาร่วมสนับสนุน มีฐานเรียนรู้หลายฐานทั้ง ฐานทำปุ๋ยหมัก ฐานคนเอาถ่าน

            “ที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของแม่ แต่แม่ให้ทำเพื่อส่วนรวมได้ การทำโคก หนอง นา หรือธนาคารขยะ เราทำในนามชุมชน มิได้ทำเพื่อส่วนตัวอย่างเดียว มีเครือข่ายประมาณ 20 ครัวเรือน ตอนนี้ขยะไม่ได้ทำแล้ว เพราะไม่มีเวลา ส่วนใหญ่ทุ่มให้เวลากับโคก หนอง นา เพราะเพิ่งเริ่มต้น อนาคตอยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน..”  ไพรินทร์ เรืองอร่าม กล่าว

            หลังจากพูดคุยเรียบร้อยแล้ว แปลงที่สองพัฒนาชุมชนอำเภอชวนให้ไปดูแปลงของ “ดร.รัศมี  ผลจันทร์” ในชุมชนศิลาเอก  ต.หัวหิน  พื้นที่เข้าร่วมโครงการขนาด 3 ไร่ ที่น่าสนใจคือ ดร.รัศมี  ผลจันทร์ เป็นแกนนำชุมชนชาวคริสตจักรศิลาเอกหัวหินและที่ดินเท่าที่สอบถามคนสวนราคาไม่ต่ำกว่าไร่ละ 12 ล้านบาท จังหวะที่ไปดู ไม่เจอเจ้าของพื้นที่เนื่องจากติดภารกิจด่วนต้องไปหาหมอ ภายในแปลงมีการปลูกแปลงผักหลายชนิด มีไก่นับร้อยตัว คนสวนกำลังจัดแจงแปลงผักและดายหญ้าภายในสวน รอบ ๆ สวนสังเกตมีเรือนพักและบ้านจัดสรรหลายหลัง พัฒนาการอำเภอหัวหินบอกว่า ที่นี้ยังไม่ได้ขุดบ่อ แต่กำลังจะขุดเร็ว ๆ นี้

           เมื่อไม่เจอเจ้าของแปลงเป้าหมายต่อไปของเราคือ แปลงของ “กฤษณ สีสด” เด็กหนุ่มอดีตเชฟโรงแรมแห่งหนึ่งใจอำเภอเมืองหัวหิน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 รอบแรกทำให้ต้องออกจากงาน หันมาเลี้ยงวัวและไก่ หารายได้เลี้ยงครอบครัว ในเนื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ เมื่อมีโครงการโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน จึงเข้าร่วมสมัคร

            “เข้าร่วมโครงการเพียงแค่ 1ไร่ บนที่ดิน10 ไร่ เดิมแถวนี้ปลูกสับปะรด ตอนหลังมันปลูกไม่ค่อยได้ ราคาก็ไม่ดี จึงอยากทำโคกหนอง นา ลองปลูกผักสร้างความมั่นคงทางอาหารก่อน หากมั่นคงเดินต่อไปได้ ก็อยากจะทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ พร้อมกับทำเป็นโฮมสเตย์ เพราะเรื่องทำอาหารเป็นงานที่ถนัด..”

           หลังจากดูแปลงครัวเรือนเข้าร่วมโคก หนอง นา เรียบร้อย “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ” ในฐานะแขกบ้านแขกเมืองพัฒนาการอำเภอต้องการเลี้ยงอาหารกลางวัน แต่เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โควิด –19 เหตุผลเหมือนกับการปฎิเสธ พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี ป้องกันดีกว่าแก้  จึงกลับมายังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี และตั้งใจไว้ว่าจะดูงานที่จังหวัดเพชรบุรีอีกสักแปลง แต่ต้องเปลี่ยนโปรแกรมกะทันหัน จึงสอบถามความคืบหน้า การดำเนินการโคก หนอง นา  จาก “ธรรมนูญ ไขว้พันธุ์”  พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้บอกว่าทีมงานว่า

           “จังหวัดเพชรบุรีมีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการกับกรมการพัฒนาชุมชนในงบปกติ76 แปลง งบเงินกู้ 7 แปลง ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนละ 1 ไร่และ 3 ไร่ มีแปลง 15 ไร่แปลงเดียวจากงบเงินกู้คือ  สวนเพชรรีสอร์ท  ตอนนี้ขุดไปบ้างแล้ว 6-7 แปลง สำหรับแปลงของสวนเพชรรีสอร์ทให้ทหารมาช่วยขุด ซึ่งตอนนี้กำลังขุดอยู่..”

           โคก หนอง นา  คือ แนวทางการดำเนินชีวิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ พอกิน พอใช้ พออยู่และพอร่มเย็น ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในห้วงเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด -19 นี้ ทีมงานข่าวเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่ทุกภูมิภาคไม่ต่ำกว่า 20 จังหวัดได้พบว่า ประชาชนพอใจกับสิ่งที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาในช่วงเวลาที่พวกเขาประสบกับปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 หลายครอบครัวผู้นำตกงาน หลายครอบครัวขาดรายได้ และหลายคนจำเป็นต้องขายรถ ขายบ้านในเมืองหลวง ในตัวเมืองแล้วกลับไปถิ่นกำเนิดดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

           การที่กรมพัฒนาชุมชนได้เอื้อมมือมาช่วยทั้งในการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำ ทั้งเรื่องการนำเอาวัฒนธรรมเอามือสามัคคีกลับสู่ชุมชนท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทั้งพระภิกษุสงฆ์ แกนนำชุมชนหมู่บ้าน ปราชญ์ชุมชน ชื่นชอบและคาดหวังมากว่าหากโครงการโคก หนอง นานี้สำเร็จและต่อเนื่อง จะนำประเทศชาติไปสู่เป้าหมาย “ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ด้านความสุขให้กับประชาชนชุมชนและประเทศได้อย่างแท้จริง..

         

Leave a Reply