ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา”มจร” เสนอแนวทางยุติสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ผ่านหลักพุทธสันติวิธี

วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๕ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า เป็นผู้ดำเนินรายการเวทีสันติสนทนาของหลักสูตรสันติศึกษา มจร บริการวิชาการสังคม ภายใต้หัวข้อ “สงครามและสันติภาพ ถอดบทเรียนรัสเซียกับยูเครน” โดยได้รับความเมตตาจากพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. (หรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวเปิดเวทีสันติสนทนาว่า ขอให้พวกเราส่งสัญญาณไปถึงพี่น้องยูเครนและพี่น้องรัสเซียที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงทั้งสองประเทศ โดยไม่มีใครอยากให้ตกอยู่ในชะตากรรมแบบนี้ เพราะเราเลือกที่จะใช้วิธีการใช้ความรุนแรง โดยยูเครนเลือกไม่ได้ว่าจะทำสงคราม แต่รัสเซียอาจจะเลือกได้โดยเลือกทำสงคราม จึงขอให้พวกเราส่งพลังกำลังใจ เพราะโลกทั้งผองเราเป็นพี่น้องกันพร้อมเราสามารถเรียนรู้ประเด็นของสงคราม เพราะสงครามไม่ได้แค่สงครามภายนอกแต่มีสงครามภายในด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวประเด็นสำคัญว่า เราได้ยินสงครามเย็นหลังจากสงครามสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความตรึงเครียดกัน จึงมีการนำไปสู่การทำลายกำแพงเบอร์ลินในเยอรมัน โดยผู้นำรัสเซียอยู่ในอำนาจมายาวนานต้องการเป็นประเทศมหาอำนาจเหมือนในอดีต จึงพร้อมเผชิญหน้าต้องการทำสงครามกับยูเครนและนานาชาติซึ่งแท้จริงคนรัสเซียและยูเครนเป็นพี่น้องกัน ผู้นำรัสเซียบอกว่าตนเองทำถูกต้อง โดยรัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งยูเครนผู้นำหนุ่มไม่ยอมหนีต่อสู่กับรัสเซียเพื่อต้องการรักษาเอกราช มีเสรีภาพอย่างยืนหยัด จึงเห็นใจทั้งสองประเทศแต่ทั้งสองประเทศต้องลดความสุดโต่ง จึงสามารถประนีประนอมกันได้เพื่อยุติการใช้ความรุนแรง ผู้นำศาสนาจึงมีความสำคัญในการสื่อสารเพื่อหาทางออกหรือส่งสัญญาณยุติความรุนแรง จึงควรมีการเจรจาจะต้องเจรจาแบบไม่เปิดเผยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหน้า ซึ่งแท้จริงสงครามเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ จึงต้องมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยนักปรัชญาชาวเยอรมันสะท้อนว่า “สันติภาพถาวรยั่งยืน” ถ้าเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่โหวตเพื่อทำสงครามไม่เกิดก่อสงคราม เพราะผู้นำมาจากประชาชนจะต้องดูแลประชาชนเป็นอย่างดี จากสงครมโลกครั้งที่ ๒ มีความชัดเจนว่าประเทศไหนประชาธิปไตย ซึ่งเงื่อนไขในการเข้าสมาชิกจะต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจึงมีการทำสงคราม คำถามถ้ารัสเซียเป็นประชาธิปไตยจะมีการรบหรือไม่อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เราต้องติดตามข่าวสารเพราะกระทบต่อคนทั้งโลก จึงฝากว่า โลกเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงเพราะอัตตาของแต่ละประเทศซึ่งมีความขัดแย้งจึงต้องมีกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี สร้างความเป็นธรรมมีความยุติธรรมของคนในสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวประเด็นสำคัญว่า เราอาจจะมองรัสเซียว่าดำแต่เราไม่ต้องการสงครามและความรุนแรงใดๆ ซึ่งยูเครนกับรัสเซียมีความใกล้ชิดทางด้านศาสนา ภาษา วัฒนธรรม รวมไปถึงการเลือกตั้งมีการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ซึ่งประเด็นหลักคือเป็นสมาชิกนาโตภายใต้สหรัฐอเมริกา จึงยกระดับความขัดแย้งมาตามลำดับสู่ความรุนแรง โดยชาวยูเครนบางกลุ่มรู้สึกว่าเป็นเชื้อสายรัสเซีย ทำให้เราเห็นปฏิบัติการข่าวสารซึ่งคนบางกลุ่มไม่ชอบผู้นำรัสเซียจึงถือโอกาสต่อต้านการเกิดขึ้นของสงคราม สิ่งที่รัสเซียต้องการมากคือ ให้ยูเครนประกาศว่ามีนโยบายเป็นกลาง ซึ่งการทูตไม่ได้ผลจึงนำไปสู่การใช้กำลังแต่สุดท้ายต้องหาเวทีในการพูดคุยกันผ่าน “การสานเสวนาหาทางออก” เปิดพื้นที่การรับฟังไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกันจึงนำไปสู่สันติภาพ ซึ่งปัจจุบันผู้คนได้รับผลกระทบจำนวนมากนับว่ามีความสูญเสียเป็นอย่างยิ่ง เราจึงอยากเห็นการยุติของสงครามยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยสหประชาชาติควรมีบทบาทในการเจรจาหาทางออกอย่างสันติวิธี ผ่านการทูตเรียกร้องการหยุดยิงหยุดการใช้ความรุนแรง เพราะถ้ายังใช้ความรุนแรงบาดแผลจะทวีคูณไปสู่คนรุ่นต่อไป ซึ่งวัฒนธรรมของสองประเทศมีความเหมือนกันเป็นพี่น้องกันมายาวนาน ซึ่งลึกๆต้องการเจรจากันหรือไม่แต่การเจรจาต้องมีเงื่อนไข เพราะสงครามเกิดจากที่ใจจึงต้องทบทวนว่ามีความเสียหายแก่พลเมืองมากน้อยเพียงใด ความสูญเสียกิจกรรมต่างๆ แต่จะเจรจาเมื่อเผชิญกับสถานการณ์สุกงอม อย่ารอให้สุกงอมมากกว่านี้จงรีบเจรจาสื่อสารโดยใช้ศาสนาคริสต์เป็นฐานมีผู้นำศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทเพื่อส่งสัญญาณเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึง คำว่า “ความมั่นคงของคุณคือความไม่มั่นของฉัน”

อาจารย์พิเชษฐ์ คงศิลา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมงานตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวประเด็นสำคัญว่า เรากำลังคลี่คลายโควิดแต่เราเผชิญกับความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน โดยมี ๕ ประเด็น ประกอบด้วย ๑)ศักดิ์ศรีหรือท่าที มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ด้วยความเป็นมหาอำนาจเดิมรู้สึกว่าจะต้องมีศักดิ์ศรีจึงแสดงการใช้กำลังใจกับยูเครนจึงเป็นจุดฉนวน ๒)ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามเชื้อเชิญให้ไปเป็นสมาชิกเพื่อยั่วยุรัสเซีย ต้องเป็นข้ออ้างของรัสเซียในการใช้กำลัง เพราะมองข้ามความรู้สึกของคู่พิพาทกัน เพราะยูเครนเคยร่วมรบกันมาในช่วงสหภาพโซเวียต ๓)ขาดความปรองดองของยูเครน ซีกตะวันตกของยูเครนติดทางยุโรปเป็นศาสนาคริสต์ จึงมีการแย่งชิงอำนาจภายในยูเครนเอง ทำให้รัสเซียเข้ามามีบทบาทต่างๆในยูเครน ส่วนฝั่งตะวันออกติดรัสเซีย ๔)ความจริงใจการแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยยูเครนมองว่ารัสเซียไม่รักษาสัญญา ซึ่งยูเครนพยายามยอมมาตลอดซึ่งการเจรจาจึงขาดความจริงใจต่อกัน แม้แต่นาโตยังไม่รับให้เป็นสมาชิกนาโต โดยอเมริกาพยายามบอกว่าไม่ใช้กำลังเข้าไปช่วยยูเครน ถึงแม้จีนจะบอกว่าให้มีการเจรจากันแต่ทุกประเทศไม่เลือกข้างเพราะอาจจะนำไปสู่ผลกระทบ โดยการเจรจาที่ขาดความจริงใจจึงนำไปสู่ความล้มเหลว ๕)การทำสงครามนำไปสู่การชอบธรรม โดยใช้อำนาจในการแก้ปัญหาเหมือนในอดีตแต่โลกที่ออนไลน์จึงต่างจากอดีต ทำให้ยูเครนใช้สื่อให้คนทั่วโลกเห็นอกเห็นใจเพราะการสื่อสารโดยคนทั้งโลกสามารถรับทราบข้อมูลได้ ทำให้ยูเครนชนะใจคนทั้งโลกเพราะอิทธิพลของโลกออนไลน์ ทำให้คนเกิดความรู้สึกร่วมว่าไม่เห็นด้วยในการทำสงครามใช้ความรุนแรง ประเด็นที่สำคัญคือ ความถูกต้องกับความชอบธรรม บางอย่างถูกต้องแต่ไม่ชอบธรรม บางอย่างชอบธรรมแต่ไม่ถูกต้อง

พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. (หรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวประเด็นสำคัญว่า ผลกระทบขนาดแมวของรัสเซียยังต้องถูกยกเลิกในการประกวด รวมไปถึงทีมฟุตบอลไม่รอด ประชาชนไม่มีสันติสุขทำให้มองเห็นว่าสงครามมีผลกระทบอันเจ็บปวดของทุกฝ่าย ทำให้นาโตมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก จึงสะท้อนว่าสงครามนอกออกจากสงครามใน ซึ่งมองทางศาสนามองตรงกันว่า ไม่ฆ่าคนอื่น สงครามเป็นบาปอย่างแน่นอน ประเทศใดกำลังทำสงครามแสดงว่ากำลังทำบาปเพราะเป็นที่มาของการฆ่า มองว่าพระพุทธศาสนาคือศีลข้อที่ ๑ แท้จริงไม่มีสงครามไหนที่เป็นธรรมในทางพระพุทธศาสนา ทำไมสงครามจึงบาปเพราะมาจากความโกรธ ความเกลียดชังกัน เบียดเบียนกัน ฆ่าทำลายกัน นำไปสู่เป็นจุดเริ่มต้นของการจองเวรกัน คนรุ่นต่อไปลึกขึ้นมาจองเวรกัน ซึ่งยูเครนมีอารยธรรมที่มีความงดงาม

โดยย้ำว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะสงครามมันล่าสมัยแล้วซึ่งเราสู้กับโควิดมากพอแล้ว ยูเนสโกจึงพยายามกล่าวว่า สงครามเกิดจากใจมนุษย์ ปราการแห่งสันติภาพจะต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ ในทางพระพุทธศาสนาสงครามจึงเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งสงครามในพระไตรปิฎกได้สะท้อนว่า “ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์” ผู้นำรัสเซียก่อเวรอย่างแน่นอน ยูเครนเป็นทุกข์อย่างแน่นอน และประโยคที่สำคัญว่า “ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ” แต่การชนะที่สุดยอดคือการชนะใจตนเอง ชัยชนะที่สุดยอดคือชัยชนะสงครามในใจของตนเอง จึงมองทางออกของรัสเซียกับยูเคนในตอนนี้คือ กฎบัตรสหประชาชาติ ในหมวดที่ ๖ การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี มาตรา ๓๓-๓๘ ด้วยการหาความต้องการที่แท้ของรัสเซียและความต้องการของยูเครนในการหาทางออก จึงสามารถไกล่เกลี่ยเจรจาในเวทีขององค์การสหประชาชาติซึ่งจะเป็นความหวังของสังคมโลก

การป้องกันสงครามในทางพระพุทธศาสนาจะต้องใช้ปธาน ๔ ในทางพระพุทธศาสนา คือ ๑)ระดับป้องกันระวังไม่เกิดสงคราม ด้วยการมีสติหาทางในเจรจาไกล่เกลี่ย ๒)ระดับแก้ไข หยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรง ๓)ระดับเยียวยา สร้างสันติภาพผ่านการสานเสวนาหาช่องทางในการคุยกันสื่อสารกัน หาความต้องการที่แท้จริงของแต่ละประเทศ หาทางถอยให้รู้สึกไม่เสียหน้า ๔)ระดับรักษาสันติภาพ เมื่อคุยกันได้แล้วช่วยกันรักษาเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงอีกครั้ง ช่วยกันรักษายอมรับความผิดพลาดถอยไม่มองกันว่าเป็นอาชญกรสงคราม แต่สิ่งที่สะท้อนว่าการสร้างความมั่นคงของชาติไม่จำเป็นต้องให้เกิดความสูญเสียของประชาชน ผู้นำจะต้องไม่ให้คนสูญเสียแม้เพียงบุคคลเดียว ในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมสันติสนทนาร่วมเจริญสติพลังไปถึงผู้ใช้ความรุนแรงยุติการใช้ความรุนแรง แล้วพยายามหันหน้ามาคุยกันหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี

Leave a Reply