ปม!!..อันตราย

  เป็นประเด็นข้อถกเถียงและวิตกกังวลเล็ก ๆ สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองยะลา  กรณี โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดหรือธรณีสงฆ์ สรุปคดีนี้ มีผู้ได้ และ ผู้เสีย  ซึ่งจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างและบรรทัดฐานลามไปทั่วประเทศ  ในขณะที่เรื่องนี้มีวัดและชาวพุทธจำนวนมากเป็นห่วง และเท่าที่ฟังข่าวคดีนี้อาจมี “การอุทธรณ์” ยึดเยื้อต่อไป

    คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานีในขณะนั้นออกคำสั่งห้ามนักเรียน สวมใส่ผ้าคลุมผม (ฮิญาบ) ไปโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2561 ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2561 ผู้ปกครองประมาณ 50 คนได้รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจกับนางพารีด๊ะห์ อัลมุมีนี, นางกดาเรีย เหมมินทร์ และนายวันอิดริบ หะยีเต๊ะ ผู้ปกครองของนักเรียน ซึ่งถูกเชิญให้ไปที่โรงเรียนเพื่อรับทราบถึงระเบียบกฎข้อห้ามของโรงเรียนเนื่องจากลูกสาวผู้ปกครองทั้งสามได้สวมฮิญาบไปเรียนเรียนซึ่งโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่บนที่ “ธรณีสงฆ์ของวัดนพวงศาราม”

    จนมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน โดยทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนาได้ ต้องแต่งเครื่องแบบตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น อ้างว่าโรงเรียนตั้งมา 50 ปี ไม่เคยมีปัญหา และทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็ทราบกฎเหล็กข้อนี้ดีตั้งแต่ก่อนสอบเข้าเรียน จึงต้องยอมรับ ฟ้องร้องยึดเยื้อมา 4 ปีจนศาลปกครองพิพากษาให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบไปเรียนได้

  แน่นอน!! เรื่องนี้มีชาวพุทธจำนวนมากไม่พอใจ และมองว่าเมื่อเข้าไปในที่ธรณีสงฆ์ต้องเคารพสถานที่ ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน หากอ้างแต่ระเบียบปฎิบัติทางศาสนาตนเองยังเดียว ทำนองเข้าบ้านท่าน มาอยู่บ้านเขา ก็ต้อง “เคารพเจ้าของบ้าน”

ในขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมคนหนึ่งก็สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่า “ถ้าไม่เรียกร้องแบบนี้แล้ว เราจะให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาของมุสลิม มันทำให้เด็กหายไปจากความเป็นเพื่อน กับคนต่างศาสนา ซึ่งมันเป็นอันตรายในการใช้ชีวิตของเด็ก”

ในหลักทฤษฎีของความขัดแย้ง “ความขัดแย้งทางค่านิยม”  ความเชื่อทางศาสนาแบบนี้ “อันตราย” เพราะอาจนำไปสู่  “ความรุนแรง” ได้  หากไม่ “เปิดเวที” พูดคุย ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซี่งกรณีโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้อาจ “ต้องผ่านคนกลาง” คอยไกล่เกลี่ยสร้างสร้างความเข้าใจ “มิให้บานปลาย” หรือขยายไปสู่วัดหรือชุมชนอื่น ๆ

เพราะหากยึดหลักกฎหมาย ตัดสินของศาลแบบนี้ มันมี “ผู้ได้ -ผู้เสีย”  พอใจและไม่พอใจ และคำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้อาจมีคนบางกลุ่ม บางคณะ อ้างเป็นกรณีศึกษาหรือบรรทัดฐาน เรียกร้องและ “ลามไปสู่โรงเรียนวัด” ที่คนมุสลิมอาศัยเรียนทั่วประเทศ  ซึ่งจะก่อให้เกิด “แรงต้าน” ภายในชุมชนและชาวพุทธส่วนหนึ่งที่แม้จะเคารพคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่ในใจ “ร้อนรุ่ม”

เรื่องนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักจุฬาราชมนตรี อย่า “ชะล่าใจ”

เรื่องเล็กอาจบานปลาย..นำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงระหว่างศาสนิกได้..??

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

Leave a Reply