ปลัด มท.ร่วมงานรัฐพิธี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก ครบ 418 ปี

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลครบรอบ 418 ปี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน 2566 และพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสังเวยเทพารักษ์ประจำเมืองพิษณุโลก เนื่องในการจัดงานรัฐพิธี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก ประจำปี 2566

วันนี้ 25 เม.ย. 66 เวลา 09.09 น. ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลครบรอบ 418 ปี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน 2566 และพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสังเวยเทพารักษ์ประจำเมืองพิษณุโลก เนื่องในการจัดงานรัฐพิธี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก ประจำปี 2566 โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก ด้วยความจงรักภักดี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วนำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทอดผ้าไตรบังสุกุล กรวดน้ำรับพร แล้วจุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวย โหรพราหมณ์อ่านคำบวงสรวง เสร็จแล้ว โปรยข้าวตอกดอกไม้ เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งการจัดพิธีฯ ในครั้งนี้ เป็นการอัญเชิญเทวรูปเทพารักษ์เมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานเพื่อให้ประชาชนสักการะครั้งแรก ในรอบ 58 ปี ภายหลังจากได้อัญเชิญจากพระราชวังจันทน์ไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก และบริเวณวิหารด้านทิศเหนือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช

อนึ่ง เมื่อเวลา 08.39 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในรัฐพิธี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายมาลัยข้อพระกร และถวายบังคมตามแบบโบราณราชประเพณี พร้อมกล่าวถวายราชสดุดี และร่วมร้องเพลงมาร์ชนเรศวรมหาราช กับผู้ร่วมพิธี

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตริย์ มีพระสุพรรณกัลยาเป็นพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทรงพระราชสมภพเมื่อปีพุทธศักราช 2098 ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างล้ำเลิศ ประเสริฐทั้งพระอัจฉริยภาพ และเชี่ยวชาญในการรบ ทรงตรากตรำพระวรกายในการทำศึกสงครามตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์โดยมิได้ว่างเว้นนับแต่พระชนมายุ 16 พรรษา เป็นต้นมา

“ในปีพุทธศักราช 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง กรุงศรีอยุธยาจึงขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี ถือได้ว่าเป็นการประกาศอิสรภาพของคนไทย หลังจากนั้นก็ได้กรีฑาทัพเข้าสู่ชานเมืองหงสาวดีและรวบรวมคนไทยกลับมาได้ อีกทั้งยังสามารถใช้พระแสงปืนยาวยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพของพม่าที่ติดตามมาซึ่งนั่งอยู่บนคอช้างจนเสียชีวิต ทำให้ทัพพม่าถอยกลับไป และพระแสงปืนที่ทรงใช้ในวันนั้น ได้ปรากฏนามว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” ซึ่งถือเป็นอาวุธที่จัดอยู่ในพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์สืบมาจนบัดนี้ และในปีเดียวกันยังทรงได้รับชัยชนะในการทำสงครามกับพระยาพะสิมที่เมืองกาญจนบุรี” ผวจ.พิษณุโลก กล่าว

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมาในปีพุทธศักราช 2129 พระเจ้านันทบุเรง ยกทัพใหญ่มาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้วิจารณญาณอันล้ำเลิศ วางแผนป้องกันเมือง โดยการจัดกองโจรออกไปตีปล้นข้าศึก พม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยา นานถึงห้าเดือน แต่ไม่สามารถเข้าตีได้ จึงล่าถอยทัพกลับไป แต่กระนั้น กรุงศรีอยุธยาก็ว่างศึกได้เพียงสามปีจนล่วงถึงปีพุทธศักราช 2133 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ พระเจ้านันทบุเรง ได้ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถเข้าตีได้ จึงล่าถอยทัพกลับไป และในปีพุทธศักราช 2135 พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชานำกองทัพสองแสนสี่หมื่นคนมาตีกรุงศรีอยุธยา หมายจะชนะศึกในครั้งนี้ให้ได้ แต่เมื่อวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนได้รับชัยชนะทำให้กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ทำให้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ แผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และหลังจากเสร็จศึกสงครามยุทธหัตถี ได้ทรงปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด และทวาย และในปีพุทธศักราช 2142 ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองหงสาวดี ได้เมืองเมาะลำเลิง แล้วทรงยกทัพไปถึงเมืองหงสาวดีและเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา จนถึงในปีพุทธศักราช 2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปยังเมืองห้างหลวง เหนือเมืองเชียงใหม่ และประชวรหนัก กระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่25 เมษายน พุทธศักราช 2148 รวมพระชนมายุ 50 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 15 ปี

“แม้พระองค์จะได้เสด็จสวรรคต ล่วงมานานกว่า 418 ปีแล้วก็ตาม แต่พสกนิกรชาวไทยทั้งมวลต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านที่ทรงพระปรีชาสามารถกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ต่อสู้ขับไล่อริราชศัตรูของชาติมาตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อสร้างความเป็นเอกราชให้กับชาติไทย เป็นมหาวีรกรรมที่เลื่องลือปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ตราบจนทุกวันนี้ และขอน้อมถวายราชสดุดีแด่พระองค์ท่าน ด้วยความสำนึกในพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ ตลอดสิ้นกาลนานเทอญ” ผวจ.พิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply