ปลัดมหาดไทยเยี่ยมกลุ่มหัตถกรรม“ผ้าด้นมืออู่ทอง” ต่อยอดโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ หวังปั้น “แบรนด์อู่ทอง” สร้างรายได้สู่ชุมชนแบบยั่งยืน

วันที่ 12 มิ.ย. 66 เวลา 09.00 น. ที่บ้านดอนยายเหม หมู่ที่ 3 ต.กระจัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผู้เข้าอบรมพัฒนาองค์ความรู้รูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และร่วมปลูก “ต้นมะเกลือ” ต้นไม้ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายโกวิทย์ อุบลรัตน์ นายอำเภออู่ทอง นายอร่าม มากระจัน นายกเทศมนตรีตำบลกระจัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไทย ผู้เข้ารับการอบรม และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยได้รับเกียรติจาก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทยและนักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ดร.ณัฐวรรธน์ วิวัฒน์กิจภูวดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายช่องทางการตลาด ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผศ.รวิเทพ มุสิกะปาน อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ร่วมเป็นวิทยากร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวบ้านดอนยายเหมผู้มี Passion ความมุ่งมั่นตั้งใจในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยหัตถศิลป์หัตถกรรมจากสองมือของพวกเราทุกคน ที่ตั้งอกตั้งใจมาเข้ารับการอบรมเพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งโครงการดังกล่าวมีที่มาจากพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรที่กว้างยาวไกลของพระองค์ที่ทรงเห็นจุดอ่อนหรือกับดักของผ้าไทยที่เราได้รับตกทอดจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาหลายสิบปีหรือร้อยปี และเมื่อเวลาผ่านไป ผ้าไทยไม่เป็นที่นิยมในการสวมใส่ของคนรุ่นใหม่  เพราะผ้าไทยมักจะมีสีและลวดลายที่ซ้ำเดิม ซึ่งแม้ว่าจะสวยงามแค่ไหนคนที่มีแล้วก็จะไม่ซื้อเพิ่ม พระองค์จึงพระราชทานแนวทางการพัฒนาด้านแฟชั่นดีไซน์ผ้าไทยเข้ากับหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของคนรุ่นใหม่และคนทุกช่วงวัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ด้วยการปรับย่อขนาด ลดความเข้มของสี สลับลวดลาย สลับสีสัน และเพิ่มความแปลกใหม่ ทำให้เป็นผ้าที่มีสีสันสวยงาม มีหลากหลายโทนมากยิ่งขึ้น ยังผลทำให้ผ้าไทยได้ฟื้นคืนชีวิตและเป็นผลิตภัณฑ์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ของประชาชน

“นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานในการแบ่งเบาราชพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ดูแลสารทุกข์สุขดิบของพี่น้องประชาชนคนไทย เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมผ้าไทยของคนไทยและส่งเสริมผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย ด้วยการทำให้เกิดรายได้ที่จะต่อชีวิต ต่อลมหายใจของพี่น้องประชาชน นำมาสู่ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยทรงยุยงส่งเสริมให้พวกเราซึ่งเป็นผู้ประกอบการ เป็นช่างทอผ้า ได้ออกแบบคิดค้นผ้าไทยลายใหม่ ๆ พร้อมทั้งพระราชทานผ้าลายพระราชทาน เช่น ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และลายดอกรักราชกัญญา เป็นต้น เพื่อเสริมเติมเต็มผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิม กระทั่งปัจจุบันผ้าไทยเป็นที่นิยมชมชอบของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังทรงเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืนของผ้าไทย โดยพระราชทานหลักการ Sustainable Fashion ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ คือ การเชิญชวนให้คนในพื้นที่มาปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกไม้ที่สามารถนำมาย้อมผ้าสีธรรมชาติได้ กลางน้ำ คือ การออกแบบลวดลายใหม่ และปลายน้ำ คือ การคิดและให้ความสำคัญในการออกแบบตัดเย็บและการจำหน่าย สร้างอัตลักษณ์เรื่องราว (Story telling) และมีบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่โดนใจ การทำการตลาดทั้งออนไซต์และออนไลน์ และที่สำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความยั่งยืน คือ การผลิตวัตถุดิบด้วยตนเอง หรือการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบระหว่างภาคภายในประเทศ ไม่ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเป็นการยืนยันให้เห็นถึงความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยควบคู่กับการมีเครื่องนุ่งห่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดสภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับ SDGs ที่องค์การสหประชาชาติและคนทั้งโลกกำลังร่วมกันให้ความสำคัญ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

 

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า “ผ้าด้นมือ” เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรม (Handmade) ที่สำคัญของประเทศไทย ที่จะขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของไทย นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนของคนจังหวัดสุพรรณบุรีและประเทศไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องจับมือรวมกลุ่มกันเพื่อทำให้ “แบรนด์อู่ทอง” เป็นแบรนด์ที่เข้มแข็ง ด้วยการสามัคคีเป็นเหมือนแขนงไม้ไผ่หลาย ๆ แขนงมารวมกันต่อสู้กับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ ที่ต้องมี “ใจ” คือ ภาคภูมิใจในภูมิปัญญาผ้าไทยท้องถิ่นร่วมกัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความรู้ความสามารถพร้อมทั้งถ่ายทอดไปสู่สมาชิกในกลุ่ม ในชุมชน รวมถึงลูกหลานเยาวชนคนรุ่นต่อไป เพราะเมื่อเขาเห็นว่าการทำผ้าด้นมือสามารถสร้างรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เขาก็จะสืบสาน และต่อยอดจนเกิดความยั่งยืน

“ผ้าไทยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความยั่งยืน โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งเป็นพืชผัก Organic ที่ปลอดสารเคมีทำให้ปลอดภัย รวมถึงการเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาเป็นอาหารให้กับคนในครอบครัวและชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสามารถแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพิ่มพูนความรักความสามัคคีของคนในชุมชน รวมไปถึงการคัดแยกขยะครัวเรือน และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อให้ชุมชนมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นสารบำรุงดินตามแนวคิดวันดินโลก ประจำปี 2566 “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” และประการสำคัญ คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ในเรื่องการทำอาหาร การทำความสะอาดบ้าน การเข้าวัดทำบุญ การแสดงความกตัญญูกตเวที และการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ด้วยการทำให้เห็น ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำให้เขาได้ซึมซับสิ่งที่ดีและนำไปปฏิบัติถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า การขับเคลื่อนสิ่งที่ดีเหล่านี้ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนผลักดันจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ” ซึ่งเป็นผู้นำการบูรณาการ “ทีม” ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และทีมจิตอาสาจากทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนตามรอยพระบาทหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ ผ่านกระบวนการสำคัญ 4 ประการ คือ การพบปะพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งหากทุกคนช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในทุกชุมชน ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”

ด้านนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรีมุ่งมั่นในการน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผู้ประกอบการผ้าไทยในพื้นที่ พร้อมทั้งกำชับเน้นย้ำให้หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และข้าราชการทุกคน ได้เป็นผู้นำการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย Change for Good ขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำให้ทุกพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรีเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” อันเป็นหมู่บ้านแห่งความสุข หมู่บ้านแห่งความมั่นคง หมู่บ้านแห่งความรู้รักสามัคคี ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกตัญญูกตเวที และความรักที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน

Leave a Reply