“1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน”  เฉลิมพระเกียรติฯ ปลัดมหาดไทย พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่เมืองเลย  เน้นย้ำ “สามัคคีคือพลัง” และ “ทำทันที” ด้วยหัวใจของทุกคน

วันที่  23 มิ.ย. 66  เวลา 13.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดเลย ตรวจเยี่ยม “โครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ณ ศาลาอเนกประสงค์ บ้านกกดู่ หมู่ที่ 8 ตำบลกกดู่ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย พร้อมมอบนโยบายให้แก่ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สิบเอกกิตติคุณ บุตรคุณ ปลัดจังหวัดเลย นายณฐพงษ์ วงศ์สง่า หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเลย นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย  นายภูวดล อัศวรัตนกุล นายก อบต.กกดู่ หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านตำบลกกดู่ (ชรบ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องชาวเมืองเลยทุกท่านที่ได้ให้เกียรติต้อนรับอย่างอบอุ่นในวันนี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดเลยกำลังเข้าสู่เทศกาลผีตาโขน ซึ่งตนได้รับเชิญจากผู้ว่าราชการจังหวัดเลยให้มาเป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาลผีตาโขนของจังหวัดเลยในปีนี้ จึงถือโอกาสนี้มาพบปะพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคน และตรวจเยี่ยมการทำงานของภาคีเครือข่ายในการดำเนิน “โครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด กระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า “โครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทย ให้ทุกจังหวัด อำเภอ และส่วนราชการที่รับผิดชอบประจำตำบล ดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านในชุมชนที่ต้องได้รับการพัฒนาและแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากการสำรวจข้อมูล จปฐ. และ กชช. 2ค. มาคัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาช่วยกันในการพัฒนาชุมชน ให้เป็นหมู่บ้านที่พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความมั่นคงทางอาหาร มีความรักความสามัคคีในประเพณีวัฒนธรรมอันดี ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยผู้นำ คือ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ที่เป็นผู้นำของชุมชน ในการบูรณาการทำงาน นำทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่าย มาร่วมกันทำสิ่งที่ดี Change for Good ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชน เริ่มตั้งแต่การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ตกเกณฑ์ตามระบบ ThaiQM หรือ TPMap ของส่วนราชการ ซึ่งต้องใช้ความเพียรพยายาม ความอดทน และจิตใจที่เข้มแข็งของผู้นำและพี่น้องประชาชนทุกคนในชุมชน

.”นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานพระราชดำริ หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ให้กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพระองค์ท่านทรงอยากเห็นคนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้เป็นที่รักและเคารพบูชาของคนไทย มาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย การมีความรู้คู่คุณธรรม กล่าวคือ เป็นหลักการพึ่งพาและช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ที่พร้อมด้วยการมีคุณธรรมที่ดี และการทำตามภูมิสังคม คือเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ และเหมาะสมกับความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในสังคม” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด กระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะสอดคล้องกับหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) มีตัวชี้วัดประกอบไปด้วย การมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ถูกสุขลักษณะ บ้านเรือนมีความสะอาดเรียบร้อย การมีความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้พื้นที่ว่างบริเวณบ้านหรือพื้นที่สาธารณะในการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ทำให้มีอาหารเพียงพอและสามารถแบ่งปันในชุมชน ซึ่งการแบ่งปันแบบยั่งยืน คือ การแบ่งพันธุ์ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ ขยายผล “ธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน” ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ต่อมาคือ การมีความรักความสามัคคีของคนในครัวเรือนและกลุ่มบ้าน ด้วยการรวมตัวกันเป็นคุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน รื้อฟื้นรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนคนไทยกลับคืนมาช่วยกันดูแลความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย ความสะอาดเรียบร้อย ทำให้ชุมชนปลอดยาเสพติด ปราศจากอาชญากรรม ด้วยจิตอาสา เพราะว่า “สามัคคีคือพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย” การรวมตัวกันเปรียบเสมือนไม้ไผ่หลายแขนงที่แข็งแรงกว่าไม้ไผ่แขนงเดียว และการรวมตัวต้องนำไปสู่การรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย เพื่อถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานและเยาวชน ให้เกิดการมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคี และเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ทำให้ลูกหลานและเยาวชนของพวกเรา สามารถพึ่งพาตนเองได้ และต่อมาคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการคัดแยกขยะครัวเรือน หรือการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ที่นอกจากจะช่วยลดขยะครัวเรือนแล้ว เมื่อขยะย่อยสลายแล้วยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เป็นธาตุอาหารให้กับพืช นอกจากนี้การคัดแยกขยะพลาสติกนั้น ยังสามารถนำไปขาย จัดเป็นธนาคารขยะทองคำ ที่เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า สามารถเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน ช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน หรือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสีย แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการสร้างอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ที่เต็มไปด้วยจิตอาสา มาช่วยกันทำให้โลกอยู่กับลูกหลานต่อไป

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติและดำรงตำแหน่งพระประมุขไทย ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงมีพระราชดำริแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยตลอดพระชนม์ชีพ เป็นที่มาของโครงการในพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ ซึ่งเมื่อถอดบทเรียนในการทำงานให้สำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ต้องประกอบด้วย การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มได้มีการพบปะพูดคุยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง การร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และท้ายที่สุดคือการร่วมรับประโยชน์

“ขอให้พวกเราทุกคนร่วมกัน สร้างชุมชน ตำบล หมู่บ้านของเรา ให้เข้มแข็ง ซึ่งหัวใจสำคัญของความเข้มแข็ง เริ่มจากที่ผู้นำที่เข้มแข็ง คือ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้รับผิดชอบประจำตำบล นายก อบต. หัวหน้าคุ้ม และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ซึ่งถ้าหากพวกเรารวมพลังด้วยความรักความสามัคคี ความสุขอย่างยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นกับทุกครัวเรือนในชุมชน และทุกสิ่งจะทุกอย่างจะสำเร็จได้อยู่ที่ทุกท่านต้องช่วยกัน “Action now” ทำทันที !” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้าย

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะร่วมเดินเยี่ยมชมนิทรรศการของพี่น้องประชาชนจังหวัดเลยในพื้นที่ ซึ่งได้นำผลิตผลจากการปลูกผลไม้และพืชผักสวนครัวในครัวเรือนมาวางจำหน่าย อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผ้าไทเลย น้ำผึ้งแท้ มะขามแปรรูป กระเป๋าจักสาน กระติบสาน ที่ชาวบ้านนำมาทำเป็นหัวของผีตาโขนที่เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดเลย และจากนั้น ได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านกกดู่ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา โรงเรียนบ้านกกดู่ สพป.เลย พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นมะม่วงมหาชนก และร่วมสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษซากอินทรีย์ที่สามารถนำมารดน้ำในแปลงผัก เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ทำให้พืชผักสวยงามมีรากแข็งแรง อีกทั้งได้รับชมนิทรรศการบริษัทสร้างการดี และโครงงานคุณธรรม “ดอกไม้จากลูกหลาน สืบสานปณิธานพ่อหลวง” และการแสดงการขับร้องเพลงคุณธรรม จากนักเรียนโรงเรียนบ้านกกดู่ ก่อนเดินทางกลับ

Leave a Reply